
ปั้น100 โปรแกรมเมอร์ไทยส่งออกซอฟต์แวร์เดินตามรอยอินเดีย
เชื่อว่าผู้อ่านคงเคยได้ยินชื่อเสียงของซิลิคอน วัลเลย์ เมืองไอทีของสหรัฐ และเป็นแหล่งผลิตซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์รายใหญ่ของโลก บริษัทไอทีมูลค่ามหาศาลส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่นี่ หรือไม่ก็มีสำนักงานสาขาอยู่ที่นี่ อย่างกูเกิ้ล, อีเบย์, ทรีคอม, ซันไมโครซิสเอ็ม, ศูนย์วิจ
ที่อินเดียก็อาศัยโมเดลเดียวกันเนรมิต"บังกาลอร์" ให้เป็นเมืองไอทีผลิตโปรแกรมเมอร์รับจ้างผลิตจนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศอินเดีย และมาเลเซียเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทยก็มีเมืองบุตราจายา เมืองราชการของมาเลเซีย คนไทยรู้จักกันในชื่อเปดัง เบซาร์
เมืองไทยเราก็มีสวนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เหมือนกันแต่จะเทียบชั้นบังกาลอร์ และบุตราจายาได้แค่ไหนคงต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ที่แน่ๆ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เตรียมปั้น 100 โปรแกรมเมอร์ชาวไทยนำร่องฝ่าด่านมาตรฐานนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับโลก เพื่อส่งซอฟต์แวร์ไทยบุกตลาดโลกเสียที
ดร.สุพัทธ์พู่ผกา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี/สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก และนับเป็นกลไกสำคัญหากต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมผลิตซอฟต์แวร์ส่งออก หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อภารกิจสำคัญนี้คือ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ก หน่วยงานภายใต้ทีเอ็มซี
ปีแรกตั้งเป้าผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์100 คนที่ผ่านการรับรองที่เรียกว่า พีเอสพี ( Personal Software Process :PSP) ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านซอฟต์แวร์ของCMMI ที่กำหนดโดยอเมริกา โดยเฉพาะนักพัฒนาโปรแกรมจากบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กให้พัฒนาศักยภาพตนเอง โดย สวทช.ยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบรับรองมาตรฐานของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลอน
"มูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์ทั่วโลกอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท ศักยภาพส่งออกซอฟต์แวร์ของไทยมีเพียง 4,000 ล้านบาท หากเราสามารถพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ คาดว่าจะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นประเทศส่งออกซอฟต์แวร์ได้ไม่แพ้ประเทศอินเดีย" รอง ผอ.ทีเอ็มซีตั้งความหวังไว้เลิศหรู
หากเป็นไปตามแผนโปรแกรมเมอร์ทั้ง 100 คน ที่ผ่านเกณฑ์พีเอสพีจะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ไปยังนักพัฒนาซอฟต์แวร์หน้าใหม่ 1,000 คน ภายใน 5 ปี โดยผ่านกลไกการสนับสนุนจากภาคมหาวิทยาลัย โดยนำร่องที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นแห่งแรก ก่อนจะขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่นต่อไป
ดร.สุรเดชจิตประไพกุลศาล อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ตลาดโลกมีความต้องการซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่สามารถประยุกต์ใช้ในธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมถึงงานวิเคราะห์ด้านสุขภาพเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง
ซอฟต์แวร์กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับโลกในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะด้านสุขภาพ การพัฒนาอุปกรณ์ขนาดพกพา ที่ต้องอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการควบคุม ไม่เว้นแม้แต่ภาคบริการ เช่น ระบบจัดการสินค้าในห้างค้าปลีก และภาคอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ สิ่งทอ ล้วนต้องอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยประมวลผลทั้งสิ้น
"ส่วนตัวมองว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยมีความสามารถสูงกว่าที่คนไทยด้วยกันมอง หากเทียบในระดับอาเซียน เราเป็นรองแค่สิงคโปร์และมาเลเซีย แต่ปัญหาของการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกนั้น เราต้องสร้างคนให้ผ่านมาตรฐานสากลก่อน" ดร.สุรเดชกล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่กว่า1,200 บริษัท แต่ที่ผ่านการรับรองคุณภาพมีอยู่เพียง 27 บริษัท ทำให้ความสามารถในการส่งออกของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยยังไม่สดใสเท่าที่ควร
แต่ถ้าซอฟต์แวร์พาร์กสามารถพัฒนา"ทุนมนุษย์" ได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่รับงาน และผลิตงานป้อนโลกดิจิทัลมูลค่ามหาศาลได้ไม่แพ้อุตสาหกรรมอื่น
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา