
การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดต่างๆ จะมีอาการ ความพิการ และโรคแทรกซ้อนคล้ายๆ กัน นอกจากนี้ยังมีภาวะอื่นๆ ที่พบร่วมกัน เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน ภาวะทุพโภชนาการ ทั้งน้ำหนักมากไป หรือน้อยไป เป็นต้น
แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองมีหลักการรักษาร่วม ซึ่งเป็นการร่วมมือของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายสาขา ได้แก่ แพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักกำหนดอาหาร (โภชนากร) โดยมีหลักใหญ่ ดังต่อไปนี้
1.ควบคุมความดันเลือด
2.ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
3.ควบคุมระดับเกลือแร่ในร่างกาย ให้อยู่ในค่าปกติ
4.การให้อาหาร ผู้ป่วยที่ไม่ปัญหาการกลืนจะสามารถรับประทานอาหารเองได้ แต่ในรายที่มีปัญหาจะได้รับการใส่ท่อทางจมูกเข้าไปในกระเพาะอาหารเพื่อได้รับ อาหาร น้ำ และยา
5.การขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ พยาบาลคอยช่วยดูแลให้ผู้ป่วยได้ขับถ่ายตามปกติ
6.การระมัดระวังไม่ให้หกล้ม
7.การป้องกันแผลกดทับ ในรายที่เดินไม่ได้ การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมงในท่าตะแคงซ้าย นอนหงายและตะแคงขวาสลับกันไป หรือใช้ที่นอนลมช่วย
8.การป้องกันการปวดไหล่ ไหล่ติดและไหล่ตก นักกายภาพบำบัด พยาบาลหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ช่วยยกแขนข้างที่เป็นอัมพาตให้มีการเคลื่อนไหวบ่อยครั้งในแต่ละวัน และใส่ผ้ายึดไหล่ให้ติดกับเบ้าไหล่เวลานั่งหรือยืน
9.การทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด ซึ่งมีการวางแผนและวางเป้าหมายให้ผู้ป่วยช่วยดูแลให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหว ป้องกันข้อติดฝึกนั่ง ฝึกยืน ฝึกการทรงตัวและการเดิน
10.กิจกรรมบำบัด โดยนักกิจกรรมบำบัด ช่วยดูแลการกลืน การฝึกใช้มือและแขน การฝึกอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ช่วยเหลือตนเองและกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้
11.อารมณ์ โดยการให้กำลังใจ การเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่และญาติ และอาจจะต้องใช้ยาช่วยในรายที่มีอาการมาก
การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสำหรับผู้ที่เคยเป็น
ผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมีโอกาสเป็นใหม่ประมาณ 15% ในปีแรก และจะลดลงเป็น 10% ในปีที่ 2 และลดเหลือ 5% ในปีหลังๆ การหายจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้แปลว่าโรคหายแล้วจะไม่เป็นอีก เนื่องจากหลอดเลือดมีการเสื่อมอย่างต่อเนื่อง หลอดเลือดที่ยังไม่อุดตัน แต่มีการตีบก็จะมีโอกาสอุดตันในภายหน้า หลอดเลือดที่โป่งพอง และยังไม่แตกก็มีโอกาสแตก แล้วเกิดอาการขึ้นใหม่ ดังนั้น เมื่ออาการของโรคดีขึ้น ขอให้อย่าอยู่ในความประมาท ต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยง เปลี่ยนวิถีชีวิต และการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวันให้ถูกสุขอนามัย นอกจากการควบคุมหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงแล้ว แพทย์อาจให้ยาและการรักษา ดังต่อไปนี้
1.ยาต้านเกล็ดเลือด (ยาป้องกันหลอดเลือดตีบ) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอุดตันทุกรายควรได้รับยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน) และควรรับประทานไปตลอดชีวิต
2.ยาละลายลิ่มเลือด สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นพลิ้ว (AF) หลังจากได้ยาจะต้องตรวจหาเวลาที่เลือดแข็งตัว ที่เรียกว่า INR ให้มีค่าอยู่ระหว่าง 2-3 และควรรับประทานยาไปตลอดชีวิต ถ้าไม่สะดวกรับยากลุ่มนี้ สามารถใช้ยาต้านเกล็ดเลือดแทนได้ แต่จะลดโอกาสเสี่ยงได้น้อยกว่า
3.การผ่าตัดลอกไขมันที่ผิวหลอดเลือด จะทำในรายที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ มีการตีบมากกว่า 70% ในข้างเดียวกับที่มีสมองขาดเลือดไปเลี้ยง
4.การกินยาลดไขมันกลุ่มสแตติน ในรายที่หลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะถ้ามีค่า แอลดีแอล (LDL) ในเลือดมากกว่า 100 มก./ดล.
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก ไม่มียาป้องกันเฉพาะ ทำได้แต่การงดเหล้าหรื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การควบคุมความดันให้เป็นปกติ และการออกกำลังกาย
ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719