
ฝนตกแอร์ไม่เย็น
คงจะหายากที่รถยนต์ใช้งานในบ้านเราที่ไม่ติดตั้งระบบทำความเย็นมาให้ในรถ ในห้องโดยสารแคบๆไม่กี่ตารางเมตรในรถยนต์คันหนึ่งจำเป็นต้องมีระบบทำความเย็นหรือที่เรียกกันว่าแอร์ (Air Condition)
ที่จริงก็ไม่มีอะไรมากนักในระบบที่จะทำให้เกิดความเย็นในตัวรถเขียนให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ เมื่อระบบแอร์ในรถยนต์ทำงานก็หมายถึง สายพาน ของเครื่องยนต์ออกแรงฉุด มูเล่ย์ ที่คอมแอร์โดยมีคลัตช์แอร์ที่ทำงานด้วยระบบแม่เหล็กจากกระแสไฟฟ้าในรถยนต์ คลัตช์แอร์เข้าไปเกาะติดกับคอมแอร์เมื่อสายพานเคลื่อนตัวก็จะทำให้กลไกในคอมแอร์ทำงาน
น้ำยาแอร์แรงดันสูงจากคอมแอร์จะไหลไปตามท่อผ่านตัวดักความชื้นหรือไดเออร์ผ่านเข้าไปที่วาล์วเพิ่มแรงดัน(Expansion valve) เพื่อฉีดน้ำยาด้วยแรงดันสูงเข้าไปที่ คอยล์เย็น (Evaporator) น้ำยาแอร์ที่ไหลผ่านคอยล์เย็นก็จะดูดเอาความร้อนจากห้องโดยสารเข้ามาในระบบและน้ำยาแอร์ที่มีแต่ความร้อนก็จะไหลผ่านตามท่อไปยัง คอยล์ร้อน(Condenser) เพื่อให้คอยล์ร้อน ระบายความร้อนออกทิ้งไปกับบรรยากาศรอบๆ ตัวรถ แล้วคอมแอร์ก็จะดูดน้ำยาแอร์ที่เย็นแล้วส่งไปตามระบบวนเวียนกันอยู่อย่างนี้จนเมื่อต้องการเลิกใช้แอร์ หรือเมื่อต้องการดับเครื่องยนต์
ส่วนองค์ประกอบย่อยๆ ที่เป็นองค์ประกอบเสริมที่มีความสำคัญในระบบก็เช่น เซนเซอร์ วัดอุณหูมิของระบบในห้องโดยสารเซนเซอร์วัดอุณหภูมิของน้ำยาแอร์เซนเซอร์วัดแรงดันน้ำยาแอร์ ซึ่งเซนเซอร์เหล่านี้จะทำงานร่วมกับระบบต่างๆ ในเครื่องยนต์เพื่อประสิทธิภาพในการทำให้แอร์มีอุณหภูมิคงที่ที่สุดในห้องโดยสารตามที่ผู้ใช้ต้องการมากหรือน้อยดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับชนิดของรถและแน่นอนราคาของตัวรถ
ในปัจจุบันรถยนต์หลายๆ ยี่ห้อหลายๆ รุ่นมักจะใช้สายพานเพียง เส้นเดียว(Single Belt) เป็นตัวฉุดลากอุปกรณ์ของระบบอื่นๆ เช่น ฉุดปั๊มน้ำ ฉุดไดชาร์จ ฉุดปั๊มพาวเวอร์และฉุดคอมแอร์ ต่างจากรถรุ่นเก่าๆ ที่ต้องใช้สายพานหลายเส้นแยกกันไปขับอุปกรณ์แต่ละตัว การใช้สายพานเส้นเดียวผู้ผลิตอ้างว่าง่ายต่อการดูแลบำรุงรักษา เราผู้ใช้รถก็คงต้องว่าไปตามนั้น
สายพานเส้นเดียวใช้ทำงานทุกอย่างจึงต้องมีความยาวและความทนทานในการฉุดลาก ความตึงของสายพานจะต้องอยู่ในระดับพอดีจึงจะทำให้อุปกรณ์อื่นๆ ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อคอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานจะมีความฝืดสูงสายพานจึงต้องออกแรงดึงมาก ถ้าสายพานหย่อนมากกว่าเกณท์ที่ตั้งไว้ก็จะทำให้ไม่มีแรงไปฉุดลากคอมแอร์ ระบบแอร์ในรถยนต์ก็จะหยุดทำงาน (คอมแอร์ไม่หมุนหรือหมุนฟรีแม้ว่าคลัตช์จะจับที่หน้าคอม) หรือพูดง่ายๆ ว่าสายพานลื่น สาเหตุที่ทำให้สายพานลื่นก็มีด้วยกันหลายสาเหตุเช่สายพานหย่อนอาจจะเกิดจากสภาพการใช้งาน(ยืดยาว) จำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับตั้งหรือเปลี่ยนใหม่ รอกปรับตั้งสายพานหมดสภาพในการทำงาน เครื่องยนต์ไม่สมบูรณ์รอบเครื่องยนต์ต่ำเกินไปจนไม่มีแรงไปฉุดคอมแอร์ แต่ในหลายๆ ครั้งที่สายพานมีสภาพที่ดีพอแต่ก็ไม่สามารถที่จะฉุดคอมแอร์ให้ทำงานได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการที่สายพานสกปรก เปื้อนน้ำมัน จารบี หรือถูกน้ำ โดยเฉพาะแบบสายพานเส้นเดียวที่ใช้ในขณะลุยน้ำฝ่าฝน
น้ำจากฟ้าหรือน้ำจากถนนถ้าหลุดลอดเข้าไปพบกับสายพานในขณะที่ออกแรงฉุดคอมแอร์อย่างเต็มที่ก็จะทำให้สายพานที่เปียกน้ำนั้นลื่นจากมูเล่ย์ของหน้าคลัตช์ของคอมแอร์ แอร์ก็จะถูกตัดการทำงานโดยที่ส่วนประกอบหรือระบบควบคุมแอร์ต่างๆ ยังทำงานเป็นปกติ แอร์ตัดเมื่อถูกน้ำจึงเกิดขึ้นบ่อยๆ กับเครื่องยนต์ที่ใช้สายพานเส้นเดียว และสาเหตุนี้ก็เป็นเรื่องหงุดหงิดรำคาญใจของผู้ใช้รถและเป็นเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้าของช่างเพราะเมื่อขับรถเข้าหาช่างสายพานก็จะแห้งแล้วแอร์ทำงานแล้ว จึงตรวจหาสาเหตุไม่พบ ช่างฟัน ก็มักจะหาเรื่องเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ไปเรื่อย และเมื่อถูกน้ำถูกฝนอีกอาการก็กลับคืนมาดังเดิม
การป้องกัน สายพานลื่น จากเจ้าของรถก็ทำได้ไม่ยากใช้น้ำยาป้องกันความชื้นฉีดพ่นให้ทั่วสายพาน ก็จะป้องกันสายพานลื่นได้ในระดับหนึ่ง เมื่อใดที่เจอฝนเจอน้ำบนถนนแล้วคอมแอร์ไม่ทำงาน (แอร์ไม่เย็น) ช่วยเหลือตนเองได้ง่ายๆ โดยการดับเครื่องยนต์แล้วสตาร์ทเครื่องใหม่อีกครั้งอาการสายพานลื่นจากการเปียกน้ำก็จะหายไป แอร์ตัดอีกก็ดับเครื่องสตาร์ทใหม่ อีกครั้งหรือหลายๆ ครั้งก็ไม่มีผลเสียอะไร จนเมื่อพ้นน้ำหมดฝนแล้วระบบแอร์ก็จะกลับมาทำงานอย่างเดิม