
ค่ายนักธรณีวิทยา"เชฟรอน"แนะเยาวชน"รู้ลึก-รักษ์ผืนดิน"
"เสน่ห์ของอาชีพนักธรณีวิทยา คือความมีอิสระทางความคิด มีพื้นที่ในการทำงานที่เป็นอิสระ ใต้ดินเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใต้บ้าง มีแต่นักธรณีวิทยาเท่านั้นที่รู้และเข้าใจแผ่นดิน มันจึงเป็นความมหัศจรรย์ของอาชีพนี้"
รศ.ดร.พิษณุ วงศ์พรชัย อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับน้องๆ ที่จะมาเข้าร่วมค่ายกิจกรรมธรณีวิทยา ครั้งที่ 5 ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ร่วมกับภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดขึ้น เพื่อให้ความรู้ความใจและความสำคัญของวิชาธรณีวิทยา กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา
โดยในปีนี้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการค่ายธรณีวิทยาจำนวน 28 คน จาก 9 โรงเรียนได้แก่ เตรียมอุดมศึกษา เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สามเสนวิทยาลัย มหิดลวิทยานุสรณ์ ขอนแก่นวิทยายน ยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ บุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง ชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี และเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช
รศ.ดร.พิษณุ อธิบายว่า อาชีพนักธรณีมีการพูดถึงอย่างแพร่หลายในประเทศไทยเมื่อครั้งที่เกิดสึนามิ เมื่อปี 2547 เพราะเป็นผู้มีบทบาทในการเข้ามาตอบปัญหาการเกิดสึนามิขึ้นในประเทศไทย แต่ความเข้าใจในตัวของวิชาธรณีวิทยาก็ยังมีไม่มาก การจัดค่ายครั้งนี้จึงเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจด้านธรณีวิทยา ให้เยาวชนมีความเข้าใจเห็นถึงความสำคัญของอาชีพนี้มากขึ้น
ภายในค่ายมีการจัดกิจกรรม ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี โดยในภาคทฤษฎีจะให้น้องๆ ได้เรียนรู้องค์ประกอบของแร่ หิน ชนิดของแร่ หิน โครงสร้างคุณสมบัติต่างๆ ของแร่ หิน การดูแผ่นที่ภาพถ่ายทางดาวเทียมและแผนที่ทางธรณีวิทยา ส่วนในภาคปฏิบัติ น้องๆ จะได้ลงพื้นที่ในการออกสำรวจประเภทของหิน ที่พบได้ที่ดอยคำ จ.เชียงใหม่ ในการทำกิจกรรมน้องๆ จะมีพี่ๆ ที่เป็นนักศึกษาภาควิชาธรณีวิทยาคอยดูแลและให้ความรู้
ทั้งนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่นิยมส่งเสริมให้ลูกเรียนวิศวกรรม แต่จริงๆ แล้ววิชาธรณีวิทยาก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะวิศวกรจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยความสามารถของนักธรณีวิทยาในการสำรวจค้นหาแหล่งทรัพยากร เช่นเดียวกัน นักธรณีวิทยาที่ต้องใช้ความสามารถของวิศวกรในการที่จะนำทรัพยากรที่ค้นพบขึ้นมาประยุกต์ใช้
เช่นนี้แล้วทั้งนักธรณีวิทยาและวิศวกรจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน แต่คนส่วนมากจะเห็นบทบาทของวิศวกรมากกว่านักธรณี เพราะงานของนักธรณีส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานเบื้องหลัง ตัวอย่างเช่นในการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินจำเป็นต้องให้นักธรณีวิทยาสำรวจโครงสร้างใต้ดินวางแผนการขุดเจาะ ส่วนวิศวกรก็มีหน้าที่ลงสร้างสรรค์ให้เป็นรูปร่าง
"น้องขวัญ" พรรษา แสงตะวัน นักเรียนภาคธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 21 ปี พี่อาสาดูแลน้อง เล่าว่า เคยมาเข้าค่ายกับเชฟรอนเมื่อ 3 ปีก่อน และทำให้ได้เรียนรู้และรู้จักภาควิชาธรณีวิทยามากขึ้น จึงตัดสินใจเรียนในภาควิชานี้ และได้รับทุนการศึกษาจากเชฟรอน จึงมาเป็นพี่สตาฟฟ์ให้ความรู้น้องๆ เพื่อให้น้องๆ ได้เข้าใจเกี่ยวกับธรณีวิทยามากขึ้น เป็นการเพิ่มจำนวนนักธรณีวิทยาที่ยังขาดแคลนอยู่ในประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย
"น้องซอฟ" ศุภกิจ บริบูรณ์วัฒน์ อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน บอกว่า สนุกและได้ความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยามากขึ้น ได้รู้ว่าจริงๆ แล้ววิชาธรณีวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับโลก สสารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของโลกรวมทั้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในโลก วิธีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ยังได้ออกไปลองสำรวจเก็บตัวอย่างหินในสถานที่จริงที่ดอยคำ จ.เชียงใหม่ และจากการมาเข้าค่ายครั้งนี้ จึงทำให้รู้สึกสนใจที่จะเลือกเรียนวิชาธรณีวิทยาในระดับปริญญาตรีแน่นอน
การได้สัมผัสและเรียนรู้ลงมือปฏิบัติอย่างแท้จริง ถึงจะเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ที่แท้ นั่นคือจุดประสงค์หลักของการจัดค่ายในครั้งนี้ และนำไปสู่การต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นของเยาวชนไทยในอนาคตนั่นเอง
0 อทิตยา เกษวิยะการ 0