ไลฟ์สไตล์

"เงินแป๊ะเจี๊ยะ" ยังอยู่

"เงินแป๊ะเจี๊ยะ" ยังอยู่

02 เม.ย. 2553

โรงเรียนสตรีศึกษา จ.ร้อยเอ็ด มีการรับสมัครสอบ และประกาศผลสอบของเด็กในเขตพื้นที่ลักษณะใบสมัครเป็นแบบ ก ข เด็กในเขตพื้นที่ใช้ฉบับ ก ซึ่งเด็กในเขตพื้นที่บริการจำนวนมาก ถูกตัดสิทธิ์ในการลงสอบ

โดยครูที่เป็นคนแจกใบสมัครให้เหตุผลว่า เด็กคนละนามสกุลกับเจ้าบ้าน ซึ่งผู้ปกครองบางท่านพยายามอธิบายว่าเป็นปู่ย่า ตายาย ของเด็ก ครูก็ไม่ยอม เบี่ยงประเด็นไปว่าเด็กเพิ่งย้ายเข้ามา ผู้ปกครองก็แย้งว่าเด็กย้ายเข้ามาเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป.6 แล้ว
 ครูตอบว่าไม่รู้ ถ้าอยากให้เด็กเรียนก็ต้องใช้ระบบ "ง" ผู้ปกครองถามว่า ระบบ "ง" คืออะไร ในเมื่อใบสมัครมีแค่ ก ข แล้ว ค ไปไหน ฝ่ายครูก็ยืนกรานคำเดียวว่า ระบบ "ง" ผู้ปกครองจึงถึงบางอ้อ...แล้วถามว่าเท่าไหร่ ครูตอบว่า 15,000-20,000 บาทขึ้นไป
 นอกจากนี้ยังมีผู้ปกครองอีกท่านหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ พาหลานมาสมัครสอบ พอขึ้นไปที่ตึกรับสมัคร ถามครูว่า เด็กอยู่ในเขตพื้นที่ใช้ใบสมัครแบบไหน ครูตอบว่า โรงเรียนไม่มีนโยบายให้สิทธิ์เด็กในเขตพื้นที่มา 2 ปีแล้ว ถ้าเด็กอยากเรียน ต้องบริจาคให้โรงเรียน ยายฟังแล้วก็นิ่งไป
 สรุประบบ "ง" ก็คือ "เงินแป๊ะเจี๊ยะ" ที่สมัยก่อนใช้เรียกกัน...ไหนรัฐบาลบอกว่าไม่มีแล้ว
สุทธิรักษ์ / ร้อยเอ็ด
ตอบ
 นายปรีดา ลำมะนา ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศึกษา จ.ร้อยเอ็ด ชี้แจงว่า วันที่รับสมัครมีคนอยู่จำนวนมาก ครูที่แจกใบสมัครไม่น่าจะพูดจาแบบนั้นได้ ที่สำคัญโรงเรียนไม่มีนโยบายเรียกร้องเงินบริจาค แต่ถ้าผู้ปกครองจะบริจาคก็ไม่บังคับ เพราะมีบางกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้ว มีผู้ปกครองนำเด็กมาฝากแต่กลัวเด็กจะไม่ได้เรียน ก็เลยออกตัวขอบริจาคเงิน แบบนี้ก็เคยมี 
 การรับสมัครนักเรียนใหม่ในระดับประถมศึกษา มี 2 ประเภท แบ่งเป็นเด็กที่มีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่บริการ 160 คน (ใบสมัครประเภท ก) และเด็กนอกเขตพื้นที่บริการ 160 คน (ใบสมัครประเภท 8) หรือรับสมัครแบบ 50/50 ส่วนนักเรียนชั้น ม.1 มี 8 ห้องเรียน รับสมัครห้องละ 40 คน ตามนโยบาย
 ผู้ปกครองจึงแย่งกันใช้สิทธิ์เพื่อให้ตัวเองอยู่ในพื้นที่บริการ บางรายนำชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านคนอื่นในพื้นที่บริการ โดยเจ้าบ้านไม่มีความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งตามเงื่อนไขเจ้าบ้านจะต้องเป็นบิดา มารดา หรือปู่ย่า ตายาย เท่านั้น และต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่ผู้ปกครองเข้าใจผิดจึงเกิดปัญหาขึ้น
 ส่วนเด็กที่สอบไม่ได้ และไม่อยากไปเรียนที่อื่น โรงเรียนก็จะให้ลงชื่อไว้เป็น "เด็กฝาก" เพื่อรวบรวมรายชื่อไปเสนอให้คณะกรรมการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไร ถ้ามีจำนวนมาก ก็จะขอเพิ่มห้องเรียน หรือเพิ่มนักเรียนต่อห้อง
 ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีศึกษา ยืนยันว่า ผู้ปกครองของเด็กฝาก ส่วนใหญ่เสนอที่จะบริจาคเงิน เพราะกลัวเด็กจะไม่ได้เข้าเรียน ความจริงโรงเรียนไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการแลกเปลี่ยนใดๆ ทั้งสิ้น
ลุงแจ่ม