
มนต์ตราภูมิไทยในชีวาปุรี บีช รีสอร์ท(3)
สวัสดีก่อนอื่นต้องขอขอบคุณแฟนๆ ทั่วประเทศที่ให้ความสนใจกับแนวคิดในการออกแบบและตกแต่งแบบไทย ที่ผมเรียกแนวคิดลักษณะนี้ว่า มนต์ตรา "ภูมิไทย" อันเป็นเสน่ห์ที่ยากจะต้านทานของความงามในรูปแบบ เรือนไทยร่วมสมัย" ในสัปดาห์นี้มาว่ากันต่อในประเด็นที่เกี่ยวกับการออกแ
ณ เกาะช้าง ย่านอ่าวบางเบ้า บริเวณหาดคลองกลอย เป็นการประกาศศักดิ์ศรี มนต์ตรา "ภูมิไทย" สะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในความเป็น “เรือนไทยร่วมสมัย" ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติหากมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนก็ต่างพากันติดอกติดใจ ปรากฏว่ามีหลายท่านพอพักเสร็จก็ไม่อยากกลับ ขอขยายเวลาอยู่ต่อ เพราะหลงเสน่ห์ของ “ภูมิบ้าน ภูมิเมือง ภูมิสังคม” ของ “ภูมิไทย" กันครับ
ผมมักจะสอนนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก ว่า วัฒนธรรมการดำรงชีวิตของคนไทยนั้น ถูกครอบโดย 2 วัฒนธรรมหลักที่สำคัญยิ่ง คือ “วัฒนธรรมข้าว” กับ “วัฒนธรรมน้ำ” ถ้าผิดแผกไปจากนี้ก็ไม่ใช่ “ภูมิไทย” ดังนั้น ถ้าเราสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของทั้ง วัฒนธรรม "ข้าว” และ “น้ำ" ได้ ก็จะเป็นการออกแบบที่ยั่งยืนแบบ “อกาลิโก" ที่ไม่มีกาลเวลา ไม่มีวันล้าสมัย อีกทั้งยังเป็นการออกแบบที่สอดคล้องกับ “วัฒนธรรมการกิน-อยู่แบบไทย” ซึ่งแนวคิดที่ผมเรียกว่า “ภูมิไทย” ถ้าแปลกันอย่างตรงตัวแบบชาวบ้านคือ “ความภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนไทย" หากนักออกแบบชาวบางกอกคิดจะแข่งขันต่อกรกับชาวลอนดอน สู้กับชาวมิลานหรือ ชาวนิวยอร์ก ได้ต้องใช้มรดกทาง “ภูมิปัญญาไทย” แบบ “ภูมิไทย" นี้อย่างเดียวเท่านั้นครับ
แต่ว่าที่ท่านเห็นการออกแบบทั้งภายนอกและภายในที่งดงามนี้ มีทั้งเบื้องหลังและเบื้องลึกที่น่าสนใจครับ ซึ่งผมได้เดินทางไปถึงเชียงใหม่ (ดินแดนแห่งอารยธรรมโบราณ 700-800 ปี) ผมไปเสาะหาถึงถิ่นเพื่อไปดูเฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองแบบลอยตัว (ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์แบบบิวท์อิน) ที่สามารถยกเคลื่อนย้ายได้ จึงจำเป็นต้องเดินทางไปเสาะแสวงหาเข้าไปให้ถึงแหล่งถึงจะได้เฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นไม้ที่ทั่วโลกยอมรับว่า เป็น King of Wood ที่มีคุณสมบัติพิเศษมากครับ เพราะนอกจากมีลายไม้ที่สวยงามแล้ว ยังทนแดดทนฝนและทนมอด แมลง ปลวกครับ
จากการที่ผมเดินทางขึ้นเหนือ ผมได้ไปเจอเรือนไม้สักทองเก่าหลายหลัง ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมกำลังจะถูกรื้อทิ้ง แต่แท้จริงแล้วสามารถนำไม้บางส่วนที่ยังอยู่ในสภาพดีกลับมารีไซเคิล มาประกอบขึ้นใหม่เป็นเฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือนใหม่ในแบบ “ภูมิไทย” ซึ่งอายุการใช้งานของไม้สักทองเหล่านี้ หากดูแลรักษากันให้ดีก็จะสามารถอยู่ได้อีกนับ 100 ปีครับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การที่เราจะเข้าไปถึงจิตวิญญาณที่แท้จริงของ “ภูมิไทย" ได้ จำเป็นที่จะต้องเจาะไปถึงแหล่ง เข้าไปเรียนรู้สกุลของช่าง แต่ที่น่าเสียดายคือ เรามีไม้สักทองที่ดีที่สุดแล้ว เรามีช่างฝีมือดีที่สุดแล้ว แต่ขาดการออกแบบร่วมสมัยที่ดี ในบางครั้งทำให้ผลงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั่วไปที่มีในท้องตลาดทำอย่างหยาบๆ ลวกๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้รู้สึกเสียดายไม้เป็นอย่างยิ่งครับ
ผมจึงแนะนำคนที่สนใจเฟอร์นิเจอร์ไม้สักทอง จะต้องเข้าไปถึงแหล่งให้ได้ บางทีไปที่ตลาดจตุจักรก็ยังไม่พอจะต้องไปถึงถิ่นอันเป็นต้นกำเนิดเลย ผมจึงเดินทางไปดูที่ร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองที่เชียงใหม่ แล้วถึงตามไปดูที่โรงผลิตอยู่ที่ลำพูน ทำให้เข้าใจถึงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ฝีมือชั้นครู (ซึ่งงานครูเหล่านี้มีอายุ 70-80 ปี) ผมจึงมักเรียกงานเฟอร์นิเจอร์ไม้เหล่านี้ว่า “ครูใหญ่” คือ นายช่างใหญ่ที่สอนเราเรื่องการเข้าไม้ สอนเรื่องสกุลช่างไม้ เป็น “ครูใหญ่” ที่พูดไม่ได้ แต่ว่าเราต้องไปหาท่าน ไปให้เกียรติท่าน อ่อนน้อมถ่อมตนให้แก่ท่าน เพราะเรากำลังไปขอความรู้จากท่าน
ดังนั้น แนวคิด “ภูมิไทย" นี้ สมควรอย่างยิ่งที่จะถูกนำมาเผยแพร่ออกไป สิ่งเหล่านี้แหละครับ ที่จะผลักดันให้สังคมไทยเกิด “วิสัยทัศน์” และ “กระบวนทัศน์” ในการอนุรักษ์ สืบสาน รวมไปถึงพัฒนา “ของดี มีอยู่” เป็นการสร้างเสริมฟื้นฟูสกุลช่าง เช่น ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ ช่างแกะสลัก ช่างทอผ้า ช่างทำหมอนอิง ช่างทำผ้าม่าน ช่างทำโคมไฟ ฯลฯ แต่ถ้าบรรดานักออกแบบไทยเอาแต่อิมปอร์ตนำเข้าจากนอกหรือไปเรียนลัดแบบ “แดกด่วน" ลอกต่างชาติมา สุดท้ายแล้วสกุลช่างไทยในศิลปกรรมพื้นถิ่นในสาขาต่างๆ ก็จะหมดไป ซึ่งทุกวันนี้เรากำลังทำลายช่างเหล่านี้ไปหมด ด้วยความหลงผิดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เป็นเรื่องที่น่าเศร้านะครับ ที่ ทุกวันนี้สถาปนิกไทย ดีไซเนอร์ไทย ต่างพากันแข่งขันกันทำของแปลก เพราะหลงไปว่า ใครแปลกมากกว่าชนะ (ซึ่งโดยสัจจะแห่งธรรมแล้ว ถ้าแปลกมากเท่าไรก็มาเร็วไปเร็วรวมทั้งล้าสมัยเร็วมากขึ้นเท่านั้นครับ) สาเหตุที่สำคัญก็เป็นเพราะไม่ได้เติบโตขึ้นมาจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทย จะเห็นได้ว่า ภายใต้ความ “เรียบง่าย งามง่าย” ในการออกแบบแท้จริงแล้วมีอะไรที่ซุกซ่อนอยู่มากมาย เป็นองค์ความรู้ที่อยู่ใน “อู่บ้าน-ฐานถิ่น" ของ “วัฒนธรรมการกิน-อยู่อย่างไทย" ซึ่งพัฒนาต่อยอดเป็นแนวคิด “ภูมิไทย" ครับ สารภาพตามตรงนะครับว่าผมมีความสุขทุกครั้งที่ผมได้ไปที่ “ชีวาปุรี บีช รีสอร์ท” ณ เกาะช้าง เพราะนอกจากจะได้สัมผัสความงดงามของการกินอยู่แบบไทยภายใน “เรือนไทยร่วมสมัย" แล้วผมกำลังภูมิใจที่จะบอกกับสังคมไทยว่า ศิลปะสถาปัตยกรรมของไทยไม่เป็นรองชาติใดในโลกครับ
ในสัปดาห์นี้คงมีสาระน่ารู้เพียงแค่นี้ สำหรับแฟนๆ ชาวคนรักบ้านทั่วประเทศที่ให้ความสนใจจะไปเยี่ยมเยือน “ชีวาปุรี บีช รีสอร์ท” ณ เกาะช้าง สามารถติดต่อได้ที่ 08-1377-2809 และแฟนๆ ท่านใดที่สนใจสมัครเป็นศูนย์ข้อมูล “เรือนขวัญจิตต์" ในการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับบ้านไม่บานและอพาร์ตเมนต์ไม่บาน รวมถึง โรงแรม, รีสอร์ทไม่บาน ในรูปแบบต่างๆ กว่า 200 แบบ ของ อ.ดร.เชี่ยว ชอบช่วย ก็ยังสามารถแจ้งความจำนงมาได้ที่เบอร์ 0-2245-1399 และ 0-2644-1478 ได้เช่นกันครับ
นอกจากนี้ สำหรับแฟนๆ ชาวบ้านไม่บานทั่วประเทศที่สนใจ บ้านมวลชนไม่บานต้านภัยธรรมชาติ ที่ประโยชน์สูง ประหยัดสุด และสวยงามสุดๆ ในชุด “เรือนขวัญจิตต์” นี้ สามารถเขียนจดหมายส่งมาที่ ผศ.ดร.ภัทรพล เวทยสุภรณ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพมหานคร 10200 เพื่อที่ผมจะได้จัดส่งรายละเอียดกลับไปให้ท่านได้นำไปต่อยอดทางความคิดหรือนำไปประยุกต์ใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งสามารถดูข้อมูลอันเป็นสารประโยชน์ย้อนหลังได้ที่ www.homeloverthai.com