ไลฟ์สไตล์

ลุยป่ายูคาลิปตัสกับ "สยามฟอเรสทรี"ชู"เอชโฟร์ (H4)" ส่งเสริมปลูกที่อีสาน

ลุยป่ายูคาลิปตัสกับ "สยามฟอเรสทรี"ชู"เอชโฟร์ (H4)" ส่งเสริมปลูกที่อีสาน

09 พ.ค. 2553

การมุ่งส่งเสริมการปลูก "ยูคาลิปตัส" เป็นวัตถุดิบหลักในการป้อนโรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เปเปอร์ เพื่อผลิตเยื่อกระดาษ นับเป็นอีกก้าวของ "สยามฟอเรสทรี" ในเอสซีจี เปเปอร์ ภายใต้โครงการ "ยูคา คุ้มค่า" หวังให้เป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนและมั่นคงแก่เกษตรกรและเจ้าขอ

"ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้ตามไปดูงานวิจัยแปลงทดลองปลูกยูคาลัปตัสพันธุ์ดีของบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือเอสซีจี เปเปอร์ ผู้ผลิตไม้ยูคาลิปตัสและไม้เศรษฐกิจ ป้อนโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) โดยการนำของ คุณจุมพฎ ตัณมณี บอสใหญ่สยามฟอเรสทรี พร้อมเยี่ยมชมแปลงปลูกยูคาลิปตัสของเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการนำพันธุ์ไม้ชนิดนี้มาปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ในอนาคต ภายใต้โครงการ "ยูคา คุ้มค่า" โดยเน้นความคุ้มค่าที่เกษตรกรจะได้รับจากการปลูกยูคาลิปตัส 3 ประการด้วยกัน คือ คุ้มเงิน คุ้มที่ดิน และคุ้มเวลา

 "การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยูคาลิปตัสเราได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 เพราะยูคาลิปตัสเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว ดูแลจัดการง่าย มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ดี ลงทุนน้อย แต่ให้ผลตอบแทนสูงและคืนทุนได้เร็วกว่าการปลูกไม้ชนิดอื่น" จุมพฎ เผยระหว่างการแถลงข่าวโครงการ "ยูคา คุ้มค่า" ณ อาคารสำนักงานสยามฟอเรสทรี ภายในโรงงานผลิตเยื่อกระดาษบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ท้องที่ ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

 จุมพฎ ได้เน้นย้ำถึงหลักการ 3 คุ้ม โดยเริ่มจาก คุ้มเงิน เนื่องจากใช้เงินลงทุนต่ำ กล้าไม้มีราคาถูก มีทีมบริการดูแลในพื้นที่ส่งเสริมแบบครบวงจร ที่สำคัญมีการประกันรับซื้อคืนเมื่อถึงรอบตัดฟัน มีบริการวิเคราะห์การลงทุนและผลตอบแทนระยะยาว พร้อมจุดรับซื้อกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคและสามารถขายไม้ได้ทั้งต้น และเหลือเศษทิ้งในแปลง ส่วน คุ้มที่ดิน ยูคาลิปตัสสามารถปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่ เช่น ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ใด้ใช้ประโยชน์ หรือปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นได้ดี ช่วยเพิ่มรายได้ให้เจ้าของที่ดินได้เป็นอย่างดี สุดท้ายคือ คุ้มเวลา เพราะปลูกครั้งเดียวสามารถตัดฟันได้หลายรอบ โดยไม่ต้องลงทุนใหม่เหมือนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น

 นอกจากนั้นสยามฟอเรสทรียังมีบริการห้องปฏิบัติการทางปฐพีวิทยา หรือ ซอยล์ แล็บ ซึ่งให้บริการตรวจสอบดิน ตลอดจนให้คำแนะนำแก่เกษตรกรและเจ้าของที่ดินถึงวิธีการดูแลสภาพดิน ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันมีเกษตรกรและเจ้าของที่ดินอยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมของสยามฟอเรสทรีทั่วประเทศกว่า 5 หมื่นราย มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 1 ล้านไร่

 การหันมาปลูกยูคาลิปตัส จึงนับเป็นทางเลือกที่ดีของเกษตรกรในสภาพพื้นที่แห้งแล้งอย่างภาคอีสานกว่า 80% ของพื้นที่ภาคเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังปลูกร่วมกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด สับปะรดและมันสำปะหลัง ทั้งยังสามารถปลูกได้ดีบนคันนาเพื่อเป็นรายได้เสริมให้ชาวนาอีกทางหนึ่งด้วย

 "เราประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาสายพันธุ์ยูคาลิปตัส จากเดิมที่ปลูกด้วยเมล็ด แต่ขณะนี้เราสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเนื้อเยื่อโดยการผสมข้ามสายพันธุ์ หรือไฮบริด ซึ่งสายพันธุ์ที่นำมาส่งเสริมการปลูกในภาคอีสานจะเป็นไฮบริด 4 (H4) มีคุณสมบัติเด่นคือทนแล้งได้ดี น้ำหนักดีและเนื้อแน่น มีคุณภาพสูง ขณะนี้ในพื้นที่ภาคอีสานเรามีแปลงวิจัยทดลองยูคาลิปตัสอยู่ 36 แปลง ที่ ต.ดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง ก็เป็นหนึ่งในนั้นมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาดูงานของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ "บอสใหญ่สยามฟอเรสทรี เผย

 หลังฟังการสรุปผลการดำเนินงานของบริษัทภายใต้โครงการปลูกยูคา คุ้มค่า จากนั้นก็ลงพื้นที่ดูแปลงทดลองยูคาลิปตัวสายพันธุ์ไฮบริด 4 (H4) ซึ่งบริษัทได้นำมาทดลองปลูกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยสายพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง คาเมลดูเลมซิส (camaldulemsis) ซึ่งทนแล้งได้ดีกับยูโรปีลา(urophyla) มีคุณสมบัติเด่นเนื้อแน่น ให้น้ำหนักดี เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน

 "แปลงนี้มีเนื้อที่ 28 ไร่เศษ ทดลองปลูกอยู่ 72 สายพันธุ์ และ 80% เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ปลูกมา 5 ปีแล้ว เราเก็บข้อมูลทุกปี พบว่าสายพันธุ์เอชโฟร์ (H4) เติบโตได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ทั้งหมด เนื้อไม้แน่น ให้น้ำหนักดีมาก และขณะนี้เรากำลังพัฒนาสายพันธุ์เอช 8 (H8) ซึ่งจะนำมาส่งเสริมแก่เกษตรกรในอนาคตอีกด้วย" ธีระพงษ์ วนิชชากร เจ้าหน้าที่เทคนิค สยามฟอเรสทรี สาขาขอนแก่น ซึ่งรับผิดชอบแปลงทดลองวิจัยยูคาลิปตัสในพื้นที่ดังกล่าวเผย พร้อมย้ำว่า การปลูกนั้นจะใช้ระยะห่าง 3X3 เมตร หรือประมาณ 178-200 ต้นต่อไร่ ซึ่งเป็นระยะที่ยูคาลิปตัสเติบโตได้ดีและให้น้ำหนักดีด้วย โดยจะให้ผลผลิตอยู่ที่ 24-27 ตันต่อไร่ต่อรอบ ซึ่งสามารถตัดฟันได้ 3 รอบ หรือประมาณ 12 ปี จึงจะเปลี่ยนมาปลูกต้นใหม่ ส่วนราคารับซื้อจะอยู่ที่ตันละ 1,000-บาท ซึ่งเป็นราคาประกันที่บริษัททำไว้สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เกษตรกรรายใดที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0-4343-3355 ได้ตลอดเวลา

 ยูคาลิปตัส นับเป็นไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรภาคอีสาน หลังประสบผลสำเร็จในการทดลองวิจัยได้ผลผลิตที่คุ้มค่าและนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกันอย่างจริงจังและครบวงจร โดยสยามฟอเรสทรีในเครือเอสซีจี เปเปอร์ในขณะนี้


สุรัตน์ อัตตะ