ไลฟ์สไตล์

4ม.เอกชนชื่อดังแนะเรียนสิ่งที่ชอบปั้นบัณฑิตคุณภาพ-ไม่ตกงาน

4ม.เอกชนชื่อดังแนะเรียนสิ่งที่ชอบปั้นบัณฑิตคุณภาพ-ไม่ตกงาน

25 พ.ค. 2553

บรรยากาศใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม-น้ำตาแห่งความยินดี-เสียใจของน้องๆ วัยกระโปรงบาน-ขาสั้นเวียนมาอีกคราหลังรู้ผลแอดมิชชั่นส์!! แต่เหนืออื่นใด "แอดมิชชั่นส์ย่อมไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต" เพราะยังมีเส้นทางการศึกษามากมายไว้ให้ก้าวเดินไปข้างหน้าทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน

 ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค) ฝากถึงน้องๆ ว่า ขอให้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและมีศักยภาพที่จะเรียนได้ ดูพื้นฐานครอบครัวและการทำงานในอนาคต แต่ละปีเอแบครับนักศึกษาปริญญาตรีปีละ 4,000-4,500 คน มีสาขาที่โดดเด่นเช่น คณะบริหารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งมีหลายวิชาเอกเช่น ภาษาอังกฤษธุรกิจ ภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ คณะนิเทศศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ฯลฯ และมีทุนให้แก่นักศึกษาปีละกว่า 500 ทุน

 "เด็กหลายคนตอนแรกที่เข้ามาอาจจะเลือกเรียนตามเพื่อน เมื่อเรียนไปแล้วไม่ถนัด ไม่ชอบก็รู้สึกเสียใจ ช่วงเรียนปี 1 เอแบคจึงให้เด็กเรียนวิชาพื้นฐานซึ่งแต่ละคณะมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เมื่อขึ้นปี 2  เด็กสามารถขอย้ายคณะหรือสาขาได้ มหาวิทยาลัยมุ่งผลิตบัณฑิตที่คิดเป็น ทำงานเป็นและรู้จักแก้ปัญหา   หลังจบออกไป 6 เดือนบัณฑิตมีงานทำ 75% และจากนั้น 1  ปีได้งานทำ 88% ที่เหลือเรียนต่อ"

 รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) แนะนำว่า เด็กๆ ควรดูว่าตัวเองชอบและอนาคตอยากทำงานอะไรแล้วประเมินถึงความสามารถของตนเองและฐานะทางการเงินของครอบครัว หรือวางแผนการเงินด้านการเรียน เช่น หากครอบครัวไม่พร้อม ก็กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)  ซึ่งมธบ.รับนักศึกษาปริญญาตรีปีละ 5,000 คนมีคณะยอดนิยมที่มีเด็กเข้าเรียนมากเช่น คณะนิติศาสตร์ ไอที  บัญชี บริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ และวิศวะ และแต่ละปีให้ทุนการศึกษา 200 ทุน

 "มธบ.เน้นสร้างสภาพแวดล้อม หลักสูตรและอาจารย์ที่มีคุณภาพเพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นคนดี มีคุณภาพเป็นคนที่คุณค่าของสังคม ผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่าแต่ละปีหลังเรียนจบบัณฑิตมีงานทำ 80% ที่เหลืออีก 20% เรียนต่อและทำธุรกิจส่วนตัว"

 รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) ฝากว่า ขอให้น้องๆ เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและมีวิชาติดตัว เช่น บัญชี วิศวะ กฎหมาย เพราะหากเรียนสาขาทั่วไป เช่น สังคม จิตวิทยา จะมีโอกาสตกงานได้ แต่ละปีมกค.รับนักศึกษาปริญญาตรี 5,500-6,000 คน ซึ่งมีคณะยอดนิยมเช่น บริหารธุรกิจ บัญชี มนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ วิศวะ และให้ทุนการศึกษาปีละ 300-400 ทุน

 "แต่ละปีหลังเรียนจบ 6 เดือนบัณฑิตของมกค.มีงานทำถึง 85% เมื่อผ่านไป 1 ปีมีงานทำเกือบ 100% จริงๆ แล้วมาตรฐานการศึกษาและสัดส่วนการมีงานทำของบัณฑิตมหาวิทยาลัยรัฐกับมหาวิทยาลัยเอกชนนั้นต่างกันไม่มาก ฉะนั้น ถ้าเลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนถูกวิชาชีพตรงกับความต้องการของตลาด ก็จะได้เงินเดือนสูง เช่น ภาษาญี่ปุ่นเพื่อการสื่อสารธุรกิจของมกค. เมื่อบัณฑิตจบไปได้เงินเดือน 25,000-30,000 บาท" 

 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต(มรส.) แนะว่า เด็กๆ ควรดูว่าถึงความชอบและเหมาะสมกับตัวเอง อย่าเอาเรื่องเงินมาเป็นตัวตั้งในการเลือกเรียนต้องถือว่า "การศึกษาคือการลงทุนของชีวิต" แม้บางสาขามีค่าเล่าเรียนสูง แต่เมื่อเรียนจบแล้วทำงานได้เงินเดือนสูงเช่น สถาบันการบินของม.รังสิต ซึ่งม.รังสิตได้ร่วมมือกับธนาคารไทยเครดิตให้นักศึกษากู้เงินค่าเล่าเรียน หรือกู้เงินกยศ.ก็ได้ แต่ละปีม.รังสิตรับนักศึกษาปริญญาตรีปีละ 7,000 คนเข้าเรียนใน 28 คณะ ซึ่งกลุ่มสาขาวิชาที่โดดเด่นมี 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพเช่น แพทย์  ทันตแพทย์ พยาบาล 2.กลุ่มศิลปะและการออกแบบเช่น สถาปัตย์ ศิลปะการออกแบบ และ 3.กลุ่มนิเทศศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและสถาบันการบิน อีกทั้งที่ผ่านมหาวิทยาลัยให้ทุนการศึกษาปีละกว่า 300 ทุน

 "ม.รังสิตเน้นผลิตบัณฑิตสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ เช่น แพทย์ พยาบาล ไอทีและผลิตอย่างมีคุณภาพ ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากสังคมโดยในปีแรกหลังเรียนจบบัณฑิตมีงานทำ 75%  ที่เหลือไปเรียนต่อ ทำธุรกิจส่วนตัว"

 ขณะนี้ ม.เอกชนหลายแห่งยังคงเปิดรับสมัครนักศึกษาปริญญาตรีไม่ว่าจะเป็นม.อัสสัมชัญรับสมัครถึงวันที่  27 พฤษภาคมนี้ โทร.0-2719-1919, www.au.edu ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ รับสมัครถึงวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ติดต่อโทร.0-2954-7300 ต่อ 111, www.dpu.ac.th ม.รังสิตรับสมัครถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ โทร.0-2791-5500-10, www.rsu.ac.th หรือ ม.หอการค้าไทย รับสมัครถึงวันที่ 31 พฤษภาคม โทร.0-2697-6000, 1141 กด 8822, www.utcc.ac.th  

 เชื่อว่าไม่ว่าจะเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัยเปิดก็ตาม หากน้องๆเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบและถนัดแล้วตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่...ความสำเร็จอนาคตคงไม่ไกลเกินเอื้อม !!

 0 ธรรมรัช กิจฉลอง 0