ไลฟ์สไตล์

เซอร์วิส เซ็นเตอร์

เซอร์วิส เซ็นเตอร์

18 ก.ค. 2553

ศูนย์บริการ (Service center) หลังการขายโดยความหมาย หมายถึงที่ที่มีไว้สำหรับการตรวจเช็ก (Inspection) การบริการทั่วไป (Service) และการซ่อมบำรุงรักษา (Maintenance)

  ก่อนนี้ศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมมีเพียงเพื่อซ่อมบำรุงรักษาให้รถที่ขายออกของยี่ห้อนั้นๆ ซึ่งเป็นการบริการที่ผู้ค้าผู้ขายไม่ได้หวังกำไรจากการให้บริการมากนัก แต่ปัจจุบันการแข่งขันในการขายรถมีมากขึ้น กำไรจากการขายรถต่อคันน้อยลง จากเดิมที่ฝ่ายขายเป็นผู้หารายได้เลี้ยงฝ่ายบริการ เมื่อกำไรหดหายลงการหารายได้เพิ่มเติมก็ถูกเล็งเป้าไปที่ศูนย์บริการ

   Service center ก็จึงกลายมาเป็น Profit center จากรถยนต์สมัยก่อนที่สามารถซ่อมแซมได้ในแต่ละจุด (Unit repair) ก็กลายมาเป็นเปลี่ยนทั้งอัน (Unit replace) ก่อนนี้รายได้จากอู่ซ่อมหรือศูนย์บริการรายได้หลักมาจากค่าแรงในการซ่อม แต่ปัจจุบันรายได้หลักของศูนย์บริการมาจากการเปลี่ยนชิ้นส่วนหรือการเปลี่ยนอะไหล่

 การแข่งขันทางการขายอย่างรุนแรง โดยพ่วงเอาการบริการหลังการขายมาเป็นตัวนำนั้น ก็หมายถึงการเพิ่มราคาของตัวรถโดยที่ผู้ซื้อไม่มีทางเลือก การให้การรับประกัน 3 ปี หรือแสนกิโลเมตรหรือไม่จำกัดระยะทาง ดูแล้วประโยชน์น่าจะตกแก่ผู้ซื้อโดยตรง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ของฟรีหรือของแถมที่ได้มานั้นถูกบวกเข้าไปไว้ในราคาของตัวรถอย่างเรียบร้อยแล้ว

  หมายถึงว่า เมื่อเราซื้อรถคันหนึ่งๆ นั้น เราจ่ายค่าซ่อมค่าบำรุงรักษาล่วงหน้าไปเรียบร้อยแล้วรวมทั้งยังต้องเสียดอกเบี้ยให้ค่าซ่อมค่าบำรุงรักษาในอนาคตอีกด้วย ก็วินิจฉัยกันเองนะครับว่าฟรีจริงหรือไม่

 ในรถทุกคันจะมีคู่มือประจำรถให้ ส่วนมากแล้วมีสองเล่ม เล่มหนึ่ง เป็นคู่มือการใช้รถการขับรถและการใช้อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงวิธีการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในบางเรื่อง เช่น การเปลี่ยนยาง การเปลี่ยนหลอดไฟและตำแหน่งของฟิวส์ในจุดต่างๆ นอกจากนั้นก็จะบ่งบอกถึงความจุของเหลวต่างๆ เป็นต้น

 ส่วนอีกเล่มหนึ่งจะเป็นเล่มสำคัญที่จะบันทึกและกำหนดระยะเวลา (ระยะทาง) ในการเข้ารับบริการ เช่น ในรายการของการตรวจเช็กครั้งแรกจะต้องมีรายการหรือหัวข้อบ่งบอกให้เจ้าของรถได้รู้ว่ารถที่นำเข้าไปตรวจเช็กนั้นตรวจอะไรไปบ้าง ทำอะไรไปบ้าง ทำโดยใคร ที่ไหน และเมื่อไร

 ถ้าคุณใช้รถใหม่นำรถเข้าตรวจเช็กแล้วอย่าลืมเป็นอันขาดว่ามีการบันทึกการทำงานไว้แล้วในสมุดเล่มนั้น อย่ารีบรับรถกลับโดยไม่ได้ตรวจสอบรายการที่บันทึกในหนังสือคู่มือ

 ในเรื่องของการตรวจเช็กครั้งแรก หรือที่เรียกกันว่าเช็กหมื่นกิโลเมตร ในรายละเอียดหรือหัวข้อที่ถูกกำหนดเอาไว้จากผู้ผลิตเป็นรายการที่จะต้องทำทุกๆ 10,000-15,000 กิโลเมตร นั่นเป็นเรื่องราวหรือขั้นตอนที่ผู้ผลิตผู้ขายกำหนดเอาไว้โดยที่ผู้ใช้หรือผู้ซื้อไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะปฏิเสธเพื่อที่จะแลกกับสิทธิ์ที่จะได้ในการรับประกันสินค้า

 ทางเลือกของผู้ใช้รถในระยะรับประกันดูเหมือนจะไม่มีเลย เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องใช้สิทธิ์ที่มีอยู่ให้เต็มที่ เช่น รายการแสดงการทำงานทุกครั้งตรวจสอบดูว่าศูนย์บริการได้ทำครบทุกรายการ หรือทำโดยใคร เมื่อไหร่ ที่ไหน ขอเป็นหลักฐานเก็บไว้ทั้งหมด รวมทั้งรายการที่คุณแจ้งเพิ่มเติมว่าได้ทำอะไรไปแค่ไหน อย่างไร

รถที่อยู่ในระยะรับประกันจากข้อกำหนดของผู้ผลิตแล้วสามารถจะนำเข้าที่ศูนย์ใดๆ ก็ได้ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ First Inspection, First service, Maintenance schedule เข้ากันตามระยะทุกเวลาที่กำหนด ครับเป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถใหม่จะต้องทำตามนั้น การละเลยก็จะทำให้เสียสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้

ผู้ใช้รถควรจะรับรู้และทำใจไว้ด้วยว่า รถยนต์ในปัจจุบันถูกผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามาเพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง การรักษาสภาพแวดล้อม ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เทคโนโลยีที่ประกอบเข้ามาเพื่อให้รถนั้นใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จึงมีความสลับซับซ้อนและมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาในจุดใดจุดหนึ่งได้ตลอดเวลาแม้จะเป็นรถใหม่ๆ

เมื่อมีปัญหาหรือนำรถเข้ารับการบริการอาจจะต้องใช้เวลาในการทำงานนานกว่าที่คาดคิด ปัญหาบางประการอาจจะต้องใช้เวลาเทียวเข้าเทียวออกศูนย์บริการหลายครั้งเพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหา ก็ต้องทำใจในเรื่องนี้

การใช้รถใหม่แล้วหลีกเลี่ยงไม่เข้าศูนย์บริการนั้น ผู้ใช้รถไม่น่าจะกระทำแม้บางที่บางแห่งจะมัดมือชกยัดเยียดขายสินค้านอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในสเปก บีบบังคับให้ใช้สินค้าเฉพาะที่จัดไว้ในราคาขูดรีด แต่ก็สามารถที่จะปฏิเสธได้โดยยึดถือสินค้าที่กำหนดสเปกไว้ในหนังสือคู่มือเท่านั้น การใช้รถของคุณก็ถือว่าทำได้อย่างถูกต้องแล้ว ครับจำไว้ว่าไม่มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดมีคุณสมบัติพิเศษไปกว่าที่บันทึกลงในหนังสือคู่มือโดยผู้ผลิตรถยนต์คันนั้น