Lifestyle

"วัดอาน" ร้างพระแต่ศรัทธาคนไม่ร้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วัดร้างในประเทศไทยมีมากถึง ๕,๙๓๗ วัด" เป็นตัวเลขทางสถิติที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสำรวจ ณ วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ ส่วนวัดที่มีพระสงฆ์ทั่วประเทศ ๓๓,๙๐๒ วัด แบ่งเป็น มหานิกาย ๓๑,๘๙๐ วัด ธรรมยุต ๑,๙๘๗ วัด จีนนิกาย ๑๒ วัด อนัมนิกาย (ญวณ) ๑๓ วัด กองพุทธศ

 ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม วุฒิสภา เคยทำรายงานประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นำเสนอต่อมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไข พบว่าขณะนี้มีวัดร้างเพิ่มขึ้นประมาณ ๔๐ แห่งต่อปี บางวัดมีพระรูปเดียว โดยมีปัญหาสำคัญ คือ ผู้ที่สนใจจะบวชลดลง นอกจากนี้จากสถิติยังพบว่าในช่วงเข้าพรรษาจะมีพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศประมาณ ๓ แสนรูป แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในวัดเขตเมือง ทำให้วัดตามชนบทขาดแคลนพระภิกษุสามเณร

 ในจำนวนวัดร้างที่มีมากถึง ๕,๙๓๗ วัด ที่ไม่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่เลยนั้น แต่ก็ยังมีอยู่หลายวัด ที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมีต่อพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ร้างตามสภาพของวัดร้าง

 โดยเฉพาะที่ "วัดอาน" ต.บางใหญ่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีหลวงพ่อจันทรังษี หรือ หลวงพ่ออาน พระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร เนื้อศิลาแลง ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๗ นิ้ว สูง ๕๗ นิ้ว ซึ่งคาดว่าพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง หรือต้นกรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานอยู่ในวิหาร

   วัดอาน เป็นวัดร้างตั้งอยู่ที่ซึ่งเคยทรุดโทรมมาก่อน จากภาพที่นำมาให้ดูเป็นสภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ แต่ประวัติของวัดอานถูกเล่าต่อๆ กันมาประมาณ ๓-๔ ชั่วอายุคน โดยสภาพวัดคาดกันว่า น่าจะสร้างประมาณปลายสมัยอู่ทอง หรือต้นสมัยอยุธยา หรือน่าจะราวๆ ๔๐๐ ปี เห็นจะได้

 สมัยพม่าทำศึกกับกรุงศรีอยุธยา พม่ายกทัพผ่านมา คงจะพักทัพช้าง ทัพม้าที่นี่ และเอาช้างเอาม้าไปอาบน้ำที่โคกวัดช้าง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำท่าจีน ด้านทิศตะวันออก เขต อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 

 ส่วนชื่อของ "วัดอาน" คงมาจาก อานช้าง อานม้า ที่ชำรุดทิ้งไว้นั่นเอง
 แม้ว่าวัดอานจะขึ้นชื่อว่าเป็นวัดร้าง แต่สภาพของวัด ตั้งแต่ป้ายบอกทางเข้าวัด ซุ้มประตู ศาลา วิหาร ลานจอดรถ ห้องน้ำ รวมทั้งร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง อยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากวัดที่มีพระสงฆ์พำนักอยู่

 ทุกๆ วันจะมีผู้คนแวะเวียนเข้าวัดมิได้ขาดสาย ส่วนใหญ่จะเข้าไปขอพรจากหลวงพ่อจันทรังษี ในพระวิหาร ทั้งนี้ จะมีสมุดเขียนคำอธิษฐานวางอยู่หลายเล่ม สุดแล้วแต่ใครจะเขียนขอเรื่องอะไร

 จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้ความว่า ส่วนมากจะขอพรเรื่องการปรับวุฒิ ปรับตำแหน่ง ในขณะที่คนบางแม่ม้าย หากออกรถใหม่ๆ ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ ก็จะตักน้ำมนต์ด้านในอ่างด้านหน้าหลวงพ่อจันทรังษีมาประพรมที่รถ
 
 อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ยืนยันวามศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อจันทรังษี คือ เมื่อผู้คนที่ไปขอพรแล้วประสบความสำเร็จ ก็จะมาแก้บน ซึ่งที่เห็นจะแก้บนด้วยขนมจีนน้ำยา และไข่ต้ม ทั้งนี้วัดได้จัดเตรียมถ้วย จาน ชาม และตะกร้า ไว้ใส่ขนมจีนน้ำยาสำหรับแก้บน

 นอกจากนี้แล้ว ยังมีผู้นำกลอง ฆ้อง รวมทั้งระฆัง มาถวายแก้บนด้วย ทั้งในกลางเดือน ๕ ของทุกๆ ปี เป็นงานประจำปีของวัด ซึ่งเป็นงานวัดร้างที่ใหญ่ จัดได้ราวกับวัดที่มีพระสงฆ์อยู่

  วัดอานแห่งนี้ ไม่มีการรับบริจาค ไม่มีการทำบุญชนิดถวายปัจจัย ไม่มีจำหน่ายธูป เทียน ดอกไม้ ต้องจัดหามาเอง แต่ก็มีผู้ศรัทธานำ ธูป เทียน และทอง มาถวายหลวงพ่อ สำหรับผู้ที่เดินทางไปกราบไหว้ขอพร ที่ไม่ได้เตรียมตัวไป

 นอกจากนี้แล้ว ในบริเวณวัดอาน ยังมีอนุสรณ์สถานบ้านบางแม่หม้าย ซึ่งบางแม่หม้ายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มาแต่โบราณ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประเพณีวัฒนธรรมที่รุ่งเรือง สังเกตได้จากบริเวณหมู่บ้านมีวัดร้างถึง ๕ วัดด้วยกัน และมีผู้ขุดค้นพบพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง และสมัยอยุธยาตอนต้น ได้อีกด้วย

แม่หม้ายที่บางแม่หม้าย
 มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบางแม่หม้าย เป็นสองแนวด้วยกัน ทั้งเล่าต่อๆ กันมาในแนวของประวัติศาสตร์ ที่ว่า สมัยเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ชาวพม่าได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย ได้ผ่านบางแม่หม้ายแห่งนี้ และกวาดต้อนครัวเรือนไทยไปเป็นเชลย  ชายไทยที่บางแม่หม้ายพร้อมกันลุกขึ้นต่อสู้ แต่ต้องพ่ายแพ้ ทำให้ชายไทยในบางแม่หม้ายตายหมด คงเหลือเฉพาะภรรยา ก็ตกเป็น "หม้าย" กันหมด จึงได้พากันบวชชี เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้สามี เลยเรียกว่า "วัดโคกยายชี" ซึ่งขุดค้นพบโครงกระดูกจำนวนมาก

 อีกแนวหนึ่ง เป็นแนวนิยายปรัมปรา เกี่ยวกับสองหญิงสาวที่เป็นหม้ายขันหมากจากหนุ่มต่างบ้าน มีเรื่องเล่ากันว่า มีชายหนุ่มสองพี่น้อง ผูกสมัครรักใคร่สาวทางบ้านบางแม่หม้าย จนถึงได้สู่ขอ และกำหนดนัดวันแต่งงาน เมื่อถึงกำหนดฝ่ายเจ้าบ่าวได้เคลื่อนขบวนสำเภาขันหมาก มารับพวกมโหรีที่บ้านแห่งหนึ่ง เรียกว่า บ้านบางซอ ซึ่งวงมโหรีได้บรรเลงเพลงมาตามทางอย่างสนุกสนาน แต่ที่สนุกที่สุด ก็เมื่อเดินทางมาถึงย่านน้ำอันกว้างใหญ่ อุดมไปด้วยสัตว์น้ำที่ดุร้ายคือ จระเข้ ได้เกิดพายุใหญ่พัดจนสำเภาล่ม จึงเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า บ้านสำเภาล่ม หรือสำเภาทะลาย ปัจจุบันเรียก บ้านสำเภาทอง ขณะเดียวกันยังมีชื่อวัดตะเข้ไล่ อีกด้วย

 เมื่อเรือล่ม บางคนจมน้ำตาย บางคนก็ถูกจระเข้คาบไป เจ้าบ่าวถูกจระเข้คาบว่ายไปทางทิศเหนือ ถึงบ้านเจ้าสาว เมื่อพวกเจ้าสาวเห็นก็จำได้ จึงไปบอกเจ้าสาว เจ้าสาวเสียใจมาก วิ่งตามตลิ่งตามดูเจ้าบ่าวไปจนถึงที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่อาจตามไปได้ทันท่วงที จึงได้แต่แลมองไปจนสุดสายตาที่ที่เจ้าสาวยืนมองอยู่นี้ ต่อมาเรียกว่า วัดบ้านสุด แม้กระนั้นนางก็มิได้ท้อถอย มุ่งหน้าติดตามไปเรื่อยๆ จนเหนื่อยอ่อน จึงนั่งพักที่โคกแห่งหนึ่ง ต่อมาได้ชื่อว่า “โคกนางอ่อน”

 เมื่อหายเหนื่อย นางก็ตามต่อไปอีก จนถึงโพนางเซา ต่อมานางได้ข่าวว่า มีจระเข้คาบคนรักไปทางทิศใต้ จึงย้อนกลับมา และพบศพ นางจึงนำศพมาฌาปนกิจที่วัด  ต่อมาวัดนั้นได้ชื่อว่า “วัดศพเพลิง” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดประสบสุข" และบ้านเจ้าสาวได้ชื่อว่า “บางแม่หม้าย” มาจนทุกวันนี้

 "ทุกๆ วันจะมีผู้คนแวะเวียนไปมิได้ขาดสาย ส่วนใหญ่จะเข้าไปขอพรจากหลวงพ่อจันทรังษี ในพระวิหาร ทั้งนี้จะมีสมุดเขียนคำอธิษฐานวางอยู่หลายเล่ม สุดแล้วแต่ใครจะเขียนขอเรื่องอะไร จากสอบถามเจ้าหน้าที่ ได้ความว่า  ส่วนมากจะขอพรเรื่องการปรับวุฒิปรับตำแหน่ง"

เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ