
ยันเอ็มโอยู43ช่วยรักษาประโยชน์ชาติ
ยูเนสโกกรุงเทพฯยันไทยรับขึ้นตอนตั้งกรรมการประสานงานคุ้มครองปราสาทพระวิหาร ปลัดทส.ยันสุวิทย์เซ็นกำกับการแก้ถ้อยคำไม่ได้ตกลงเข้าร่วมไอซีซี เครือข่ายประชาชนฯจี้ มาร์คเลิกเอ็มโอยู43หวั่นทำไทยเสียดินแดน
เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ซูซาน วิลเลียมส์ หัวหน้าฝ่าย Media หน่วยงานข้อมูลข่าว ยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ ได้แจ้งเรื่องข่าวจากคณะกรรมการมรดกโลกเรื่องปราสาทพระวิหารว่า ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ณ กรุงบราซิเลีย ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 ได้มีการรับมติโดยการสนับสนุนจากทั้งทางประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เรื่องแหล่งมรดกโลกปราสาทพระวิหาร
ประธานคณะกรรมการมรดกโลกและรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของบราซิล นายชูลา เฟร์ไรราได้ยื่นมติโดยได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้แทนประเทศไทยและประเทศกัมพูชา รับขั้นตอนของประเทศกัมพูชาในการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน
มติยังมีการรับทราบถึงการที่ศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสารที่ยื่นโดยประเทศกัมพูชา ซึ่งโดยทางคณะกรรมการจะทำการพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 35 ในปี พ.ศ. 2554
ยัน“สุวิทย์”เซ็นกำกับการแก้ถ้อยคำไม่ได้ตกลงเข้าร่วมไอซีซี
นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวว่านายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีทส. ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 34 ที่บราซิล ไปเซ็นรับร่างเอกสารที่ทำโดยคณะกรรมการมรดกโลก กรณีเอกสารแผนบริหารจัดการพื้นที่ประสาทพระวิหารนั้น ตนในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ขอยืนยันว่าการเซ็นลายเซ็นของนายสุวิทย์ เป็นแค่การเซ็นเอกสารประกอบการทำงาน ไม่ใช่เป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือรับรองมติใดๆทั้งสิ้น
เนื่องจากวาระพิจารณาเอกสารพระวิหารหรือ Draft decision 34 COM 7B.66 ที่เสนอโดยกัมพูชา เมื่อวันที่ 29 ก.ค.นี้ ที่บราซิล ซึ่งมี 7 ข้อนั้น ฝ่ายไทยยืนยันที่จะไม่รับร่างมติดังกล่าว เนื่องจากกัมพูชาใช้คำว่า “ property” แต่ไทยขอให้แก้เป็น “temple” เท่านั้น จนต้องมีการเจรจากันหลายรอบ กระทั่งมีข้อสรุปออกมาเป็น 5 ข้อ และเป็นที่มาของการเซ็นกำกับโดยนายสุวิทย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นายสก อาน ของกัมพูชา และประธานกรรมการมรดกโลกดังกล่าว
“ ร่าง 5 ข้อที่รัฐมนตรีเซ็นกำกับนั้น เป็นเพียงการรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนที่จะจัดตั้งคณะ กรรม การประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน หรือไอซีซี และการกำหนดพิจารณาแผนบริหารปราสาทพระวิหารไปในปี 2554 เท่านั้น แต่เนื่องจากที่ผ่านมาไทย และคณะ กรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทยที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายก รัฐมนตรี เป็นประธาน ยังมีจุดยืนและสงวนท่าที่ว่าไม่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมกับกรรมการไอซีซี จนกว่าจะมีหารือนอกรอบกับกัมพูชา และยูเนสโก เพื่อกำหนดกรอบการทำงาน ตลอดจนระยะเวลา และบทบาทหน้าที่ของไอซีซีเสียก่อน ดังนั้นจึงยืนยันว่าไทยยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการไอซีซี หรือเซ็นรับรองอะไรตามที่เป็นข่าว ” นายศักดิ์สิทธิ์ ระบุ
ปลัด ทส.กล่าวว่า ทั้งนี้หลังจากคณะกรรมการมรดกโลก ได้เลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการปรา สาทพระวิหาร ที่กัมพูชาเสนอไปยังศูนย์มรดกโลก ไปเป็นปี 2554 และคาดว่าเอกสารจะหนาถึง 700 หน้านั้น ไทยได้ประสานขอนำเอกสารดังกล่าวจากศูนย์มรดกโลกแล้ว เพื่อนำมาศึกษารายละเอียดและทำการบ้าน เตรียมสำหรับการประชุมคราวหน้า ซึ่งไม่แน่ว่าอีก 1 ปีข้างหน้ากัมพูชาอาจจะมีข้อมูลรายละเอียดมากกว่านี้ก็ได้ อย่างช้าจะมาถึงในเดือนก.ย.นี้ อีกทั้งในสัปดาห์ ตนเตรียมจะเดินทางไปตรวจสถานการณ์และควาเรียบร้อยที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารด้วย
สุขุมพันธุ์ยันเอ็มโอยู43ช่วยรักษาประโยชน์ชาติ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทำเอ็มโอยู 2543 ในฐานะที่เป็นผู้ลงนามรับรองว่า ตนพูดเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว และเอ็มโอยูฉบับนี้ก็ใช้มาหลายรัฐบาลแล้วด้วย จึงไม่อยากให้ข้อมูลแล้ว อย่างไรก็ตามยืนยันว่าเอ็มโอยู 2543 ทำให้รัฐบาลไทยสามารถรักษาผลประโยชน์ได้ เพราะเป็นกรอบในการสำรวจและปักปันเขตแดน แต่กระทรวงการต่างประเทศ แปลความผิด คือ คำว่า “แผนที่“ คำเดียว เนื่องจากในเอ็มโอยูที่เป็นภาษาอังกฤษ เขียนว่า “Maps” ไม่ใช่ “Map” ซึ่งไม่ใช่แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เพียงฉบับเดียว แต่รวมถึงอะไรก็ได้ทุกอันที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตแดน ที่ผ่านมาจะมีการจัดทำแผนที่ และสำรวจแผนที่ร่วมกันตลอดเวลา แต่เวลาส่งไปพิมพ์กลับพิมพ์คำว่าแผนที่ผิด ดังนั้นต้องเอาแผนที่ฉบับอื่นมาประกอบเทียบกันว่าจะใช้อันไหน และต้องเอามาเทียบกับสนธิสัญญาระหว่างไทย-ฝรั่งเศสด้วย แต่สุดท้ายแล้วหากแผนที่ขัดกับสนธิสัญญาจะต้องยึดสนธิสัญญาก่อน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ดังนั้นเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวจึงไม่ได้ระบุเพียงว่าจะต้องใช้แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ฉบับเดียว จะนำแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนมาดูก็ได้ หรือจะเอาแผนที่แต่ละส่วนก็ได้ เพราะแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ มันเป็นผลจากการสำรวจ จึงต้องเอาแผนที่เหล่านั้นมาเทียบว่าตรงกันหรือไม่ และอีกส่วนหนึ่งคือต้องเอาแผนที่ทั้งหมดทั้งมวลมาเทียบกับสนธิสัญญา จะเห็นว่าแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน มันผิดกับสนธิสัญญาอย่างไร แต่เราไม่รวมแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนก็ไม่ได้ เพราะโดยนัยยะ เป็นเอกสารที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จริง
“จะยกเอกสารอะไรเข้ามาก็ได้ ในเอ็มโอยูไม่ได้กำหนดไว้ แต่เอ็มโอยูระบุแผนที่ทั้งหมด และบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องเปิดได้หมด ส่วนว่าใครจะให้น้ำหนักเอกสารแผนที่ไหน เป็นเรื่องของการเจรจากัน ไม่ได้หมายความว่าแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน จะต้องถูกเสมอ ถ้าอย่างนั้นคงไม่มีใครเซ็นเอ็มโอยูหรอก แต่ที่สำคัญที่สุด คือ สนธิสัญญา สนธิสัญญาต้องมาก่อน ตามด้วยแผนที่ทั้งหมด ตามด้วยเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และชัดเจนว่าเอ็มโอยูฉบับนี้เป็นการกำหนดห้ามใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน แค่กัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนมรดกก็ผิดแล้ว ผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ ถ้าไม่มีเอ็มโอยูฉบับนี้ไทยเราเสร็จไปแล้ว เสร็จฝรั่งไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง ” ผู้ว่าฯกทม. ระบุ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ตนพูดตั้งแต่แรกสมัยนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นพรรค ปชป.เป็นฝ่ายค้าน ว่าจริงแล้วเราไม่ต้องทำอะไรเลย เราทำหนังสือประท้วงใปยูเนสโกอย่างเดียวว่าเรามีเอ็มโอยูฉบับนี้ ดังนั้นกัมพูชาจะดำเนินการอะไรที่พลการไม่ได้ เนื่องจากมีข้อความตอนหนึ่งบอกว่า ในขณะที่การสำรวจและปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามสภาพเดิมในพื้นที่ทับซ้อน ดังนั้นเราไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องไปตอบโต้เขา เรามีหนังสือสัญญาฉบับนี้เป็นเครื่องมือ ก็ชัดเจนที่สุดแล้วว่าเขาไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ แม้แต่ศาลโลกกรณีมีคำพิพากษาเรื่องเขาพระวิหารก็ยังไม่กล้า
เครือข่ายประชาชนฯจี้ “มาร์ค”เลิกเอ็มโอยู43
เมื่อเวลา 10. 00 น. ที่ห้องรามราฆพ สโมสรราชตฤณมัยสมาคม สนามม้านางเลิ้ง เครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ เครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ และภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหาร ร่วมกันแถลงข่าว “ชำแหละ MOU43” โดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 (MOU 43) ได้ระบุหลักใหญ่ 2 ประการคือ ให้มีคณะกรรมการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา และการปักปันเขตแดนนั้นให้เป็นไปตามแผนที่ฝรั่งเศส 1:200,000 ซึ่งผลจากเนื้อหาดังกล่าวส่งผลให้ไทยเสียพื้นที่กว่า 3 พันไร่ และนับจากนี้สุ่มเสี่ยงจะเสียดินแดนใน 7 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่อุบลราชธานี-ตราดกว่า 1.8 ล้านไร่และจะสูญเสียพื้นที่ทางทะเลฝั่งอ่าวไทยอีก 1 ใน 3
“เครือข่ายภาคประชาชนได้แสดงความห่วงใยในเรื่องดังกล่าวจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU43 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีออกมาระบุ การไม่ยกเลิก MOU43 จะทำให้ไทยได้เปรียบกัมพูชานั้นไม่เป็นความจริง เพราะพื้นที่ที่นายกฯกล่าวถึงนั้น ไทยได้เสียดินแดนให้กัมพูชาไปแล้ว” นายไชยวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า หลังศาลโลกมีคำพิพากษาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาไทยก็ได้สงวนสิทธิ์มาโดยตลอดโดยการล้อมรั้วเขตแดนนานกว่า 38 ปี จนกระทั่งมีการทำ MOU43 พื้นที่ของไทยจึงกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน เป็นเหตุให้มีประชาชนและกำลังทหารของกัมพูชาเข้ามา แต่รัฐบาลไทยไม่ทำการผลักดันเนื่องจากข้อตกลงในข้อที่ 8 ของ MOU43 ระบุว่าข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องระงับด้วยการเจรจา รัฐบาลไทยจึงได้ทำหนังสือประท้วงไปยังกัมพูชาถึง 11 ครั้งแต่ไม่เป็นผล อีกทั้งทางการกัมพูชายังเป็นฝ่ายบอกด้วยว่าข้อพิพาททางดินแดนที่เกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายไทยเป็นฝ่ายบุกรุกทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นของฝั่งไทย อย่างไรก็ตามวันนี้รัฐบาลเป็นเด็กดี ยึดมั่นในสัญญาข้อตกลงตาม MOU43 จนทำให้ขณะนี้มีทั้งกำลังทหาร ประชาชนกัมพูชาที่มาปักหลักในพื้นที่พิพาทจนกระทั่งเราไม่สามารถผลักดันให้ออกจากพื้นที่ได้แล้ว ขณะที่รัฐบาลไทยบอกว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็นพื้นที่ทับซ้อน กัมพูชากลับบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา มีแต่รัฐบาลไทยพูดกับคนไทยเท่านั้นว่าไทยได้เปรียบกัมพูชา ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่
“ภาคประชาชนได้แสดงความเป็นห่วงว่า ถ้าไม่ยกเลิก MOU43 ในรัฐบาลนี้ หากมีการเปลี่ยนรัฐบาลในสมัยหน้าเกรงว่ากลุ่มผู้คิดจะใช้ช่องว่างของ MOU43 เพื่อหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง อีกทั้งสุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดสงคราม เพราะขณะนี้ไทยและกัมพูชาได้มีการปะทะกันไปมา ด้วยเหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายทำการรุกล้ำดินแดนของตน ที่สุดแล้วจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งบานปลายและเกิดสงครามในที่สุด” โฆษกพันธมิตรฯระบุ
ขณะที่ นายวีรพันธุ์ มาไลยพันธุ์ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า เหตุผลหลักที่ภาคประชาชนและนักวิชาการต้องการให้รัฐบาลยกเลิก MOU43 คือการกระทำที่ส่อว่าบันทึกความเข้าใจดังกล่าวยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ซึ่งเจตนาคือฉ้อฉลดินแดน ตนในฐานะที่ปรึกษาสำนักโบราณคดีที่ 11 อุบลราชธานี ซึ่งดูแลรับผิดชอบโบราณสถานปราสาทเขาพระวิหาร เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการระดับประเทศเพื่อสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนที่ฉบับดังกล่าว จากนั้นก็ทำเป็นข้อเสนอระดับโลกต่อไป
“ผมเป็นผู้ติดตามการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศบราซิล กรณีที่นาย ซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาออกมาประกาศ กัมพูชาได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือไทยภายหลังที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ไปเซ็นรับร่างเอกสารชื่อ WHC-10/34.COM/7B.add.3. ที่รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมบราซิล ประธานที่ประชุมได้จัดทำขึ้น เนื้อหาในร่างเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญ 5 ข้อ” นายวีรพันธุ์ กล่าวและระบุว่า เนื้อหา 5 ข้อที่นายสุวิทย์ร่วมลงนาม ข้อที่ 1.ไทยได้ยินยอมและรับร่างเอกสารดังกล่าวว่า ถูกต้อง 2.ไทยยอมรับผลมติผูกพันที่มีในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 32 และ 33 ข้อ 3.บันทึกว่าคณะกรรมการมรดกโลกได้ยอมรับเอกสารการบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาแล้ว ข้อ 4.ระบุว่าทั้ง 2 ประเทศยินดีและยอมรับว่ากัมพูชาสามารถเดินหน้าตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร( ICC) ได้ และข้อ 5.ระบุว่า ในการประชุมครั้งที่ 35 ที่บาห์เรนจะมีการพิจารณาแผนบริหารจัดการของกัมพูชา เนื่องจากที่ประชุมได้รับร่างแผนดังกล่าวแล้ว
นายวีระพันธุ์ กล่าวว่า ร่างเอกสารที่ตนได้มา ที่ถ่ายวีดิโอโดยผู้ติดตามของนายสุวิทย์เอง บอกว่า ไม่มีจุดไหนเลยที่นายสุวิทย์คัดค้าน การที่เราเซ็นยอมรับให้กัมพูชาตั้งคณะกรรมการไอซีซีนั้น ขอตั้งข้อสังเกตว่า นายสุวิทย์ทำการเกินมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และการเป็นเซ็นยอมรับแบบนี้จะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องออกมาให้คำตอบว่า จะดำเนินการอย่างไรกับนายสุวิทย์ ขณะที่นายกออกมาพูดท่านยังไม่ได้เห็นร่างเอกสารนี้แต่ถ้าเห็นแล้วจะตีความอย่างไร อย่างไรก็ตามตนและภาคประชาชนมีความเป็นห่วงว่าไทยจะเสียเปรียบกัมพูชา เพราะจะไปบอกว่า ไทยไม่ได้มีมติให้นายสุวิทย์ไปเซ็นยอมรับร่างเอกสารดังกล่าว กัมพูชาก็คงไม่ยอม ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนจะทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำการวินิจฉัยว่า การกระทำของนายสุวิทย์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ โดยจะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อฟังคำตอบจากปากนายกรัฐมนตรีว่าจะยกเลิก MOU43 หรือไม่
ผบ.ทบ. ยันชายแดนเขมรปกติไม่ต้องเพิ่มกำลัง
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในการทำความเข้าใจปัญหาชายแดนกับประเทศกัมพูชาว่า ขณะนี้ความสัมพันธ์ของทหารในพื้นที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาไม่มีการปฏิบัติใดที่นอกเหนือไปจากเดิม ไม่มีการเพิ่มกำลัง หรือเคลื่อนย้าย เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังอยู่กันอย่างปกติ คงเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาล คือ ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา คงใช้มาตรการในการพูดคุยเจรจาแก้ปัญหาหากลไกแก้ปัญหา
ส่วนที่มีประชาชนกัมพูชาเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนนั้น เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ต้องไปพูดคุยกัน คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา(จีบีซี)ในช่วงปลายเดือนนี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงคงมีการประชุมตามปกติ เพราะขณะนี้ความสัมพันธ์การไปมาหาสู่กันยังเป็นไปอย่างปกติ