Lifestyle

รู้จัก 2 โรค 'หัวใจอักเสบ' โรคร้ายที่ต้องระวัง อันตรายถึงชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก 'เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ' และ 'กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ' 2 โรค 'หัวใจอักเสบ' ที่ต้องระวัง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

'หัวใจอักเสบ' กลายเป็นอาการที่ในสังคมกำลังให้ความสนใจ เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้พระเอกดังอย่าง 'เอส กันตพงศ์ บำรุงรักษ์' เกิดอาการวูบหมดสติ กลางงานอีเวนต์ เมื่อ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุด 'คริสติน่า วิงเคลอร์' ภรรยา ได้อัปเดตอาการป่วยของสามี เบื้องต้นแพทย์ได้ออกมายืนยันแล้วว่าเขามี อาการหัวใจอักเสบ ยังต้องเฝ้าดูอาการแบบ "วันต่อวัน" 

 

 

สำหรับ 'หัวใจอักเสบ' นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ ที่มีให้เห็นบ่อยๆ คือ 'เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ' และ 'กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ' ซึ่งทาง คมชัดลึก ได้รวบรวมข้อมูล อาการ สาเหตุ การรักษา ของทั้ง 2 โรคมารวมไว้ ณ ที่นี้แล้ว

 

โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

 

โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) เป็น โรคหัวใจ ที่เกิดจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แล้วทำให้เกิดน้ำหนอง หรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ส่งผลให้หัวใจขยายตัวและบีบตัวไม่ดี โดยเยื่อหุ้มหัวใจนั้นมีลักษณะบางๆ ห่อหุ้มหัวใจ แบ่งเป็นสองชั้น โดยชั้นในจะติดกับหัวใจโดยตรง ส่วนชั้นนอกจะติดกับปอดและอวัยวะอื่นๆ โดยระหว่างเยื่อหุ้มหัวใจสองชั้นนี้จะมีน้ำหล่อลื่นที่ทำหน้าที่ป้องกันหัวใจของเราไม่ให้เสียดสีหรือกระทบกระเทือนกับอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กับหัวใจในขณะที่หัวใจบีบตัวเข้าออก

 

 

อาการ

 

  • เจ็บหน้าอก มีลักษณะเจ็บแปล๊บหรือแน่นรุนแรงบริเวณกลางหน้าอกหรือด้านซ้าย ร้าวไปคอ แขนหัวไหล่ หรือบริเวณสะบักข้างซ้าย จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกมากขึ้นเวลานอน แต่เมื่อเวลาโน้มตัวไปข้างหน้าอาการเจ็บจะลดลง
  • มีไข้ อ่อนแรง หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว ไอ ใจสั่น
  • กรณีที่เป็นการอักเสบเรื้อรังอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอก ในขั้นรุนแรงอาจมีอาการท้องบวม ขาบวม และภาวะความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเกิดจากมีภาวะหัวใจวายที่เกิดขึ้นตามมา

 

 

สาเหตุ

 

สาเหตุการเกิด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ยังไม่มีการค้นพบที่แน่ชัด แต่ก็ยังมีโรค เชื้อไวรัส และภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ เช่น

 

  • การอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย
  • การอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น หัวใจขาดเลือด การบาดเจ็บ การปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ใกล้หัวใจ มะเร็งบริเวณทรวงอก การฉายรังสีบริเวณทรวงอก
  • การอักเสบจากภาวะตอบสนองของร่างกายหรือโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง ไข้รูมาติก รูมาตอยด์

 

 

หัวใจอักเสบ

 

การรักษา

 

การรักษาโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก การอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ และใช้วิธีการรักษาที่สาเหตุได้แก่

 

  • การรักษาโดยใช้ยา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บและลดการอักเสบ หากการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะ
  • การเจาะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ในกรณีมีภาวะบีบรัดหัวใจ คือ มีของเหลวในถุงเยื่อหุ้มหัวใจ ต้องได้รับการรักษาโดยการเจาะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจออก โดยใช้เข็มและท่อขนาดเล็กระบายน้ำออกมา
  • การผ่าตัดเลาะเยื่อหุ้มหัวใจออก ในกรณีมีการอักเสบเรื้อรังจนทำให้เยื่อหุ้มหัวใจมีการหนาตัวเป็นพังผืดและมีหินปูนเกาะ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจโดยเฉพาะช่วงที่หัวใจคลายตัวเพื่อรับเลือดเข้าหัวใจ การผ่าตัดเลาะเยื่อหุ้มหัวใจอาจจะทำให้มีการคลายตัวของหัวใจดีขึ้น

 

 

หัวใจอักเสบ

 

 

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

 

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardium) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่บางกรณีอาจเป็นผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือการอักเสบอื่นๆ ในร่างกาย

 

โดยปกติ ชั้นกล้ามเนื้อของผนังหัวใจจะสูบฉีดเลือดเข้าและออกจากหัวใจด้วยการหดตัวและคลายตัว เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจะทำให้ความสามารถในการสูบฉีดเลือดของหัวใจลดลง ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในหัวใจที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลว และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

 

อาการ

 

การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจอาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยโดยไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจมีอาการไม่รุนแรง อย่างอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจได้สั้นลง แต่หากอาการรุนแรงขึ้นพบอาจความผิดปกติอื่น ๆ แตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว โดยอาการที่อาจพบได้มีดังนี้

  • เจ็บหน้าอก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หายใจได้สั้นลง ทั้งขณะหยุดพักและขณะทำกิจกรรม
  • มีอาการบวมบริเวณขา เท้า และข้อเท้า
  • อ่อนแรง
  • มีอาการอื่น ๆ ที่แสดงถึงการติดเชื้อไวรัส เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกายและข้อ มีไข้ เจ็บคอ หรือท้องเสีย เป็นต้น

 

 

สาเหตุ

 

การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หากเป็นกรณีที่ทราบสาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ โดยพบได้บ่อยจาก การติดเชื้อไวรัส แต่บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือปรสิต รวมถึงยังเกิดได้จากการใช้ยา การได้รับสารเคมี หรือโรคบางชนิด

 

 

การรักษา

 

การอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจอาจดีขึ้นได้เอง หรืออาจดีขึ้นและหายดีได้หลังได้รับการรักษา การรักษาโรคนี้จะเน้นที่การรักษาตามสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้น ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงนัก ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมากอย่างน้อย 3-6 เดือน การพักร่างกาย ร่วมกับการใช้ยาจะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวจากการอักเสบได้โดยอาจไม่ต้องใช้การรักษาด้วยวิธีอื่น 

 

ยาที่แพทย์อาจใช้ในการรักษามีดังนี้

 

  • ยารักษาโรคหัวใจ ได้แก่ ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) หรือยา ARBs
  • ยาขับปัสสาวะ เพื่อช่วยกำจัดของเหลวส่วนเกินในร่างกาย
  • การฉีดยาทางหลอดเลือดดำ (IV) โดยแพทย์อาจฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ

 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการร้ายแรง แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด การใช้เครื่องพยุงหัวใจและระบบไหลเวียนด้วยบอลลูน หรือการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO)

 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยนอนพักในโรงพยาบาล โดยจะพิจารณาให้ยาหรือการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจอุดตันจากลิ่มเลือด หรือแพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีปลูกถ่ายหัวใจหากหัวใจได้รับความเสียหายมาก

 

ในผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเรื้อรังหรือหัวใจได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงอาจต้องรับประทานยาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต แต่บางรายอาจรับประทานยาต่อเนื่องประมาณ 2-3 เดือน ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำและจำกัดปริมาณน้ำ รวมถึงพบแพทย์ตามการนัดหมาย เพื่อติดตามและรักษาอาการดังกล่าว

 

 

ภาวะแทรกซ้อน

 

  • หัวใจล้มเหลว อาจเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและไม่ได้รับการรักษา ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ ในกรณีที่มีอาการร้ายแรงอาจต้องใช้เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือดหรือการปลูกถ่ายหัวใจ
  • หัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง หากกล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหายจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อาจทำให้เกิดการอุดตันของลิ่มเลือด เมื่อลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงของหัวใจ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด แต่หากลิ่มเลือดที่หัวใจลอยตามกระแสเลือดและไปอุดตันที่หลอดเลือดสมองก็อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ จากความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiomyopathy)
  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) เป็นการอักเสบของถุงเยื่อบุรอบหัวใจ
  • หัวใจหยุดเต้น จะเกิดขึ้นเมื่อมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงจนทำให้หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่รีบทำการรักษา

 

โรคหัวใจ

 

 

ข้อมูล : โรงพยาบาลนครธนPobpad

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ