ไลฟ์สไตล์

หนึ่งศตวรรษคณะวิทย์จุฬาฯสู่แหล่งเรียนรู้"ศูนย์กลางอาเซียน"

หนึ่งศตวรรษคณะวิทย์จุฬาฯสู่แหล่งเรียนรู้"ศูนย์กลางอาเซียน"

24 พ.ค. 2553

8 ปีนับจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะก้าวสู่ปีที่ 100 ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เป็น 1 ใน 6 คณะที่เกิดขึ้นพร้อมกับก่อตั้งมหาวิทยาลัย ปัจจุบันคณะวิทย์ครบรอบปีที่ 92 ในวันที่ 30 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ

 ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว มีภาควิชาเปิดสอน 14 วิชา สาขาธรรมดา 18 สาขา และ 1 หลักสูตรนานาชาติ มีนิสิต 4,834 คน แบ่งเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี 2,788 คน นิสิตระดับปริญญาโท 1,580 คน และนิสิตปริญญาเอก 466 คน จำนวนอาจารย์ 421 คน และบุคลากรสายสนับสนุน 384 คน

 ศ.ดร.สุพจน์ ย้อนอดีตว่า คณะตั้งขึ้นครั้งแรกมีหม่อมเจ้าพูลเกษม เกษมศรี เป็นคณบดีคนแรก มีปัญหาหลายด้านทั้งขาดแคลนครูสอน หลักสูตรยังไม่เข้าที่ มีบัณฑิตรุ่นแรกเพียง 6 คน และรวมกับอักษรศาสตร์มาตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.2491 จึงแยกคณะอย่างถาวร คณะวิทยาศาสตร์ตอนนั้นมี 4 แผนกคือ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ทำการสอนวิชาต่างๆ ให้แก่นิสิตวิศวกรรมศาสตร์และนิสิตอักษรศาสตร์

 "คณะวิทย์ จุฬาฯ ได้ขยายและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก่อนที่จะก้าวสู่ปีที่ 100 คณะตั้งเป้าปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์สัตว์ ภาควิชาชีววิทยา เกี่ยวกับสายพันธุ์สัตว์ใหม่ๆ พิพิธภัณฑ์พืช พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาเรื่องหิน พิพิธภัณฑ์ภาพถ่าย กล้องถ่ายรูป และพิพิธภัณฑ์อัญมณี ตอนนี้มีการรวบรวมผลงานต่างๆ ไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างชัดเจน คาดว่าภายใน 2 ปี จะให้บริการแก่ประชาชนที่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นดั่งแหล่งเรียนรู้ของคนไทย"

 ศ.ดร.สุพจน์บอกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เน้นให้นักวิจัยคณะได้ทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตามภารกิจหน้าที่มหาวิทยาลัยในการรับใช้สังคม และโดดเด่นในเวทีโลกมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่ รวมถึงขยายการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย

 การขึ้นสู่เป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ รวมทั้งนโยบายทางการศึกษาในการเป็นศูนย์กลางการศึกษาภูมิภาคอาเซียน

 "คณะได้รับงบประมาณจากโครงการไทยเข้มแข็งสนับสนุนงานวิจัย ซึ่งทางคณะเน้นทำกิจกรรม 2 ประเด็นหลักได้แก่ ด้านนวัตกรรมอาหารครบวงจร โดยจัดตั้งโรงงานต้นแบบ 6 แห่ง นำสินค้าเกษตรของชาวบ้านมาดัดแปลง นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้สู่การส่งออก เพิ่มรายได้แก่ชุมชนและประเทศ ส่วนอีกด้าน คือ โรงงานต้นแบบผลิตสารพอลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ และโครงการพลังงานชีวภาพชีวมวล เป็นการศึกษาค้นคว้านำงานวิจัยสู่ชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์ของไทย"

 เพื่อก้าวสู่เป็นผู้นำทางวิชาการวิจัย คณะวิทย์ จุฬาฯ ยังเจรจาร่วมมือกับภาคเอกชน ตั้งห้องวิจัยและทดสอบอาหารปนเปื้อนเน้นการทำงานให้เกิดผลจริง รับมือกับวิกฤติโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในเรื่องของอาหาร น้ำ โรคร้อน พลังงาน และภัยพิบัติต่างๆ โดยให้อาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญ พัฒนาค้นคว้าวิจัยหาความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สามารถสร้างอาหาร ยารักษาโรค เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เป็นต้น เพื่อให้ประเทศสามารถสร้างอาหารเองได้ อีกทั้งจะจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครู นักเรียนในจังหวัดต่างๆ ให้เห็นคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ

 "ก้าวต่อไปของคณะวิทย์เน้นการพัฒนาบัณฑิต ขยายความรู้วิทยาศาสตร์สู่ประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในส่วนของประชาชนทั่วไป คณะจัดคลินิกเทคโนโลยีช่วยชาวบ้าน และร่วมพัฒนาห้องสมุดชุมชนให้เป็นแหล่งเผยแพร่หนังสือวิทยาศาสตร์ เพราะจริงๆ แล้วชาวบ้านชอบอ่านหนังสือ แต่ไม่มีหนังสือให้อ่าน เพื่อให้คนไทยมองทุกอย่างเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์"

 ส่วนการเรียนการสอนนิสิตนั้น คณบดีคนเก่ง บอกว่า ขณะนี้คณะมีอาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญ 400 คน จบปริญญาเอก 80 กว่าคน ส่วนที่เหลือกำลังศึกษาต่อในระดับ ป.เอก และจะพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงสอดแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นิสิต เพราะบัณฑิตนอกจากเก่ง แล้วต้องเป็นคนดี รู้จักช่วยเหลือสังคม และทำงานเป็นด้วย

 แม้คณะวิทย์ จุฬาฯ มีแนวทางในการพัฒนาบัณฑิตวิทยาศาสตร์ ทว่าปัจจุบันปัญหาทางด้านวิทยาศาสตร์มีมากมาย ศ.ดร.สุพจน์แนะทางออกว่า ปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ ต้องเริ่มแก้ตั้งแต่การพัฒนาครูในทุกระดับ มีการส่งเสริมเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องขาดแคลนครู เด็กไม่สนใจเรียนคณะวิทย์ รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนอบรมครู ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย มีอัตราการจ้างงานของเด็กเรียนคณะวิทย์อย่างชัดเจน เงินเดือนต้องสูงขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจ ไม่ใช่กระตุ้นให้เรียน แต่ไม่มีเป้าหมายชีวิตแก่เด็กว่าจบแล้วจะทำอาชีพอะไร และควรทำสื่อทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมเรื่องนี้

 จาก 1 ปี ก้าวสู่ปีที่ 100 คณะวิทย์ จุฬาฯ ศ. ดร.สุพจน์ บอกย้ำว่า ทุกก้าวที่เดินไปข้างหน้าของคณะวิทย์ จะไม่หยุดพัฒนาบัณฑิต บุคลากร งานวิจัย องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้คนไทยใส่รู้รักวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นการพัฒนาความเจริญเติบโตของคนในสังคม และประเทศ  สนใจติดต่อเยี่ยมชม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  โทร.0-2218-5000 หรือ www.sc.chula.ac.th

      0 ชุลีพร  อร่ามเนตร 0 รายงาน