Lifestyle

เทียบชัดๆ ข้อดี - ข้อเสีย ก่อนตัดสินใจ "จดทะเบียนสมรส"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลายคู่แต่งงานมีคำถามว่า การ "จดทะเบียนสมรส" และไม่จดทะเบียนสมรสนั้น มีความแตกต่างอย่างไร ข้อดี - ข้อเสียมีอะไรบ้าง

ด้วยแนวความคิดและความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หลังจากที่หนุ่ม-สาวตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว หลายคนอาจมองว่าการ “จดทะเบียนสมรส” ไม่ใช่เรื่องสำคัญอย่างแต่ก่อน และเกิดเป็นคำถามที่ว่า การจดทะเบียนสมรส และไม่จดทะเบียนสมรสนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร ข้อดี – ข้อเสียมีอะไรบ้าง ซึ่งวันนี้ คมชัดลึก ออนไลน์ รวบรวมมาให้แล้ว เพื่อเป็นทางเลือกประกอบการตัดสินใจในช่วงเดือนแห่งความรัก "วาเลนไทน์ 2566" นี้

 

สิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย

 

จดทะเบียนสมรส

 

  • การอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน 
  • สิทธิที่ภรรยาจะได้ใช้ชื่อสกุลสามี และเปลี่ยนสัญชาติตามสามีได้ (หรือไม่เปลี่ยนก็ได้)
  • สิทธิที่จะได้รับมรดกหากอีกฝ่ายจากไปก่อน (เป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดก)
  • สิทธิที่จะหึงหวงคู่สมรสอย่างถูกกฎหมาย ถ้ามีชู้ สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายจากคู่สมรสและชู้ได้
  • ถ้าหย่าร้าง มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงดูได้
  • มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย หรือเอาผิดแทนกันได้
  • มีสิทธิรับเงินสินไหม หรือเงินชดเชยจากราชการ กรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพ

 

ไม่จดทะเบียนสมรส

 

  • ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆ ได้ตามกฎหมาย
  • ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ยกเว้นมีชื่อเป็นทายาทตามพินัยกรรม (พินัยกรรมระบุให้รับมรดก)

 

 

ทรัพย์สิน

 

จดทะเบียนสมรส

 

  • สินสมรส ได้แก่ รายได้ ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังสมรสแล้ว รวมถึงดอกผลของสินส่วนตัว ซึ่งต่างก็มีอำนาจจัดการสินสมรสเองได้ ไม่ต้องขออนุญาตต่อกัน เว้นแต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว ตามที่กฎหมายบัญญัติควบคุมไว้ จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน
  • ต่างฝ่ายมีสิทธิในสินสมรสกึ่งหนึ่ง

 

ไม่จดทะเบียนสมรส

 

  • หากพิสูจน์ได้ว่ามีการอยู่กินฉันท์สามีภรรยา มีทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกัน จะถือว่ามีสิทธิร่วมกันในทรัพย์สินนั้น โดยจะมีสิทธิในทรัพย์คนละครึ่ง แต่หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมให้แบ่งทรัพย์สิน อาจต้องฟ้องร้อง (และต้องหาหลักฐานมายืนยัน)

 

การทำนิติกรรมต่างๆ

 

จดทะเบียนสมรส

 

  • ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส ทำให้มีความยุ่งยากในการจัดการทรัพย์สิน

 

ไม่จดทะเบียนสมรส

 

  • เป็นนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีสิทธิร่วมกัน ต้องได้รับความยินยอมเช่นกัน แต่ถ้าเป็นนิติกรรมส่วนตัว ไม่ต้องขอความยินยอม

 

หนี้สิน

 

จดทะเบียนสมรส

 

  • หนี้ส่วนตัว ใช้สินส่วนตัวชำระก่อน ถ้าไม่พอจึงใช้สินสมรสในส่วนของตน
  • หนี้ร่วม (หนี้สมรส) เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกบังคับชำระหนี้ได้จากสินสมรส หากไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถเรียกเอาจากสินส่วนตัวของทั้ง 2 ฝ่าย

 

ไม่จดทะเบียนสมรส

 

  • ถ้ามีหนี้สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกัน ใช้ทรัพย์สินที่มีสิทธิ์ร่วมชำระ
  • ถ้าเป็นหนี้ส่วนตัว ก็เป็นภาระส่วนตัว

 

บุตร

 

จดทะเบียนสมรส

 

  • บุตรจะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของทั้งบิดาและมารดา
  • ในกรณีเกี่ยวกับสิทธิของผู้รับค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมาย บิดาหรือมารดา มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าสินไหม แทนกันและกัน ตัวอย่างเช่น รับเงินชดเชย ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่ผู้เยาว์ มีบิดาหรือมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองยังมีชีวิตอยู่
  • เป็นทายาทโดยธรรมของทั้งบิดาและมารดา
  • บิดามารดาก็เป็นทายาทโดยธรรมของบุตรเช่นกัน

 

ไม่จดทะเบียนสมรส

 

  • บุตรจะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของมารดาเท่านั้น และจะไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากบิดา เว้นแต่บิดาจดรับรองบุตร หรือรับรองโดยพฤติการณ์ (เชิดชู ให้ใช้นามสกุล ส่งเสียเลี้ยงดู) บุตรจึงจะมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของบิดา และสามารถเรียกค่าเลี้ยงดูได้ (แต่บิดาไม่มีสิทธิรับมรดกจากบุตร เพราะไม่ใช่บิดาตามกฎหมาย)

 

การลดหย่อนภาษี

 

จดทะเบียนสมรส

 

  • ลดหย่อนคู่สมรส*
  • ลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรส*
  • ลดหย่อนประกันชีวิตของคู่สมรส*
  • ลดหย่อนประกันสุขภาพของบิดามารดาคู่สมรส*
  • ลดหย่อนบุตร
  • มีสิทธิเลือกที่จะแยกยื่นแบบหรือรวมยื่นแบบกับคู่สมรสได้ เพื่อการวางแผนภาษีที่เหมาะสม

   * กรณีรวมยื่นหรือคู่สมรสไม่มีรายได้

 

ไม่จดทะเบียนสมรส

 

  • ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้

 

ผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต

 

จดทะเบียนสมรส

 

  • เงินคืนรายงวด เงินปันผล และเงินครบสัญญาจากกรมธรรม์ประกันชีวิตถือเป็นสินสมรส
  • หากเป็นผู้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิต เช่น พ่อแม่ทำประกันชีวิตไว้ และให้คู่สมรสเป็นผู้รับผลประโยชน์ หากพ่อแม่เกิดเสียชีวิต ผลประโยชน์ที่ได้จากกรมธรรม์ถือเป็นสินส่วนตัว

 

ไม่จดทะเบียนสมรส

 

  • ถือเป็นทรัพย์สินส่วนตัว

 

หากต้องการเลิกรากัน

 

จดทะเบียนสมรส

 

  • ต้องไปจดทะเบียนหย่า ซึ่งหากอีกฝ่ายไม่ยินยอม ต้องฟ้องร้องกัน

 

ไม่จดทะเบียนสมรส

 

  • สามารถเลิกรากันได้เลย

 

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส

  • ชายหรือหญิงมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์ กรณีมีเหตุอันควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนที่ชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ได้
  • ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
  • ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
  • ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
  • ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
  • หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ เมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่

              * คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น

              * สมรสกับคู่สมรสเดิม

              * มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์

              * ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้

              * มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้

  • ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีอำนาจให้ความยินยอมได้ตามกฎหมาย

 

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส

  • บัตรประจำตัวประชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้สำหรับบุคคลซึ่งไม่ต้องมีบัตรประจำตัวตามกฎหมาย
  • สำเนาหนังสือเดินทางกรณีชาวต่างประเทศ
  • หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้น มอบหมาย พร้อมแปล (กรณีชาวต่างประเทศขอจดทะเบียนสมรส)
  • สำเนาทะเบียนบ้าน

 

ขั้นตอนในการขอจดทะเบียนสมรส

  • การจดทะเบียนสมรส สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของ คู่สมรส
  • คู่สมรสยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขตใดก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส
  • คู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องนำบิดาและมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาให้ความยินยอม
  • พยานบุคคลจำนวน 2 คน
  • คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย เป็นคนต่างด้าว ต้องขอหนังสือรับรองสถานภาพบุคคล  จากสถานทูตหรือกงสุลสัญชาติที่ตนสังกัด หนังสือรับรองนั้น ต้องแปลเป็นภาษาไทยและมีคำรับรอง การแปลถูกต้อง ยื่นพร้อมคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต

 

 

ที่มาข้อมูล : สํานักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

logoline