
ครู เอกชนบุกศธ.ขอเงินวิทยฐานะ-ค่าครองชีพ
ครู ร.ร.เอกชน บุกกระทรวง ยื่นหนังสือถึง รมว.ศธ. เรียกร้องเงินประจำวิทยฐานะและเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ขณะที่ ครม.เห็นชอบในหลักการ พ.ร.บ.ร.ร.เอกชนฉบับปรับปรุง ให้ลูกจ้างรร.เอกชนอยู่ภายใต้กฎหมายประกันสังคม
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่ผ่านมา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ฉบับปรับปรุงแก้ไข ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่มีข้อท้วงติงบางประการ ศธ.จะต้องรับไปปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอีกครั้งก่อนให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
“ ครม.เห็นชอบตามที่ศธ.เสนอแก้ไขให้กิจการโรงเรียนเอกชนอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ให้ลูกจ้างโรงเรียนเอกชนอยู่ภายใต้กฎหมายประกันสังคม สามารถส่งเงินสบทบกองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและให้สิทธิ์ผู้ที่เคยส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสามารถส่งต่อเนื่องได้ อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานแรงงานได้มีข้อท้วงติง ในมาตรา 86/1 ที่กำหนดให้สิทธิผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติ มีสิทธิ์ที่จะเลือกไม่ส่งเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามพ.ร.บ.ร.ร.เอกชน พ.ศ. 2550 หรือจะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมก็ได้นั้น เป็นการเลือกปฏิบัติจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา และเห็นว่า หากผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของร.ร.นานาชาติ จะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ก็ควรได้รับการคุ้มครองเฉพาะในฐานะเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 หรือมาตรา 40 ของพ.ร.บ.ประกันสังคม แต่ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน นอกจากนั้นก.แรงงาน ยังเสนอให้บุคลากรของร.ร.เอกชนที่เคยเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. 2551 ควรได้รับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมด้วย “
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบกรณีการโอนกรรมสิทธิ์ครอบครองฯลฯ ที่ดิน ที่จะไม่บังคับให้ร.ร.ที่จัดตั้งก่อนพ.ร.บ.รร.เอกชน ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นนิติบุคคล อย่างไรก็ตามร.ร.ควรมีหลักฐานกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินเป็นระยะเวลาที่ชัดเจนและแน่นอนเพื่อยืนยันว่าสามารถจัดการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) และ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการให้ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) มีฐานะเทียบเท่าอธิบดีนั้นไม่สอดคล้องกับมติครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2542 ซึ่งกำหนดไว้ในแนวทางปฏิบัติในร่างกฎหมาย ไม่ควรกำหนดรายละเอียดการตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่ ควรกำหนดตำแหน่งไว้เป็นการตายตัวในกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 8.30 น.วันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนครูร.ร.เอกชนทั่วประเทศประมาณ 1,000 คน นำโดยนายยืนยง จิรัฏฐิติกาล ประธานผู้แทนครูโรงเรียนเอกชนในคณะกรรมการคุรุสภา มารวมตัวที่คุรุสภาเพื่อขอหนังสือถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้ครู ร.ร.เอกชนมีเงินประจำวิทยฐานะเช่นเดียวกับครูร.ร.รัฐ โดยขอให้ใช้เกณฑ์การประเมินเช่นเดียวกับครูภาครัฐ และเรียกร้องให้รัฐจัดเงินช่วนเหลือค่าครองชีพแก่ครูโรงเรียนเอกชนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 11,700 บาท จำนวน 89,816 คน ตั้งแต่ พ.ค.51 – กันยายน 52 รวมทั้งขอให้ปรับแก้ระเบียบว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลของสามี ภรรยา บุตร บิดา มารดา ได้ด้วย จากปัจจุบันที่ให้เบิกเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของเต้าตัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม รมว.ศธ. ติดภารกิจงานกดปุ่มโอนเงินเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ที่โรงเรียนศรีอยุธยา นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ ที่ปรึกษารัฐรมว.ศธ. พร้อมด้วยนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอน (สช.) จึงลงไปรับเรื่องแทน ก่อนผู้ชุมนุมจะสลายตัวไป