ไลฟ์สไตล์

เขตปลอดบุหรี่100%ขอร้อง!สิงห์อมควันหลบไป

เขตปลอดบุหรี่100%ขอร้อง!สิงห์อมควันหลบไป

01 ก.ค. 2553

“แต่ก่อนเวลาเจอคนสูบบุหรี่ ต้องคอยเดินหลบ ซึ่งเป็นสิ่งที่แย่มากๆ ทำไมคนที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ต้องมาคอยหลบ แทนที่จะเป็นคนที่สูบบุหรี่ต้องหลบ จึงเชื่อว่าหากมีการกำหนดสถานที่ปลอดบุหรี่ 100%

จะช่วยคุ้มครองผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ให้ไม่ต้องสูดควันมือสองได้ในระดับหนึ่ง” น้องมายด์ วนิสา พัดศรี ปี 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)เผยความคับข้องใจที่เกิดขึ้นเมื่อต้องพบเจอคนสูบบุหรี่ เพราะเธอเป็นคนหนึ่งที่แพ้ควันบุหรี่

 “เขตปลอดบุหรี่ 100%” เกิดขึ้นจากการที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ ฉบับที่ 19 มีผลบังคับใช้วันแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 โดยกำหนดสถานที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.สถานที่ที่ห้ามสูบบุหรี่ 100% ทั้งในและนอกอาคาร 2.สถานที่ที่ห้ามสูบเฉพาะในอาคาร 3.สถานที่ห้ามสูบในอาคารและสูบนอกอาคารได้เฉพาะพื้นที่ที่จัดให้ และ 4.สถานที่ที่อนุญาตให้สูบในอาคารได้เฉพาะพื้นที่จัดให้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

 ทว่า น้องมายด์ ตั้งคำถามว่า เหตุใดมหาวิทยาลัยจึงถูกจัดไว้ให้เป็นสถานที่ในกลุ่ม 2 ที่อนุโลมให้มีการสูบบุหรี่ภายนอกอาคารในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ได้ ทั้งที่เป็นสถานศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% ไม่ควรมีพื้นที่สำหรับการสูบบุหรี่ และในความเป็นจริงไม่ว่าจะพื้นที่ใดในมหาวิทยาลัยก็ล้วนแล้วแต่มีนักศึกษาที่ไม่สูบบุหรี่อยู่ทั้งสิ้น

 อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่าการจัดพื้นที่เฉพาะก็ดีกว่าการปล่อยให้สิงห์อมควันเดินสูบบุหรี่ได้ตามอำเภอใจ อย่างน้อยคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็มีสิทธิ์เลือกที่จะไม่เข้าไปในบริเวณนั้น เป็นการป้องกันตนเองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนพื้นที่ในมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมจัดเป็นโซนนิ่งสูบบุหรี่ คือ บริเวณใกล้ห้องน้ำ เพราะไกลผู้อื่น ไม่มีคนเดินพลุกพล่าน โอกาสที่จะทำให้ผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันมือสองมีน้อย

 ขณะที่ น้องเฟิร์ส วิชญ์พล บัญชาวชิระชัย ปี 1 คณะศิลปศาสตร์ มธ. เช่นกัน กลับเห็นต่างและบอกว่า การไม่กำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% แต่อนุญาตให้จัดพื้นที่สูบได้เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เนื่องจากต้องยอมรับความจริงว่านิสิตนักศึกษาจำนวนมากสูบบุหรี่ หากมีกฎระเบียบที่เป็นการห้ามเด็ดขาดเกรงจะยิ่งเป็นการยุให้มีการฝ่าฝืน เพราะที่ผ่านมาประสบการณ์ส่วนตัวจากการที่เคยบอกให้เพื่อนที่สูบบุหรี่ไปสูบไกลๆ กลับได้รับคำตอบว่าให้เราไปที่อื่นแทน การจัดพื้นที่เฉพาะจึงเป็นการแยกผู้ที่สูบออกจากผู้ที่ไม่สูบได้ระดับหนึ่ง ทำให้สิงห์อมควันดมควันบุหรี่ในหมู่พวกเดียวกันแทนการปล่อยควันให้คนอื่นสูดดม

 น้องแมน(นามสมมติ) นักศึกษาปี 4 คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) หนึ่งในสิงห์อมควันกล่าวว่า เริ่มต้นสูบบุหรี่สมัยที่เรียนอยู่ชั้นม.4 เพราะอยากลองและคิดว่าไม่ติด จึงไปซื้อบุหรี่มาสูบ ซึ่งสมัยเรียนอยู่โรงเรียนแอบสูบบริเวณห้องน้ำ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยจะสูบตรงบริเวณไหนก็ได้ แม้จะประกาศห้ามสูบบุหรี่ภายในมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีการตรวจตราเข้มงวด นักศึกษาจำนวนมากจึงยังคงสูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัย

 น้องแมน ยอมรับว่า การกำหนดพื้นที่สูบบุหรี่เฉพาะจุด เป็นการจำกัดพื้นที่ของผู้สูบบุหรี่ ทำให้การสูบติดๆ ขัดๆ และไม่อยากเดินไปสูบ หากอยู่ในบริเวณที่ไกลจากโซนสูบบุหรี่ ส่งผลให้จำนวนการสูบลดลงและการได้รับกลิ่นของบุหรี่น้อย อาจนำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่ได้ในที่สุด เพราะไม่มีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้อยากสูบ

 “ระดับมหาวิทยาลัยยอมรับการสูบบุหรี่ของนิสิตนักศึกษาได้มากกว่าระดับชั้นมัธยม การเข้มงวดตรวจตราแทบจะไม่มี การจะไม่ให้ควันบุหรี่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นจึงเป็นเรื่องจิตสำนึกส่วนบุคคลของผู้ที่สูบบุหรี่ ส่วนตัวจะพยายามหนีไปสูบในบริเวณที่ลับตาคน เพื่อไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน และผู้สูบบุหรี่จำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากก่อความวุ่นวายให้ใคร แต่ไม่รู้จะไปสูบที่ไหนเพราะไม่มีพื้นที่เฉพาะ เมื่อมีการกำหนดโซนก็สามารถหลบไปสูบในบริเวณนั้นๆ ได้” น้องแมนกล่าว

 เชื่อแน่ว่าการกำหนดสถานที่ปลอดบุหรี่หรือเขตปลอดบุหรี่ จะช่วยคุ้มครองสุขภาพของคนไทยกว่า 40 ล้านคนที่ไม่สูบบุหรี่ได้ เหนืออื่นใด แม้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ แต่หากไร้ซึ่งการบังคับใช้อย่างจริงจัง กฎหมายก็คงเป็นได้เพียงเสือกระดาษ

 0 พวงชมพู ประเสริฐ 0

สถานที่ห้ามสูบบุหรี่ ทั้งในและนอกอาคาร

สถานศึกษา โรงพยาบาล/สถานพยาบาล ร้านขายยา สถานประกอบการกิจการนวดไทยหรือแผนโบราณ สปาเพื่อสุขภาพ อุทยานการเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์

ศาสนสถาน สนามกีฬา ธนาคาร/สถาบันการเงิน ร้านค้า สถานบริการและสถานบันเทิง ยานพาหนะสาธารณะ ที่พักผู้โดยสาร ป้ายรถประจำทาง

สถานที่ห้ามสูบเฉพาะในอาคาร

สนามกอล์ฟ สถานที่ทำงานเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม อุทยานประวัติศาสตร์ โบราณสถาน สถานีขนส่งผู้โดยสารทางบกทุกประเภท ท่าเรือ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานภายในประเทศ

สถานที่ห้ามสูบในอาคารแต่สูบในพื้นที่เฉพาะนอกอาคารได้

สถานที่ราชการ ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส มหาวิทยาลัย สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นไป

สถานที่อนุญาตให้สูบในอาคารได้เฉพาะพื้นที่จัดให้

สนามบินสุวรรณภูมิ ในพื้นที่ให้บริการระหว่างประเทศเท่านั้น