ไลฟ์สไตล์

ธรรมะจาก...เฒ่าชูชก

ธรรมะจาก...เฒ่าชูชก

01 เม.ย. 2553

ในวัดวาอารามทั่วไป มักมีการแสดงภาพและรูปปั้นสัตว์นรก และทวยเทพสวรรค์ เพื่ออธิบายกฎแห่งกรรมฝ่ายชั่ว และอานิสงส์แห่งบุญให้เห็นเป็นรูปธรรม แม้ในพระไตรปิฎกก็มีเรื่องเล่าทำนองนี้ไว้หลายแห่ง

 กระทั่งในมหาเวสสันดรชาดก ก็มีการกล่าวถึงการสร้างทานบารมีของพระเวสสันดร โดยมีอีตาเฒ่าชูชกเป็นตัวประกอบเรื่องอย่างออกรส จนกล่าวได้ว่า ความอัปลักษณ์ของชูชกทั้งทางรูปกายและกิริยาท่าทางแสดงออกนั้น มีกล่าวไว้ว่า

 “ทีนี้จะกล่าวถึงพราหมณ์พฤฒาทลิทยากยิ่งยาจก อันจะได้ไปยอยกซึ่งพระทานธุระ อันพระองค์เริศร้างละฝังไว้นี่ช้านาน”

 นั่นย่อมบ่งชี้ว่า บทบาทด้านลบของชูชกถูกมองเป็นบวกในด้านการเสริมบารมีของพระโพธิสัตว์เวสสันดร ซึ่งเป็นความคิดทวนกระแสของชาวโลกธรรมดาสามัญเสมอมา ชูชก ควรได้รับการนำเสนอในฐานะเช่นเดียวกับตัวโกงของเรื่อง ที่ทำให้บทบาทของตัวเอกน่าสนใจมากขึ้น ด้วยว่าตาเฒ่าผู้นี้ มีความสามารถในการแสดงออกอย่างเก่งมาก เพื่อให้สมจริงสมจัง การเป็นผู้ขอนั้น ไม่น่ารังเกียจเท่าการเป็นผู้ลักขโมยปล้นชิง

 การขอ เป็นการแสดงออกถึงความขัดสนจนยากลำบากทุกข์อย่างตรงไปตรงมา ชูชกขอทานเก่ง จนมีทรัพย์มาก และได้รับความทุกข์จากการเก็บรักษาทรัพย์นั้น จนต้องนำไปฝากเพื่อนผู้มีลูกสาว และเป็นเมียของชูชกในกาลต่อมา เรื่องนี้ชูชกสอนเราว่า “ทรัพย์สิน และ เมียสาว ต้นเรื่องราวท้องแตกตาย”

 ตอนที่ชูชกไปขอพระโอรสและพระธิดาจากพระเวสสันดรนั้น มีการ “ชักแม่น้ำทั้งห้า” มากล่าวเพื่อสรรเสริญเยินยอเทียบเทียมน้ำพระทัยของพระเวสสันดร จนประสบความสำเร็จในการขอลูกทั้งสอง กล่าวได้ว่า เขามีความเก่งในการขอ แต่ใช้ความเก่งนั้นไปในทางที่ผิดด้วยโลภะ โทสะ และโมหจริต เป็นเจ้าเรือน ผู้ฉลาดจึงควรมองชูชกให้จบเรื่อง อย่ามองเพียงว่า ชูชกเป็นคนขออะไรก็ได้สมปรารถนา การมีชูชกไว้บูชา เพื่อให้ขอเก่งแบบชูชกนั้น เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีบทลงท้ายแบบเดียวกับชูชกด้วย

 การเป็นผู้มีรูปร่างขี้ริ้วขี้เหร่แบบชูชกนั้น มิใช่เรื่องน่ารังเกียจ และศิลปะในการใช้คำพูดคำจาในสถานการณ์ต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตีทิ้งไปทั้งหมด

 ยกเว้นตอนพูดโกหกนายพรานเจตบุตร ที่ขวางทางเข้าไปหาพระเวสสันดร ตรงนี้ชูชก “อ้างเบื้องสูง” อย่างไม่น่าให้อภัย

 แต่พรานเจตบุตรเองก็โง่เขลาเบาปัญญาอย่างที่สุดอีกด้วย ดังนั้น จะโทษชูชกอย่างเดียวก็เห็นจะไม่ยุติธรรม

 ถึงอย่างไร เราก็ควรนำชูชกมาเป็นอุทาหรณ์ว่า ไม่ควรใช้ความเก่งไปเพื่อการสนองความต้องการส่วนตนโดยขาดการระงับยับยั้งชั่งใจ ช่างเหมาะสมกับยุคสมัยมาก ที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งถูกยึดทรัพย์ เพราะถ้าปล่อยให้ครอบครองทรัพย์สินมากเกินไป เดี๋ยวก็จะถึงจุดจบแบบเดียวกับชูชก

"ท่านจันทร์"
www.prajan.com