Lifestyle

"ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าผิดไหม" เปิดข้อ กฎหมาย บุหรี่ไฟฟ้า เจอ จับ จบ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าผิดไหม" เปิดข้อ กฎหมาย "บุหรี่ไฟฟ้า" แบบชัด ๆ ทั้ง ซื้อ-ขาย-ครองครอง เจอโทษอะไรบ้าง ทำไมยังคลุมเครือ

ประเด็น “บุหรี่ไฟฟ้า” ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียล หลังเกิดกรณีดราม่า ดาราสาวไต้หวัน ถูกตำรวจไทย รีดไถเงิน ขณะตั้งด่าน โดยอ้างถึงการมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ในขณะที่ กลับพบเห็น บุหรี่ไฟฟ้า วางขายเกลื่อน รวมทั้งใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่น ทำให้มีคำถามขึ้นมากมายว่า การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าผิดไหม

 

ทนายรณรงค์ แก้วเพชร ให้ข้อมูลว่า มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง เป็นความผิดตามกฎหมาย เพราะว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของที่ต้องห้ามนำเข้า หากผู้ใดรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่ต้องห้ามนำเข้า มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี และ ปรับ 4 เท่าของราคา พร้อมกับภาษีที่ยังไม่ได้จ่าย ตามพระราชบัญญัติศุลกากร โดยเขาบอกว่า การครอบครองไว้ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่ก็ตามว่ามีความผิด ก็อ้างไม่ได้

บุหรี่ไฟฟ้า

ส่วนอำนาจจับนั้น ตำรวจสามารถจับได้ แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่จับ ก็ต้องส่งไปที่สถานีตำรวจ ตามมาตรา 20 แห่ง พรบ.ศุลกากรฯ

 

หลักกฎหมายที่บังคับใช้กับบุหรี่ไฟฟ้า

 

  • ห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 โดยหน่วยงานที่สนับสนุนการบังคับใช้ คือ กรมศุลกากรในการตรวจจับ
  • ห้ามขาย ห้ามให้บริการ ตาม คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2558
  • สูบในสถานที่สาธารณะ มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560

 

ดังนั้น ถ้าคิดข้อเท็จจริง การที่บุคคลคนหนึ่ง "ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า" ก็ย่อมต้องเกิดคำถามขึ้นอยู่แล้วว่า คุณได้บุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างไร เพราะโดยต้นทางของระบบกฎหมาย เพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของไทยเรา ดักตั้งแต่ต้นทาง คือ "ห้ามนำเข้า" และกำจัดบุหรี่ไฟฟ้าที่มีในประเทศด้วยการ "ห้ามขาย/ห้ามบริการ" จึงอาจกล่าวได้ว่า การครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าก็ย่อมมี "ความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี"

ไล่เรียงกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า

 

การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ณ ปัจจุบันยังคงไม่มีการตราหรือบัญญัติกฎหมายที่ใช้ควบคุมโดยตรง เพียงใช้การออกประกาศหรือคำสั่งตามขอบเขตอำนาจของผู้รับผิดชอบในส่วนราชการนั้น ๆเพื่อการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในขอบข่ายอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ ทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้และทำความเข้าใจต่อเนื้อหาของกฎหมาย

 

- กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ตราออกมามาฉบับแรกคือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 

 

มีใจความสำคัญ คือ การกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงน้ำยาและสารหรือสารสกัดที่ใช้เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดควันหรือไอประกอบการสูบ เป็น “สินค้าต้องห้าม” นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งหากผู้ใดนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า หรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 20 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก หรือทั้งจำทั้งปรับ

ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าผิดไหม

- ต่อมาคณะกรรมการผู้บริโภคได้ออก คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” มีใจความสำคัญ คือ กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม ห้ามให้ผู้ใดขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้บริการ หรือจัดหาบุหรี่ไฟฟ้าให้ ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือการชักชวนดังกล่าว โดยผู้ใดฝ่าฝืนขายบุหรี่ไฟฟ้า จะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 3) มาตรา 56 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่ผู้นำเข้าและผู้ขายเป็นคนเดียวกัน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

- พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าทุกประเภท กฎหมายนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีของบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสูบส่วนใหญ่ในท้องตลาด เป็นสินค้าที่ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบกับเมื่อบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ถูกประกาศเป็น “สินค้าต้องห้าม” นำเข้ามาในประเทศไทย จึงทำให้บุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้านั้น เป็นสินค้าที่ “แอบ” นำเข้ามาโดยไม่ได้ผ่านพิธีการ หรือกระบวนการทางศุลกากร

 

ซึ่งมาตรา 242 ของง พ.ร.บ.ศุลกากร กำหนดไว้ว่า การนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายออกไปจากยานพาหนะ คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ท่าเรือรับอนุญาต หรือเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร เป็นความผิด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

- พ.ร.บ.ศุลกากร ไม่เพียงแต่กำหนดให้ผู้นำเข้าหรือส่งออกบุหรี่ไฟฟ้าต้องรับผิดเท่านั้น แต่ยังบัญญัติความผิดในมาตรา 246 บัญญัติว่า ผู้ใดซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 242 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคา ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ซึ่งความผิดตามมาตรา 246 นี้ เป็นฐานความผิดที่เหมารวมตั้งแต่ “ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ” ผู้ขาย ผู้ซื้อ ตลอดจนผู้ครอบครอง หรือได้รับมา ล้วนมีความผิดตามมาตรานี้ทั้งสิ้น โดยไม่ต้องพิจารณาว่าการได้มาซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้านั้น เป็นมาโดยวิธีการใด เสียค่าตอบแทนหรือไม่ เพียงแค่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว ซึ่งความผิดนี้จะเป็นข้อกล่าวหาหลักที่พนักงานสอบสวนจะใช้ตั้งข้อหาแก่ผู้มีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครอง เมื่อถูกตรวจค้นตามด่านกวดขันวินัยจราจร หรือด่านตรวจยาเสพติด

ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ผิดไหม

มาตรา 27 ทวิ ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจํานํา หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจํากัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องก็ดีหรือเป็นของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อจํากัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดีมีความผิดต้องระวาง โทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจําทั้งปรับ

 

แต่ในทางปฏิบัติ กลับมีการนำ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มาใช้บังคับแก่กรณีบุหรี่ไฟฟ้าค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการดูแลการขาย และประชาสัมพันธ์โฆษณาและคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาไฟฟ้าเป็นของที่ต้องห้ามนำเข้า และห้ามขายตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ฯ และคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ อยู่แล้ว การนำ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มาบังคับใช้กับบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจึงมีความสลับซับซ้อน ไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของกฎหมายและอาจใช้บังคับได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งอัตราโทษของกฎหมายอื่นๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ก็มีความรุนแรงมากกว่า พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ อยู่แล้ว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ