
ราชบัณฑิตห่วงเทรนด์เกาหลีเด้กไม่สนภาษาเกิด
ราชบัณฑิต ห่วงเทรนด์เกาหลี สร้างกระแสเด็กแห่เรียนเสริม ไม่สนภาษาบ้านเกิด เผยวัยโจ๋ยุคใหม่อ่อนเขียนเรียงความ จี้ วธ.-ศธ. เร่งแก้ พร้อมหนุนใช้ภาษาถิ่นในภูมิลำเนา หวั่นภาษาถิ่นดั้งเดิมสูญ
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2553 ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตยสถาน และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวเนื่องในวันภาษาไทย 29 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ว่า แม้จะมีการรณรงค์เรื่องการใช้ภาษาไทยในทุกปี แต่ก็ยังพบว่า ปัญหาการใช้ภาษาไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยทุกอย่างยังเหมือนเดิม และกลับน่าเป็นห่วงเพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามาของกระแสเพลงเกาหลี แฟชั่นเกาหลี ที่ทำให้คนไทยหันไปสนใจภาษาต่างประเทศมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในเด็กเยาวชนมีการเรียนภาษาเกาหลีเสริม แต่ไม่มีใครสนใจเรียนเสริมภาษาไทยทั้งที่ยังใช้กันไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ตนจึงอยากเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์และใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องให้มาก ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรเน้นเรื่องการเรียนวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะการปลูกฝังในเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา รวมถึงการส่งเสริมให้เด็กทุกชั้นวัยสามารถเขียนเรื่องราวที่มีความยาวได้ จะช่วยแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง
“จากประสบการณ์จะเห็นได้ว่า เด็กยุคใหม่นี้ไม่สามารถเขียนอะไรที่ยาวๆ ได้ อาทิเช่น เรียงความ บรรยาย หรือเรื่องราวต่างๆ ดังนั้นโรงเรียนควรจะเน้นให้เด็กได้มีทักษะการเขียนให้มาก ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ บทวิจารณ์ และการเขียนในรูปแบบอื่นๆ ที่จะต้องให้เด็กได้ฝึกใช้คำและภาษาอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยได้” ศ.เกียรติคุณ ดร.กาญจนา กล่าว
ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวด้วยว่า การใช้ภาษาถิ่นเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่น่าเป็นห่วงมาก โดยปัจจุบันเด็กไทยมักรู้สึกอายที่จะพูดภาษาถิ่นของท้องถิ่นตัวเอง ในขณะที่ตนเห็นว่าควรส่งเสริมให้มีการสื่อสารโดยใช้ภาษาถิ่นระหว่างที่อยู่ในภูมิลำเนาจะช่วยอนุรักษ์ภาษาถิ่นเอาไว้ได้ทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในการใช้ภาษาถิ่น โดยนำภาษากลางมาใส่สำเนียงท้องถิ่นทำให้ภาษามีการผิดเพี้ยนไป ทั้งนี้หากไม่เร่งแก้ไขภาษาถิ่นดั้งเดิมที่มีอยู่ก็จะหายไปในที่สุด