ไลฟ์สไตล์

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย"มจพ."คว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่2

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย"มจพ."คว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่2

24 มิ.ย. 2553

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทย iRAP_PRO ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือสร้างชื่อก้องโลกอีกครั้ง ครองแชมป์โลกติดต่อกัน 2 ปีซ้อนรักษาแชมป์โลกให้ประเทศไทยได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 5 ในการแข่งขัน World Robocup Rescue 2010 ที่ประเทศสิงคโปร์ ต่างชาติยกนิ้วชื่นชมความสามารถเย

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2553 นางวีนัส  อัศวสิทธิถาวร  ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทีมเยาวชนไทย iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยได้อย่างสมศักดิ์ศรีเป็นปีที่ 2 นับเป็นการรักษาแชมป์โลกให้ประเทศไทยได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 5 ในเวทีหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก  โดย iRAP_PRO  ทำคะแนนนำตลอดทุกรอบการแข่งขัน รวม 740 คะแนน 

ส่วนทีม BART LAB Rescue จากมหาวิทยาลัยมหิดล และทีม Success มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา มีคะแนนรวมเท่ากัน 530 คะแนน ครองอันดับ 2 ร่วมกัน ทีม CASualty จากประเทศออสเตรเลีย ตามมาเป็นอันดับ 4  พร้อมคว้ารางวัลพิเศษหุ่นยนต์อัตโนมัติยอดเยี่ยม และหุ่นยนต์บังคับมือยอดเยี่ยม  สำหรับทีม PELICAN UNITED จากประเทศญี่ปุ่น ครองอันดับ 5 พร้อมคว้ารางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม เอสซีจีรู้สึกยินดีและชื่นชมในความสามารถของเด็กไทยอย่างยิ่ง ความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ต่างชาติทึ่งและยอมรับในความสามารถของเยาวชนไทยมากขึ้น

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์  ศุทธากรณ์  นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  การแข่งขันรอบชิงขนะเลิศวันนี้แสดงถึงศักยภาพของเยาวชนไทยอย่างแท้จริง  สิ่งสำคัญที่ทำให้เยาวชนไทยทั้ง 3 ทีม ทำคะแนนอยู่ในอันดับต้นๆ และสามารถเอาชนะทีมต่างชาติได้ คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันครั้งนี้อย่างเต็มที่ การเป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่การรักษาแชมป์โลกสมัยที่ 5 เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า เพราะคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ มีความสามารถและความพร้อมสูง

ทั้งยังเป็นประเทศผู้นำเทคโนโลยี เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และอิหร่าน  และทีมเหล่านี้ได้ให้ความสนใจบันทึกภาพและข้อมูลทีมไทยเพื่อนำไปศึกษาด้วย ทางสมาคมฯ รู้สึกภูมิใจในความสามารถเด็กไทยอย่างมาก และจะต่อยอดการพัฒนาหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานด้านต่างๆ ในอนาคตต่อไป

นายคฑาวุฒิ อุชชิน หรือน้องโฟม หัวหน้าทีม iRAP_PRO นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจหลังได้รับชัยชนะว่า พวกเราทุ่มเทและเตรียมความพร้อมก่อนแข่งขันมากกว่า 6 เดือน โดยทีมงานได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันเป็นอย่างดี ทำให้สามารถทำงานภายในเวลาอันสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผมทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหุ่นยนต์ ความยากอยู่ที่เราไม่สามารถมองเห็นหุ่นยนต์โดยตรง ต้องมองจากกล้องซึ่งมีความคลาดเคลื่อนสูง แต่เราได้ฝึกซ้อมอย่างจริงจังและสม่ำเสมอจึงทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ การแข่งขันครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังชัยชนะเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน และความรู้เพิ่มเติมที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกับทีมต่างชาติ  หลังจากนี้ก็จะมีรุ่นน้องมาสานต่อองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถถนะหุ่นยนต์ให้ดีและมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้  World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์เตะฟุตบอล (RoboCup Soccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue)  หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior)  โดยปีนี้ การแข่งขัน World RoboCup 2010  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 -  24 มิถุนายน 2553  ที่ประเทศสิงคโปร์  มีผู้สมัครเข้าแข่งขันรวมทุกประเภทกว่า 3,000 คน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก   และมีผู้เข้าแข่งขันในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย 27 ทีม  จาก 12 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย อิหร่าน จีน เม็กซิโก มาเลเซีย สิงคโปร์ ปากีสถาน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทย โดยเอสซีจีสนับสนุน 2 ทีมเยาวชนไทย ได้แก่ ทีม BART LAB Rescue มหาวิทยาลัยมหิดล (แชมป์ประเทศไทย ปี 2552) และทีม iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (แชมป์ประเทศไทย ปี 2551 และแชมป์โลก ปี 2552)

Thailand Rescue Robot Championship โครงการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม ที่เอสซีจีริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547 มีเป้าหมายในการสนับสนุน และส่งเสริมให้เยาวชนไทยพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ  ที่ผ่านมาเอสซีจีได้สนับสนุนทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมแข่งขันระดับโลกมาโดยตลอด และตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาได้ถึง 4 สมัยซ้อน