ไลฟ์สไตล์

"พุ" กับ "พรุ"

"พุ" กับ "พรุ"

30 ก.ค. 2553

ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์ ฉบับที่ 3193 ประจำวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2553 หน้า 19 เรื่อง "การเที่ยวพุ...ถ่อแพ"

 มีความสงสัยคำว่า "พุ" ในเนื้อเรื่องนี้ อาจจะคลาดเคลื่อนกับเนื้อเรื่อง ที่ถูกต้องตามความเข้าใจของผม น่าจะใช้คำว่า "พรุ" ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 บัญญัติไว้ว่า "พรุ" คือ พื้นที่ดิน ที่ข้างบนแข็ง ข้างล่างหล่ม
 ผมนึกถึง "พรุ ควนเคร็ง" ในพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ที่ถูกไฟไหม้ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ผมจึงอยากรู้ว่า ผมเข้าใจถูก หรือว่าคนเขียน "เขียนผิด" ครับ
สุทัศน์
ตอบ
 สอบถามอาจารย์ภาคภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ภาษาไทยสิรินธร ให้ความเห็นตรงกันว่า ถ้าในเนื้อเรื่องนี้ผู้เขียนสื่อถึงป่า ไม่ใช่น้ำ คำที่ถูกต้องคือ "พรุ" เที่ยวพุในความหมายของผู้เขียน ก็คือ "เที่ยวป่าพรุ"
 ความหมายของ "ป่าพรุ" คือ ป่าที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำขังดินเป็นหล่มเลน และมีซากอินทรียวัตถุทับถมทำให้ดินยุบตัวได้ง่าย
 ส่วนความหมายคำว่า "พุ" กับ "พรุ" ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า
 
 "พุ" คือ อาการที่น้ำหรือแก๊สผุดขึ้นมา เช่น น้ำร้อนพุขึ้นมา แก๊สธรรมชาติพุขึ้นมา หรืออาการที่น้ำเหลืองผุดขึ้นมา เช่น ฝีฝักบัวพุ หรือใช้เรียกชื่อเฉพาะว่า นํ้าพุ
 "พรุ" คือ ที่ลุ่มชื้นแฉะ มีซากผุพังของพืชพรรณทับถมอยู่มาก
 ฉะนั้น ถ้าพูดถึงป่า ต้องเขียนว่า "พรุ"
ลุงแจ่ม