ไลฟ์สไตล์

ศูนย์มะเร็งอุบลใช้เครื่องฉายLINACรองรับอีสานตอนล่าง-ภูมิภาค

ศูนย์มะเร็งอุบลใช้เครื่องฉายLINACรองรับอีสานตอนล่าง-ภูมิภาค

06 เม.ย. 2553

"ปีนี้ศูนย์ตั้งเป้าหมายในการให้บริการผู้ป่วยมะเร็งภายในประเทศ อีสานใต้และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เน้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกในเขตรับผิดชอบเชิงรุกให้มากขึ้น ผ่านการประชาสัมพันธ์ข่าวสารทางสื่อต่างๆ ภายในท้องถิ่น และออกหน่วยให้คว

นพ.ถวิล กลิ่นวิมล ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งจังหวัดอุบลราชธานี กล่าว

โดยปี 2553 ได้นำเครื่องฉายรังสีแบบเครื่องเร่งอนุภาค (LINAC) ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีระยะไกล (Teletherapy) จากภายนอกร่างกายที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัยสูง ช่วยลดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ทุกระบบ ด้วยลำรังสีโฟตอน และลำรังสีอิเล็กตรอน สามารถจำกัดลำรังสีแบบมาตรฐาน หรือตามรูปทรงของก้อนมะเร็งด้วยคอมพิวเตอร์ ให้มีขนาดและรูปร่างพอดีกับก้อนมะเร็ง ด้วยชุด Multileaf Collimator (MLC) ความแม่นยำสูงและลดผลข้างเคียงกับเนื้อเยื่อปกติรอบๆ ก้อนมะเร็ง

 จะทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง แต่ไม่ทำลายอวัยวะปกติที่อยู่โดยรอบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น  และสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษาสามมิติ สามารถให้การรักษาได้ทั้งแบบ Gantry อยู่กับที่ (Stationary) และแบบ Gantry หมุนได้ (Arc therapy)  รวมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท คาดว่าสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

 ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตหนึ่งในสามอันดับแรกของประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ศูนย์มะเร็งอุบลฯ พยายามสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั้งในเขตอีสานตอนล่าง 9 จังหวัดและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาว เนื่องจากในแต่ละปีมีคนไข้ชาวลาวเดินทางมารับการรักษากับทางศูนย์เพิ่มมากขึ้น หากสามารถสร้างการรับรู้เรื่องมะเร็งเร็วกว่านี้ก็จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 80 มักจะเข้าพบแพทย์เมื่อมะเร็งลุกลาม โดยในผู้ป่วยหญิงพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือมะเร็งปากมดลูก ในขณะที่ผู้ป่วยชาย พบว่าป่วยด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือมะเร็งปอด ทั้งนี้ ศูนย์มะเร็งอุบลราชธานี จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) เฉพาะด้านโรคมะเร็ง รองรับการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งระดับตติยภูมิและสูงกว่าจากศูนย์รับ-ส่งต่อในภูมิภาค และพัฒนาเครือข่ายระดับภูมิภาค ยกระดับมาตรฐานการดูแลรักษาโรคมะเร็ง

นางเวียงสหวัน เกดวงศ์เทียน ผู้ป่วยชาวลาว จากแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เล่าถึงการเข้ารับการรักษามะเร็งเต้านม ที่ศูนย์มะเร็งอุบลราชธานี ภายหลังที่ป่วยมากว่า 3 ปีว่า ครั้งแรกที่รู้ว่าเป็นมะเร็งก็แย่แล้ว ที่ลาวไม่มีโรงพยาบาลดีๆ ทันสมัย ก็ยิ่งรู้สึกกังวล กระทั่งได้รับการแนะนำให้มารักษาที่เมืองไทยที่ศูนย์มะเร็งอุบลฯ ก็รู้สึกอุ่นใจ แม้ว่าจะลำบากเดินทางหลายชั่วโมง ได้รู้ว่า มะเร็งสามารถตรวจสอบและป้องกันได้ในระยะแรก จากที่ไม่เคยรู้มาก่อน และหลังจากที่เดินทางมารักษาแล้วได้นำข้อมูลไปเผยแพร่บอกต่อเพื่อให้เพื่อนๆ มีความเข้าใจเรื่องการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ ธนวัฒน์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวจ.อุบลราชธานี วัย 62 ปี ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด และอยู่ในขั้นตอนการรักษา ชีวิตส่วนใหญ่ของเขาต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ แต่ด้วยการรักษาและเอาใจใส่ได้พูดคุยกับหมอ พยาบาล ทำให้วันนี้มีกำลังใจสามารถให้คำแนะนำเพื่อนๆ ผู้ป่วยอื่นๆ ได้

"ครั้งแรกที่รู้ว่าเป็นมะเร็ง รู้สึกแย่มาก แต่ได้กำลังใจจากญาติ การดูแลเอาใจใส่จากหมอ เป็นพลังสำคัญทำให้รู้สึกดีขึ้น อยากฝากให้ญาติทุกคนเข้าใจและให้กำลังใจคนป่วยมากขึ้น เพราะปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้น อยากให้ทุกคนรักษาสุขภาพและอย่าประมาทในการใช้ชีวิต เพราะที่ผมป่วยก็มาจากการใช้ชีวิตในวัยรุ่นที่ประมาท ดื่มเหล้า เที่ยวกลางคืนและทำงานหนัก ไม่ห่วงสุขภาพ  ไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อน  ทั้งๆ ที่หากตรวจสุขภาพ ก็จะช่วยให้มีโอกาสรักษาโรคมะเร็งหายได้มากขึ้น" ธนวัฒน์ กล่าว