ไลฟ์สไตล์

ที่มา"แก้วมังกร"ในไทย

ที่มา"แก้วมังกร"ในไทย

16 ส.ค. 2553

เคยสังเกตไหมว่า เรื่องการเกษตรนั้น คนไทยเก่งไม่เป็นรองใครทั้งสิ้น สามารถใช้ความรู้บวกกับภูมิปัญญาทำให้สามารถพัฒนาอะไรต่างๆ ได้หลายอย่างจนกระทั่งหลายครั้งทำได้ดีกว่าเจ้าของเดิมเสียอีก

ยกตัวอย่าง เช่น ฝรั่งเวียดนามที่คนไทยนำเมล็ดเข้ามาจากเวียดนามในสมัยสงครามเวียดนาม จนกระทั่งทุกวันนี้เมืองไทยมีฝรั่งเวียดนามที่พัฒนาดีกว่าของเดิมหลายเท่าตัว กลายเป็นพันธุ์ใหม่ๆ ออกมามากมาย และสามารถปลูกเป็นการค้าจนกระทั่งแพร่หลายเป็นที่รู้จักของคนอื่นในเอเชีย ถึงขนาดที่ว่าฝรั่งเวียดนามเป็นที่รู้จักกันในนามของแบงค็อกกัวว่า หรือฝรั่งของไทยไปแล้ว

เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีผลไม้ชนิดหนึ่งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีการปลูกในเมืองไทยมาก่อน แต่ว่าวันนี้เรามีผลไม้ดังกล่าววางขายกันทั่วไปในตลาดสด เพราะว่ามีการปลูกอย่างแพร่หลาย และมีพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาเพิ่มมากขึ้นพร้อมทั้งคุณภาพที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งเรียกได้ว่าดีกว่าต้นตำรับเดิมคือประเทศเวียดนามเป็นอย่างมาก แต่ว่าเรื่องราวความเป็นมาของผลไม้ดังกล่าวนี้ ไม่ค่อยมีใครได้รับทราบ ดังนั้นในวันนี้ผมจึงขอนำเรื่องของ "แก้วมังกร" ซึ่งเป็นผลไม้ที่ผมกล่าวถึง มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้เห็นความสามารถของคนไทยในการพัฒนาจนกระทั่งแก้วมังกรกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทยไปแล้วในวันนี้

คนที่นำแก้วมังกรเข้ามาในเมืองไทยเป็นคนแรกนั้น ไม่มีใครทราบ เพราะว่าเดิมนำเข้ามาในฐานะของไม้ประดับที่ให้ดอกและผลสวยงาม แต่ว่าคนที่นำเข้ามาและผลักดันอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสามารถปลูกเป็นการค้า รวมทั้งเป็นคนที่ตั้งชื่อผลไม้ชนิดนี้ว่า แก้วมังกร คือ ดร.สุรพงษ์ โกสิยะจินดา อดีตหัวหน้าภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสเดินทางไปในหลายประเทศ และได้ไปพบเห็นผลไม้ชนิดนี้ในตลาด จึงลองซื้อมาชิมดู และเห็นศักยภาพ จึงได้นำมาขยายพันธุ์และทดลองปลูกดู ปรากฏว่าแก้วมังกรสามารถออกดอกและให้ผลได้ในเมืองไทยเช่นเดียวกัน

ในช่วงแรกนั้น ดร.สุรพงษ์ ก็เล่าว่า ยังไม่ทราบว่าเป็นผลไม้อะไร เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน จนกระทั่งในที่สุดด้วยความช่างสังเกต จึงจับได้ว่าเป็นพืชในตระกูลกระบองเพชร จึงสืบเสาะหาแหล่งพันธุ์และชื่อของผลไม้ชนิดนี้ได้ในที่สุด รวมทั้งได้ตั้งชื่อผลไม้ชนิดนี้เป็นภาษาไทยว่า แก้วมังกร ตรงตามความหมายของภาษาจีนและรูปลักษณ์ของผล จนกลายเป็นไม้มงคลไปโดยปริยาย ทั้งที่ในช่วงแรกไม่มีใครเชื่อว่าผลไม้ชนิดนี้จะสามารถนำมาพัฒนาเป็นไม้ผลเศรษฐกิจได้ เพราะว่ารสชาติไม่น่าประทับใจเท่าใด และอีกประการหนึ่งคือเมืองไทยมีผลไม้หลากหลายให้เลือกได้ทั้งปี การนำผลไม้ใหม่เข้ามา หากไม่แน่จริงก็คงไม่สามารถอยู่รอดในตลาดได้

ผมเคยลองชิมแก้วมังกรในยุคแรกๆ ที่เข้ามาปลูก เป็นแก้วมังกรเนื้อสีขาวมีเมล็ดแทรกกระจายทั่วไป ปรากฏว่าไม่ประทับใจเลย เนื่องจากเหม็นเขียว และรสชาติจืดชืดอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผมก็คิดเหมือนคนทั่วไปว่าผลไม้ไทยอร่อยกว่านี้มีอีกมาก ดังนั้นแก้วมังกรคงไปไม่รอด แต่ว่าเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้เปลี่ยนความคิด เพราะว่าได้มีโอกาสชิมแก้วมังกรเนื้อสีแดง และแก้วมังกรพันธุ์ใหม่ซึ่งมีเนื้อสีชมพู ปรากฏว่ารสชาติคนละเรื่องกับที่เคยชิมมา เพราะทั้งหวานและไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวแม้แต่น้อย จึงเริ่มเข้าใจว่าแก้วมังกรที่อร่อยนั้น มีรสชาติอย่างไร และความที่มีสีแดงอย่างนั้น ก็อุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างมากเช่นกัน

 ส่วนที่ว่าใครเป็นคนพัฒนาพันธุ์เหล่านี้ขึ้นมา ไว้จะมาเล่าให้ฟังต่อในคราวหน้าครับ

รศ.ดร.พีรเดช  ทองอำไพ