
สอศ.ผนึกมจพ.พัฒนานศ.-บุคลากรอาชีวะ
สอศ. จับมือ มจพ. พัฒนา นศ. บุคลากรอาชีวะ เตรียมพร้อมต่อการก้าวสู่การจัดการศึกษาระดับ ป.ตรี สายเทคโนโลยีและสายปฏิบัติการ
เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2553 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา ระหว่าง นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และ ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ
นายพรหมสวัสดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สอศ. และ มจพ. มีการร่วมมือกันในการพัฒนาบุคลากรคุณภาพนักศึกษาอาชีวะมายาวนานและต่อเนื่อง โดยมจพ.ให้การสนับสนุนการจัดอบรมแก่บุคลากร พร้อมกันนี้ยังมีการเปิดศูนย์พัฒนาอบรมร่วมกันทั่วประเทศ 20 แห่ง ทั้งนี้ ทาง มจพ.โดยคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และสำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา ได้กำหนดเครือข่ายการพัฒนาร่วมกัน อาทิ ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถให้สูงขึ้นในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ขณะเดียวกันจะร่วมกันพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีความพร้อมในการขยายการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา
นอกจากนี้ ยังร่วมมือในการระดมบุคลากร ผู้ทรงคุณวุฒิในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การรองรับมาตรฐานสื่อการเรียนการสอนร่วมกันให้มีคุณภาพระดับสูงเป็นที่ยอมรับในสากล อีกทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบ E-learning และการศึกษาทางไกลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตในสถานศึกษา รวมถึง ร่วมมือในการวิจัยพัฒนาการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นต้น
ศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี คือ ตั้งแต่เดือน ก.พ.2553-ก.พ. 2558 โดย มจพ.จะเข้ามาประสานในส่วนของงานทะเบียนนักศึกษา ตารางสอน การจัดการเรียนการสอน การจัดทำระเบียบที่เกี่ยวข้องการฝึกอบรม การวิจัยการทำหลักสูตร การจัดทำสื่อการเรียนการสอน ควบคุมมาตรฐานการศึกษา และจะเป็นผู้มอบวุฒิบัตร ประกาศนียบัตน ปริญญาบัตร และรับรองวุฒิทางการศึกษา
นายชินวรณ์ กล่าวว่า การร่วมมือกันของ สอศ. และ มจพ. เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอีกทั้งยังเป็นการสนองตอบต่อนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ทศวรรษที่ 2 ที่ต้องการให้การศึกษาในทุกระดับมีการเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์การพัฒนาครูเพราะเราประสบปัญหาการขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูของครูการร่วมมือกันจะทำให้อาชีวศึกษา มีการเตรียมความพร้อมในส่วนของบุคลากรครูทางด้านอาชีวศึกษา รวมถึงในเรื่องของงานวิจัย นวัตกรรมทางการศึกษา เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการเรียนทางด้านเทคนิควิชาชีพ ทั้งนี้ ตนหวังว่าใน 4 ปีข้างหน้าจะเห็นภาพการพัฒนาของอาชีวศึกษาที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น