
หัวใจไทย-ตลาดน้ำอัมพวาวันวานยังหวานอยู่
กระแสถวิลหาอดีตของคนยุคใหม่ หรือที่เรียกกันว่า กระแสย้อนยุค กำลังเป็นที่นิยม ผู้คนหันมาท่องเที่ยวในสถานที่ที่มีบรรยากาศวิถีชีวิตเก่าๆ อย่าง ตลาดโบราณ กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดเก่าแก่อายุหลายสิบปีไปจนถึง 100 ปี หรือตลาดใหม่ที่สร้างในบรรยากาศย้อนยุค
“ตลาดโบราณ” ในหลายจังหวัดของประเทศไทยมี 2 รูปแบบคือ “ตลาดบก และตลาดน้ำ” แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นตลาดน้ำ มีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือนำสินค้าและอาหารมาจำหน่าย เนื่องจากผู้คนสมัยก่อนมักจะอาศัยอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ตลาดโบราณแต่ละท้องถิ่นก็มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป
ที่นิยมที่สุดตอนนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “ตลาดน้ำอัมพวา” สมุทรสงคราม ชุมชนริมน้ำที่เกิดขึ้นปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ มีการอนุรักษ์วิถีชีวิตริมน้ำและสถาปัตยกรรมของบ้านเรือนในสภาพใกล้เคียงกับของเดิมจนได้รับรางวัล “UNESCO Asian-Pacific for Culture Heritage Conservation” ระดับ Honorable Mention จากองค์กร UNESCO ในปีพ.ศ. 2551
เดิมเรียกว่า แขวงบางช้าง เป็นสถานที่พระราชสมภพของ 1 ราชา 2 ราชินี เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน วิถีชีวิตสัมพันธ์กับน้ำ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีคนพุทธ คริสต์ อิสลาม ตั้งแต่สมัยร.5 ถึง 50 ปีก่อน ตลาดน้ำคึกคักมาก ผู้คนมีฐานะค่อนข้างดี แต่พอมีการทำเขื่อนและตัดถนนทำให้ตลาดน้ำซบเซา คนหนุ่มสาวอพยพออก แต่พอปี 2545-2547 ชาวบ้านร่วมกับสถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอนุรักษ์บ้านเรือนและสภาพแวดล้อม ฟื้นฟูตลาดน้ำยามเย็นกลับคืนมา
จุดเด่นที่ทำให้ตลาดน้ำอัมพวาฟื้นตัวเร็ว คือ ภูมิทัศน์เหมาะแก่การทำตลาดน้ำ ทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งปลาทูแม่กลอง พริกบางช้าง ลิ้นจี่ มะพร้าว ขนมไทย โดยเฉพาะเจ้าหิ่งห้อยตัวน้อยที่ต้นลำพูหาชมได้ยากแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตลาดโบราณทุกแห่งมีเหมือนกันนั่นคือ เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่เล่าอดีตผ่านความเป็นอยู่ของผู้คน นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับสถานที่ สิ่งของ สินค้าท้องถิ่นและวิถีชีวิตแบบไทยดั้งเดิมของชุมชนนั้นๆ อันเป็นเสน่ห์ที่แท้จริงของตลาดโบราณ และยังเป็นการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาสร้างคุณค่า เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับตนเองและชุมชน
วัฒนธรรมที่มี “คุณค่า” เหล่านี้ถูกนำมาเป็น “มูลค่า” รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากเริ่มทำตลาดน้ำปี 2547 ไม่ถึง 50 ล้านบาท เพิ่มเป็น 600 ล้านบาทในปี 2552 นักท่องเที่ยวประมาณ 90% เป็นคนไทย ค่าใช้จ่ายต่อหัวรวมสินค้าบริการและที่พัก 800-1000 บาท ที่สำคัญมีการเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้ใหญ่ มาเป็นกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษาและคนทำงานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เช่นนี้ ตามคำนิยามขององค์การยูเนสโก คือ การท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้ในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของสถานที่ผ่านประสบการณ์ตรงและการมีส่วนร่วมกับผู้คนเจ้าของวัฒนธรรมนั่นเอง ถือเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่ผู้คนมีพฤติกรรมค้นหาความหมายต่างๆ รอบตัว และสอดรับกับพฤติกรรมนักเดินทางที่เริ่มเปลี่ยนไป แต่ปัจจุบันการท่องเที่ยวเช่นนี้ยังไม่มีองค์กรใดรับผิดชอบชัดเจน รัฐเอกชนไม่เข้าใจแนวทางพัฒนา และเน้นปริมาณนักท่องเที่ยวมากเกินไป