ไลฟ์สไตล์

พึ่งตนพึ่งธรรม-เกราะคุ้มกันชีวิตสุพัตรา มาศดิตถ์

พึ่งตนพึ่งธรรม-เกราะคุ้มกันชีวิตสุพัตรา มาศดิตถ์

30 มี.ค. 2553

“บางคนบอกว่าฉันอยู่ตรงกลาง เพราะตีความผิด คิดว่าทางสายกลางคือ อยู่ตรงกลางระหว่างความดีกับความชั่ว ในทางการเมืองมีความเป็นกลางไม่ได้”

 คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2540 เล่าถึงทางสายกลางในความหมายของพระพุทธเจ้า โดยขยายความว่า คนทำงานการเมืองชอบพูดว่า เดินสายกลางตามแนวพระพุทธเจ้า แนวทางพุทธต้องไม่สุดโต่งหรือหย่อนเกินไป แล้วอยู่ๆ มาบอกว่า มีความเป็นกลางไม่คิดอะไรเลย

 การเมืองในความหมายของเธอ ต้องเลือกระหว่างสิ่งที่ถูกหรือผิด เธอบอกว่าเมื่อเริ่มปฏิบัติธรรม เวลามีคนด่าในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็จะปล่อยวาง ต่างจากเมื่อก่อนจะโต้ตอบทันที 

 ปัจจุบันเธอหันหลังให้การเมือง แต่ในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เธอดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ดูแลงานด้านสังคม เพื่อแก้ปัญหาชุมชน ผู้ด้อยโอกาสเด็ก สตรี และคนชรา ฯลฯ

 คุณหญิงสุพัตรา หันมาปฏิบัติธรรมจริงจังตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เธอบอกว่าโดยอาชีพนักการเมืองตัวตนค่อนข้างสูง เวลาทำงานแล้วต้องโฆษณาให้สังคมรู้ ซึ่งตรงข้ามกับหลักพุทธ ต้องขัดเกลาตัวตนให้เล็กลงจนสู่นิพพาน

 “ตอนเป็นนักการเมือง เคยไปกราบหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล วัดอนาลโย ท่านได้ตักเตือน เพราะเราประเภทคนใจดี ใครมาร้ายก็ไม่รู้ ไม่มีเกราะคุ้มกันตัวเอง ถ้าเราปฏิบัติธรรมจะรู้ว่าใครมาดีหรือร้าย เมื่อรู้จักธรรมะเวลาใครวิพากษ์วิจารณ์ ก็คิดว่าช่างมัน ไม่กระทบกระเทือน แต่ในที่สุดคิดว่า ควรเลิกเล่นการเมือง เพราะเพื่อนในพรรคเคยพูดดีมาก บอกว่าเวลาที่เราไม่ชี้แจงการทำงานในบางเรื่องให้ประชาชนทราบ ก็จะมีผลกระทบต่อพรรคหรือคนอื่น ซึ่งเราไม่ได้คิดเรื่องนี้"

 เมื่อได้พิจารณาความรู้สึกด้านใน เธอจึงยุติบทบาททางการเมืองตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เธอบอกว่า  การทำงานกับชุมชน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง ถ้าสามารถทำงานเชื่อมโยงกับรัฐบาลได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการก็จะดำเนินการได้ง่าย

 ส่วนความสนใจเรื่องพุทธศาสนา คุณหญิงสุพัตรา บอกว่า ช่วงแรกๆ หันมาอ่านปรัชญาพุทธศาสนาเยอะมาก และคิดว่าตัวเองรู้มาก แต่พอลงมือปฏิบัติ จึงได้รู้ว่า เราไม่รู้จริง

 “ต้องที่เราไม่ปฏิบัติธรรม ก็คิดว่ารู้ธรรมะดีกว่าคนอื่น ใครพูดอะไร ก็คิดว่าเข้าใจแล้ว จริงๆ แล้วไม่เข้าใจ แต่ปัจจุบันปฏิบัติธรรม ทำให้เราเป็นคนรับฟังคนอื่นมากขึ้น เดี๋ยวนี้คนตะวันตกให้ความสนใจการปฏิบัติภาวนาสมาธิมากขึ้น แต่พวกเขาไม่บำรุงพุทธศาสนา ส่วนคนไทยชอบพิธีกรรมและการทำบุญ ถ้าเอาทั้งสองอย่างมารวมกันจะดีมาก เราต้องเกื้อกูลพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมด้วย เราฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร ที่ได้ผลมากๆ คือ เห็นคุณค่าของการปิดวาจา เพราะนอกจากพูดกับอาจารย์แล้ว ไม่พูดกับใครเลยตลอดการปฏิบัติธรรม 7วัน”

 ครูบาอาจารย์หลายคนทำให้คุณหญิงสุพัตราค่อยๆ เข้าใจธรรมะมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เธอปฏิบัติตามแนวทางพระกรรมฐานสายหลวงพ่อชา เธอบอกว่า คงถูกจริตกับเรา ทุกๆ ปีต้องปฏิบัติกับพระอาจารย์ชยสาโร มีหลายเรื่องได้ปรึกษาท่าน ส่วนเรื่องการเดินจงกรมก็เรียนรู้จากพระอาจารย์มานพ อุปสโม

 “เรารู้ว่าการเดินจงกรมมีประโยชน์ แต่เราไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เวลาเดินไม่สามารถทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน แต่วิธีการของพระอาจารย์มานพ ทำให้เราได้เรียนรู้การผ่อนหนักผ่อนเบาในการย่างก้าว จากที่ไม่ชอบเดินจงกรม ก็สามารถเดินได้สี่ห้าชั่วโมงโดยไม่เหนื่อยและมีสมาธิ”

 คุณหญิงสุพัตราบอกว่า การเดินจงกรมช่วยทำให้สมาธิดี พระอาจารย์มนตรี ป่าละอู บอกว่า เวลาเดิน หากเราคิดว่าจะเอาเท้าซ้ายหรือขวาก้าวเดิน แสดงว่าจิตเราไปอยู่ในอนาคตแล้ว เราต้องเดินเพื่อเดิน และเคยไปปฏิบัติสายท่านโคเอ็นก้า เราก็ได้เรียนรู้เรื่องเวทนา เมื่อก่อนเวลานั่งสมาธิปวดเมื่อย ก็จะไม่ค่อยอดทน ที่นั่นต้องตั้งจิตนั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมงโดยไม่ขยับ

 “นั่งสมาธิแบบนั้นได้เห็นเวทนา จากที่เคยนั่งแล้วปวดเมื่อย และคิดว่าจะตายให้ได้ จนในที่สุดสามารถนั่งได้ แต่ตอนนี้หมอแนะนำไม่ให้นั่งพับเข่า เพราะเป็นโรคเข่าเสื่อม จึงต้องฝึกให้คุ้นเคยกับการนั่งเก้าอี้”

 เธอพยายามทบทวนการปฏิบัติธรรมของตัวเองอยู่เรื่อยๆ เริ่มแรกพบว่า ตัวเองยังไม่มีความเพียรมากพอ แต่สิ่งสำคัญคือ การนำธรรมะมาใช้กับชีวิต

 “เคยมีคนมาคุยเรื่องเสื้อแดง เสื้อเหลือง เราก็บอกว่า ไม่ว่ากลุ่มเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง ต่างมีข้อดีบางอย่าง ให้ดูตามความเป็นจริง คนก็จะโกรธและถามว่าเป็นอะไรกันแน่ เราก็บอกว่า เป็นตัวเอง เพราะแต่ละคนมีเหตุปัจจัยของตัวเอง ถ้าทุกฝ่ายนำธรรมะมาใช้ ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่น่าเสียดายว่า คนที่พูดธรรมะกลับแสดงอาการโกรธ แล้วด่าว่าคนอื่นไม่มีธรรมะ เราใช้ธรรมะเป็นแฟชั่น เรื่องของธรรมะไม่ต้องไปท่องหรือบอกว่า ฉันมีอิทธิบาท ๔ หรืออริยสัจ ๔ คุณต้องปฏิบัติในชีวิตแล้วคนก็จะรู้เอง เพราะบางคนพูดเรื่องธรรมะ แต่วิธีการพูดไม่ใช่”

 คุณหญิงสุพัตราบอกว่า หากคนถือศีล ๕ และปฏิบัติตามนั้น บ้านเมืองก็จะไม่มีปัญหา เพราะศีล ๕ เป็นเกราะคุ้มกันทุกอย่าง มีคนถามว่า ศีลข้อไหนยากที่สุด เราบอกว่า ข้อสาม เรื่องการไม่พูดหยาบ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ คนก็คิดว่าไม่พูดเท็จอย่างเดียวก็พอแล้ว

 “นักการเมืองมักจะผิดศีลข้อนี้ ไม่ใช่แค่พูดเท็จ มีการพูดส่อเสียด การพูดต้องดูว่า มีประโยชน์หรือไม่”

 เคยมีคนถามเธอว่า ถ้าเลิกเล่นการเมืองแล้วอยากทำอะไร เธอบอกว่า อยากเป็นผู้เผยแพร่พุทธศาสนา แค่ให้คนถือศีล ๕ แล้วนำมาปฏิบัติในชีวิต แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเรื่องเป็นราว เพราะยิ่งศึกษามากขึ้น ก็รู้สึกว่ารู้น้อย 

 "เมื่อก่อนมีคนเชิญไปสอนเณร ก็ไป แต่พอศึกษามากขึ้น ไม่ค่อยกล้า อาจารย์เจิมศักดิ์เคยมาเชิญไปพูดเรื่องศาสนา ไม่กล้าไปเพราะกลัวพูดผิด แต่ถ้าเป็นกลุ่มเล็กๆ เลี้ยงรุ่นไม่มีพลาด เพื่อนๆ มักจะเชิญขึ้นเวทีพูดธรรมะ เคยคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง เขาบอกเราว่าอีกห้าปีจะตาย เราก็เล่าเรื่องไปเข้าคอร์สกับพระไพศาล วิสาโล ไม่ใช่ว่าจะกำหนดความตายได้ บางคนเวลาใกล้ตายเอาไม่อยู่ จิตสุดท้ายจะชี้ว่าเราจะไปทางไหน อย่างคุณหมอสุมาลี สอนธรรมะมีลูกศิษย์มากมาย เมื่อถึงวาระสุดท้าย พระต้องไปช่วยนำทาง ตอนนั้นท่านอยากไปตายที่บ้าน แต่พอกลับบ้านเจ็บมาก จึงต้องกลับมาโรงพยาบาลและท่านโกรธ

 “ถ้าตอนนั้นตายด้วยความโกรธแย่เลย คุณหมออมรา มลิลา ต้องไปบอกว่าเป็นกิเลสนะ ท่านจึงเข้าใจ และพระอาจารย์ชยสาโร ก็บอกว่า ถ้าเจ็บมากจะภาวนาไม่ได้ ให้ฉีดมอร์ฟีนอ่อนๆ เพื่อให้มีสติในการภาวนา จะได้จากไปด้วยดี”

 นี่คือกรณีของคนปฏิบัติธรรมเยอะ แต่เมื่อถึงวาระสุดท้าย...ใช่ว่าจะทำใจได้ทุกคน ในทางธรรมมักจะใช้คำว่า “เอาไม่อยู่” อาจมาจากเหตุปัจจัยบางอย่าง ไม่ว่าการทำบาปกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว

 หากเป็นวาระสุดท้ายของคุณหญิง เธอบอกว่า อยากให้พระสงฆ์นำทางไปสู่ความสงบ และชีวิตตอนนี้ต้องเตรียมพร้อมกับความตาย

 “ได้เข้าไปฝึกฝนในคอร์สเผชิญหน้ากับความตาย เพื่อนำไปช่วยเหลือคนอื่น พระไพศาลบอกว่า ถ้าจะช่วยเหลือคนที่กำลังจะจากไป ต้องรู้พื้นฐานของคนคนนั้นด้วย บางคนชอบทำบุญ พระมาบิณฑบาต มักจะเดินเข้ามาทางซ้าย เวลาไปช่วยนำทาง ท่านก็จะบอกคนคนนั้นว่า โยม...เช้าแล้วนะ ถึงเวลาใส่บาตรแล้ว หันไปทางซ้าย ใส่บาตรรูปที่หนึ่ง สอง... ถ้าตายแบบนี้ก็จะสงบ แล้วกี่คนที่โชคดีแบบนี้ บางคนไม่เคยปฏิบัติเลยจะให้สวดมนต์นึกถึงพุทโธ เขาก็ไม่รู้เรื่อง ก็ให้นึกถึงเรื่องดีๆ“

 เธอเล่าต่อว่า ชีวิตเหมือนธรรมะจัดสรร หลังจากกลับจากคอร์สเผชิญหน้ากับความตาย มีเพื่อนๆ และคนรู้จักห้าหกคนมาปรึกษาเรื่องญาติพี่น้องกำลังจะตาย มีคนหนึ่งเป็นดอกเตอร์ พ่อกำลังจะตาย ขายบ้านไปหลังหนึ่งเพื่อรักษาพ่อ

 “เราก็ถามว่าเป็นทุกข์เรื่องอะไร เขาบอกว่า ไม่รู้ว่าพ่อตายแล้วจะไปไหน ต่างจากพ่อไปเมืองนอกยังรู้ว่าไปอย่างไร เขารู้สึกเป็นทุกข์และสงสารพ่อ ฟังๆ แล้ว พ่อคือผู้ปฏิบัติธรรม แต่ลูกไม่รู้เรื่อง เราก็คุยกันหลายครั้ง เขานำสิ่งที่เราบอกไปปฏิบัติ เวลาใครไปเยี่ยมพ่อของเขา เขาจะบอกว่า ขอให้พูดแต่สิ่งดีๆ และวันที่พ่อเขาเสียชีวิต เขามาเชิญเราเป็นประธาน เขาเขียนกลอนไว้ว่า เขาได้เข้าสู่ธรรมะเพราะการตายของพ่อ” คุณหญิงเล่าและบอกว่า ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนเก่ง แต่ไม่เคยรู้จักธรรมะเลย จากนั้นเขาเริ่มศึกษาธรรมะ

 หรือกรณีเพื่อนอีกคน ญาติผู้ใหญ่กำลังจะเสียชีวิต แต่มีเรื่องติดค้างในใจ คุณหญิงสุพัตราแนะว่า ให้ไปขอขมาจะได้ไม่ติดค้างในใจทั้งสองฝ่าย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เพื่อนคนนั้นไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย

 “อภัยทานสำคัญที่สุด ต้องทำด้วยใจ ไม่ใช่ทำด้วยการพูดอย่างเดียว” คุณหญิงกล่าวทิ้งท้าย

 เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ