ไลฟ์สไตล์

เขี้ยวเสือปลัดขิกเบี้ยแก้เครื่องรางฮิตคนไทย

เขี้ยวเสือปลัดขิกเบี้ยแก้เครื่องรางฮิตคนไทย

19 ส.ค. 2553

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(มิวเซียม สยาม) มีการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “เครื่องรางของขลัง วัฒนธรรมชาวพุทธในสุวรรณภูมิ”

จัดโดยศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายภุชงค์ จันทวิช รองประธานพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า เครื่องรางของขลังยังคงได้รับความนิยมนำมาบูชาจากประชาชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

  โดยเครื่องรางที่ยังคงได้รับความนิยมในอันดับต้นๆอยู่ในขณะนี้เช่น เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส หรือวัดคลองด่านหรีอที่ชาวบ้านรู้จักกันว่า วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีการเช่าบูชากันถึงหลักล้านบาท เชื่อกันว่าจะช่วยในเรื่องมหาอำนาจ คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ค้าขายได้ผล เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง เบี้ยแก้ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้าจ.ฉะเชิงเทรา ปลัดขิก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ชลบุรี เป็นต้น ขณะเดียวกันการสร้างเครื่องรางของขลังในปัจจุบันยังมีการพยายามนำการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่เห็นได้ชัดก็คือการสร้าง ขุนแผนโคโยตี้ ซึ่งถือว่าเป็นวิวัฒนาการในการสร้างเครื่องรางของขลังในสังคมไทย

 นายจุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ราชบัณฑิต กล่าวว่า สาเหตุที่คนไทยต้องการเครื่องรางของขลังตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มีเหตุผลหลักคือ 1. เพื่อลาภ 2.เพื่อความเมตตา ความรักใคร่ ความต้องการเป็นที่ยอมรับ 3.เพื่อความสำเร็จ ความก้าวหน้า 4.เพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน และ5.เพื่อให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งหลาย

 ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) หรือสพร. กล่าวว่า เครื่องรางของขลัง เป็นความเชื่อที่เกี่ยวพันกับศาสนา แต่ในยุคปัจจุบันสังคมไทยกลับมองเรื่องเครื่องรางของขลังเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ เพราะมีการนำไปเกี่ยวกับไสยศาสตร์มากกว่าความเชื่อดั้งเดิมที่มีการฝึกจิตตามแนวทางของพระพุทธศาสนา ดังนั้น สพร. จึงต้องมีการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่มุมทางวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น