ไลฟ์สไตล์

แพทยสภาเสนอร่างกม.แยก"ขรก.สธ."จากกพ.

แพทยสภาเสนอร่างกม.แยก"ขรก.สธ."จากกพ.

20 มิ.ย. 2553

"แพทยสภา” เดินหน้าเสนอร่าง กม. แยกข้าราชการ สธ. ออกจาก กพ. คาดรวบรวมรายชื่อครบภายใน 1 เดือน พร้อมให้ยุบ สปสช.เป็นกรมสังกัด สธ. ขณะที่ “ รองปลัด สธ. ” ขอเวลาศึกษาผลดี-ผลเสียก่อน เตรียมเชิญเชิญ ครู – อบต.ให้ข้อมูลเปรียบเทียบ ขณะที่ “ รองเลขาสปสช. ” ชี้ ยุบ

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ กรรมการแพทยสภา เปิดเผยถึงผลสรุปการประชุมระดมความเห็นเรื่อง “ การแยกข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจาก กพ. ” ซึ่งมีผู้บริหารโรงพยาบาล แพทย์ เจ้าหน้าที่ เข้าร่วมกว่า 1,000 คนว่า ผู้เข้ารวมประชุมต่างเห็นด้วยกับการแยกข้าราชการด้านสาธารณสุข แยกออกจาก กพ. เพื่อให้การบริหารกำลังคนในระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพมากขึ้น   ภายหลังจากที่ ครม. มีมติให้สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จำกัดและลดจำนวนข้าราชการในระบบลง สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษาอย่างทั่วถึง ส่งผลกระทบเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร เนื่องจากไม่มีตำแหน่งบรรจุ ทำให้บางส่วนเลือกที่จะลาออกจากระบบไป ทำให้บุคลากรที่เหลือต้องแบบรับภาระ จนกระทั่งโรงพยาบาลหลายแห่งต้องนำเงินบำรุงมาจ่ายค่าตอบแทนเพื่อจ้างบุคลากรเพิ่มแทนเพื่อแก้ปัญหา   ซึ่งขณะนี้ได้มีการรวบรวมรายชื่ออย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. ...   ตามกรอบรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ทางคณะผู้จัดการประชุมยังได้ทำเอกสารสรุปผลการประชุมในครั้งนี้ โดยระบุว่า จะทำการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ค. นี้ และจะเข้ายื่นต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 1 ส.ค. ต่อไป นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ที่ประชุมมีความเห็นให้มีการยุบ สปสช. เป็นกรมและให้กลับมาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดิม เพราะหลังมีการแยกหน่วยงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งในด้านการบริหารและงบประมาณ

 นพ.เสรี   หงษ์หยก   รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข   ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาข้อดีข้อเสียของแนวทางการดำเนินการแยกข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข   ออกจาก กพ. กล่าวว่า ตนได้รับมอบจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้มาศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะประกอบผู้แทนจากสายอาชีพต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ชมรมต่างๆ   สาธารณสุขอำเภอ นอกจากนี้ยังจะเชิญผู้แทนจากหน่วยงานซึ่งออกจากราชการไปแล้วมาร่วม นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( กพ. ) คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก . ถ .) คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก . ค . ศ.) ร่วม เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบด้าน   ดูจากตัวอย่างของข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้แยกออกจาก กพ.ไปแล้ว เช่น ครู   องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร สามารถแก้ปัญหาบุคลากรได้หรือไม่   โดยนำมาเปรียบเทียบกับข้อจำกัดการอยู่ภายใต้ กพ.
 
 ส่วนที่มีการเสนอให้ สปสช. เป็นกรมและเข้าสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น นพ.เสรี กล่าวว่า ไม่ทราบเจตนาของผู้เสนอ แต่ส่วนตัวมีความเห็นว่าเป็นเรื่องของกฎหมาย   ต้องดูข้อดีข้อเสีย   ซึ่งจุดประสงค์แรกที่แยก สปสช. ออกจากกระทรวงสาธารณสุขก็เพื่อเกิดระบบผู้ซื้อบริการ   และผู้ให้บริการ   จึงต้องดูว่ามีการทำตามวัตถุประสงค์และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่สังคมต้องพิจารณา  

 ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ข้อเสนอที่ให้มีการยุบ สปสช.เป็นกรมอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมามักมีกระแสที่ไม่เห็นด้วยกับบทบาท สปสช. ตั้งแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว ซึ่ง ระบบบริการสาธารณสุขเดิมเป็นการรวมศูนย์ในการจัดบริการให้ประชาชน โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อให้อำนาจต่อรองแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการเช่นเดียวกับต่างประเทศ โดยแยกผู้ซื้อและผู้ขายบริการจึงได้แยกเป็น สปสช. เพื่อให้เป็นผู้ซื้อบริการจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการแยกระบบนี้ย่อมมีผลกระทบเกิดขึ้นทั้งในเรื่องของใจ การบริหารและงบประมาณ

 นพ.ประทีป กล่าวว่า ก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กระทรวงสาธารณสุขมีเงินบำรุงโรงพยาบาล 20,000 ล้านบาท แต่ในปี 2552 เงินบำรุงโรงพยาบาลเพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารายได้ของโรงพยาบาลยังเต็มอยู่ เงินบำรุงโรงพยาบาลไม่ได้ลดลง แต่หลังจากปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขมีการเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรในระบบสาธารณสุขทั้งหมด ไม่แต่เฉพาะพื้นที่ห่างไกล จึงเกิดปัญหางบประมาณเกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรแก้ไขให้ตรงจุด

 “การที่จะให้ สปสช. กลับไปสังกัดกระทรวงเช่นเดิมนั้น นอกจากถาม สปสช. และ สธ. แล้ว ยังต้องถามประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษีว่าต้องการให้ระบบสาธารณสุขกลับไปเป็นแบบเดิมหรือไม่ และที่ผ่านมาหลังจากที่ปรับระบบแล้ว ได้รับบริการที่ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้หากมีปัญหาต้องแก้ที่ปัญหาไม่ใช่ที่หลักการ ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ทั้งนี้ผลที่จะเกิดขึ้นหาก สปสช. กลับไปเป็นกรม จะทำให้การพัฒนางานบริการใหม่ๆ ที่ให้ประชาชนจะหายไป และอาจกระทบต่อประสิทธิภาพการให้บริการรักษาโรค เพราะต้องยอมรับว่า ในกลุ่มโรครักษายาก เช่น มะเร็ง หัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง ที่ผ่านมาสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาจำนวนมาก