ไลฟ์สไตล์

"โรคเกาต์"

"โรคเกาต์"

29 เม.ย. 2553

"เกาต์" เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคข้ออักเสบทั้งหมด สาเหตุเกิดจากกรดยูริกที่มีระดับสูงกว่าปกติในเลือด

 การที่กรดยูริกในเลือดสูงและคั่งอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานจนร่างกายขับออกทางไตไม่ทัน กรดยูริกจะตกผลึกเป็นเกลือยูเรตสะสมที่กระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อรอบข้อ ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในข้อ เป็นเหตุให้ข้ออักเสบเฉียบพลันรุนแรงอย่างรวดเร็วในเวลา 12-24 ชั่วโมง

อาการข้ออักเสบมักกำเริบด้วยระดับกรดยูริกในเลือดที่เปลี่ยนแปลงทันทีทันใด คือระดับสูงขึ้นหรือลดลงฉับพลันซึ่งอาจเกิดจาก
 - หลังจากการดื่มไวน์โดยเฉพาะไวน์แดง
 - ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังออกกำลังกาย
 - ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดหนัก
 - ยาต้านมะเร็ง
 สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงจนโรคเกาต์กำเริบได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีข้ออักเสบกำเริบหลังรับประทานอาหารที่ประกอบด้วย purines ในปริมาณสูง

การมีกรดยูริกในเลือดสูงโดยไม่มีข้ออักเสบไม่ถือว่าเป็นโรคเกาต์
 - มีถึง 70% ของผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงที่ไม่มีอาการแต่อย่างใด
 - เพียง 30% ของผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงเท่านั้นที่มีข้ออักเสบ คือ เป็นโรคเกาต์
 - ผู้ที่มีกรดยูริกสูงมากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกาต์สูงกว่าผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงเพียงเล็กน้อย มีผู้ป่วยประมาณ 20% เท่านั้นที่มีระดับกรดยูริกในเลือดปกติขณะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลันจากโรคเกาต์ นั้นหมายความว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่จำเป็นต้องมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง และการมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคเกาต์เสมอไป
 หากได้รับการรักษาจะหายสนิทในเวลา 1-3 วัน แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษามักหายเป็นปกติได้เองในเวลา 1 สัปดาห์ และเว้นระยะเวลาอีกหลายเดือนหรืออาจเป็นปี จึงมีอาการข้ออักเสบกำเริบขึ้นมาใหม่ กรดยูริกที่สูงในเลือดถูกขับออกทางไตในปริมาณมาก ทำให้ความเข้มข้นของเกลือยูเรตในปัสสาวะสูงตามไปด้วย หากไม่ได้รับการรักษา เกลือยูเรตที่สูงเป็นระยะเวลานาน จะไปตกผลึกในไต เกิดภาวะไตวาย นิ่วในทางเดินปัสสาวะ พบโรคเกาต์ในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง 9-10 เท่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุ 35 ปีขึ้นไป สำหรับเพศหญิงพบในวัยหมดระดูเป็นส่วนใหญ่

โรคที่มักพบร่วมกับเกาต์
 - ความดันโลหิตสูง
 - หลอดเลือดแดงแข็ง
 - ไขมันในเลือดสูง
 - เบาหวาน

เราควรดูแลตนเองอย่างไร
 - ไปพบแพทย์หากมีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน
 - ประคบเย็นขณะข้ออักเสบเฉียบพลัน
 - รักษาน้ำหนักตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน
 - หลีกเลี่ยงอาหารที่มี purines สูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์, เนื้อสัตว์, ซุปจากการต้มเคี้ยวเนื้อสัตว์, ต้มกระดูก, น้ำเกรวี่, ปลาซาร์ดีน, หอยบางชนิด, ไข่ปลา, ถั่ว, ยอดผัก, หน่อไม้
 - จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์และไวน์ ของหมักดองจากยีสต์
 - ดื่มน้ำในปริมาณมากเพื่อลดความเสี่ยงของนิ่วที่ไต
 - รับประทานยาสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
 - หากมีอาการแพ้ยา ควรหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์
 - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (ควรทำในขณะโรคสงบ)
โรงพยาบาลศิครินทร์
โทร.0-2366-9900