
"กระตั้วแทงเสือ"วัดโตนดสื่อบันเทิงพื้นบ้านให้สาระความรู้
ขณะที่เด็กหลายคนอาศัยสื่อบันเทิงสมัยใหม่ เช่น ภาพยนตร์ ละคร เป็นพื้นที่ของการเรียน เล่น และผ่อนคลายความเครียด เด็กและครูโรงเรียนวัดโตนด แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีสื่อการแสดงพื้นบ้านอย่าง "กระตั้วแทงเสือ"
เป็นพื้นที่ของความบันเทิงที่ให้ทั้งสาระความรู้ เรื่องการแสดงแบบไทยโบราณ ถ่ายทอดวัฒนธรรมภาคกลางของไทย และเชื่อมความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ซึ่งเริ่มการแสดงมาตั้งแต่ปี 2547 ตามเทศกาล งานบุญ เช่น กฐิน ผ้าป่า งานบวช ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ล่าสุดแสดงในงานแฮปปี้ คิดส์ เฟสติวัล ที่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและบริษัท แปลน ฟอร์คิดส์ จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ขวัญนภา อินปอง หรือ ครูหญิง ผู้ดูแลการแสดงพื้นบ้านของนักเรียนโรงเรียนวัดโตนด เล่าว่า การแสดงกระตั้วแทงเสือเป็นการแสดงที่มีมาแต่ครั้งสมัยโบราณซึ่งเมื่อก่อนนิยมแสดงในวังให้เจ้านายดูเพื่อความบันเทิง ลักษณะการแสดงคล้ายละครรำ แต่เน้นเนื้อหาที่มีความขบขัน ไม่เน้นระเบียบ หลักการมากนัก สมัยก่อนนักแสดงต้องร้องสดและร่ายรำประกอบ แต่สมัยใหม่ คณะแสดงได้แทรกดนตรีเพื่อความสนุกสนานมากขึ้น
โดยมีตัวละครหลัก ได้แก่ นายพรานหรือเรียกกันว่า "บ้องตัน" เมียนายพราน และลูก 2 คน คือ เจ้าจุก กับเจ้าแกละ และเสือโคร่ง 3 ตัว เนื้อเรื่องย่อมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งในเมืองมีเหตุร้าย คือมีเสือออกมาอาละวาดกัดชาวบ้านจนบาดเจ็บและล้มตายไป เรื่องถึงหูท่านเจ้าเมือง จึงออกประกาศว่าถ้าใครมีความสามารถปราบเจ้าเสือร้ายได้จะมีรางวัลให้อย่างมหาศาล บ้องตันจึงอาสาไปปราบเจ้าเสือพร้อมกับเมียและลูก และปราบได้สำเร็จ
"เราไม่มีชมรม ไม่มีชั่วโมงภาคบังคับใดๆ แต่จะเชิญชวนเด็กๆ มาสอนนอกเวลาเรียน พวกเขามีสิทธิตัดสินใจเองว่าจะร่วมหรือไม่ก็ได้ ขณะนี้เด็กทุกคนมีทักษะความสามารถที่แตกต่างกัน บางคนมีพื้นฐานการแสดงโดยตรงจากพ่อแม่ และครอบครัว บางคนใช้ความรู้ด้านนาฏศิลป์ ดนตรี ที่ครูสอนในโรงเรียนเข้ามาร่วมแสดงด้วยความสมัครใจ เมื่อเราเห็นเราก็มีกำลังใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เขาอย่างเต็มที่" ครูหญิงเล่า
ปัจจุบันนักแสดงในคณะกว่า 30 ชีวิต มีอายุไม่เกิน 13 ปี และไม่ต่ำกว่า 8 ปี พวกเขาตั้งใจฝึกซ้อมและออกแสดงตามงานต่างๆ แม้ค่าตอบแทนที่ได้รับไม่ได้มากนัก แต่สีสันแห่งความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ และเสียงปรบมือจากผู้ชมที่เกิดขึ้นระหว่างการแสดง คือค่าตอบแทนที่กระตุ้นให้ทีมงานวัยกระเตาะยืนหยัดอนุรักษ์วัฒนธรรมอันงดงามนี้
"ทีแรกผมก็อายจนตัวเกร็ง เวลาขึ้นเวทีแสดงโชว์ แต่ตอนนี้เริ่มมั่นใจขึ้นแล้ว การแสดงบนเวทีที่มีคนดูเป็นร้อยไม่ทำให้ผมเขินอายอีกต่อไป แต่ถ้าผมทำได้ไม่เต็มร้อยนี่สิ น่าอายยิ่งกว่า ดังนั้นเมื่อมีคนมาดูมาให้กำลังใจ เราก็ต้องทำให้เต็มที่ จะมัวเขินอายไม่ได้เพราะคนดูจะไม่สนุก" "เต๊ะ" หรือ ด.ช.วิทวัส อาศองค์ นักแสดงพื้นบ้านวัย 9 ขวบ เรียนอยู่ชั้นป.3 ที่โตมากับครอบครัวนักแสดงกระตั้วแทงเสือคณะ "ขุนพลเจริญพร" กล่าว
เต๊ะ เล่าว่า พ่อสอนให้เขาเล่นดนตรี ทั้งฉาบ ฉิ่ง โทน ฝึกให้ร่ายรำมาตั้งแต่ 3 ขวบ จนชำนาญและปัจจุบันรับบทเป็น "พญาเสือโคร่ง" ตัวเอกผู้มีอำนาจและอิทธิฤทธิ์ที่ต่อสู้กับ "บ้องตัน" ด้วยกลยุทธ์ต่างๆมากมาย หลังจากนี้เขาตั้งใจไว้ว่าอยากจะเล่นเป็นตัว "บ้องตัน" เหมือนพี่ชาย ซึ่งถ้าฝึกซ้อมรำให้อ่อนช้อยได้ ตำแหน่งตัวละครเอกอย่าง "บ้องตัน" ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม
"เกมส์" สัชฌุกร เที่ยงบุญ บ้องตันน้อยชั้นป.5 และ "แคท" ธัญญารัตน์ วัฒนศิริ นักเรียนชั้นป.6 ผู้รับบทเป็นลูกสาว บอกว่า ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในคณะแสดงกระตั้วแทงเสือการแสดงพื้นบ้านที่หาดูได้ยากในปัจุบัน แคทยังบอกอีกว่าการได้แสดงต่อหน้าคนมากๆ ช่วยให้มีความมั่นใจในการแสดงออกมากขึ้น อีกทั้งมีทักษะด้านดนตรีและนาฏศิลป์เพิ่มขึ้น ที่สำคัญเธอกับเพื่อนได้รู้ว่า สื่อพื้นบ้านก็สามารถสร้างความบันเทิงได้ไม่แพ้สื่อสมัยใหม่
แคท เชื่อว่า เหล่านักแสดงกระตั้วแทงเสือพร้อมจะนำวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านนี้ไปสู่สายตาผู้ชมทุกภูมิภาค สนใจสนับสนุนการแสดงของน้องๆ ร.ร.วัดโตนด ติดต่อ.โทร.0-2467-3256 หรือ อ.ขวัญนภา อินปอง โทร.08-6030-1259
0 หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ 0