กล้ามเนื้อลาย เป็นอวัยวะที่หนักถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว โดยมีจำนวนมากถึง 696 มัด มีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย การหายใจ และการทรงตัว ซึ่งการทำงานหรือทำกิจกรรมอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ง่ายต่อการเกิดความอ่อนล้าและปวดเมื่อยได้ เราจึงควรหาเวลาและวิธีผ่อนคลายอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดความ เหนื่อยล้า จนเกินไป แบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพผิวและเส้นผมจากสารสกัดธรรมชาติ ‘ธัญ’ (THANN) ร่วมกับ กรณิภา สุริยเลิศ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาและกายภาพบำบัด แนะนำเทคนิคบริหารจัดการความเหนื่อยล้าสำหรับหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ
กรณิภา สุริยเลิศ นักวิทยาศาสตร์การกีฬาและกายภาพบำบัด แนะว่า อาการปวดเมื่อยร่างกายของแต่ละคนนั้นส่วนใหญ่แล้วจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต กิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละวัน รวมถึงช่วงอายุของแต่ละบุคคล ซึ่งมักส่งผลต่ออาการปวดเมื่อยตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายที่มักพบได้บ่อย คือ คอ บ่า ไหล่ สะบัก และหลัง หรือที่รู้จักกันว่าออฟฟิศซินโดรม โดยอาการออฟฟิศซินโดรมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การนั่งทำงานในท่านั่งที่ไม่เหมาะสม, ลักษณะการทำกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ความเครียดจากการทำงาน และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
อาการปวดกล้ามเนื้อ คือ ภาวะตึง ปวดหรือการอักเสบเรื้อรังของกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งตามกล้ามเนื้อมัดเดียวหรือหลายมัด มักมีสาเหตุจากการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำๆ หรือมากเกินไปจากการทำกิจกรรมประจำวัน หรือการเคลื่อนไหวในท่าเดิมซ้ำๆ จนทำให้เกิดความตึงเครียดสะสมที่กล้ามเนื้อ เช่น การสะพายกระเป๋าข้างใดข้างหนึ่งเป็นประจำ, การใส่รองเท้าส้นสูง, การพิมพ์งานหน้าจอคอมพิวเตอร์, การใช้มือถือ รวมไปถึงการออกกำลังกาย เนื่องจากเวลาเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อ จะเกิดกระบวนการต่างๆ ในการดึงพลังงานของกล้ามเนื้อออกมาใช้ และเกิดกรดแลคติคไปสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการกล้ามเนื้อล้าตามมา โดยอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
การนวด เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางกายภาพบำบัดใช้ในการบรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรงมากนัก มีหลายเทคนิค เช่น ลูบตามผิวหนัง บีบ คลึง กดจุด เคาะ ทุบ หรือดึง การนวดนอกจากจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความตึงเครียดแล้ว ยังเป็นการรักษาทางเลือกที่อาจช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้ อาทิ
- ลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อ ให้ความตึงลดลง
- ลดการยึดติดของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและแผลเป็น
- เพิ่มการไหลเวียนกลับของเลือดและน้ำเหลือง
- เพิ่มการเคลื่อนไหวข้อต้อ ข้อยึดติดที่ไม่รุนแรง
- ลดอาการปวดจากการกระตุ้นการหลั่งสารบรรเทาความเจ็บปวด
- เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลและความตึงเครียดของจิตใจ
หลักการเลือกใช้น้ำมันนวด ควรพิจารณาจากเบสน้ำมันนวดตัว หรือน้ำมันนำพาที่มาจากน้ำมันสกัดธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการบำรุงผิวให้เนียนนุ่มชุ่มชื้น อาทิ น้ำมันรำข้าว, น้ำมันอะโวคาโด, น้ำมันถั่วอินคา, น้ำมันมะกอก เป็นต้น ควบคู่กับการใช้ศาสตร์แห่งกลิ่นหอมบำบัด เพื่อสร้างความผ่อนคลายได้ และสามารถผสมน้ำมันนวด ลงในน้ำอุ่นสำหรับแช่ตัว นอกจากจะช่วยคลายกล้ามเนื้อและความเครียดแล้ว ยังสามารถบำรุงผิวให้เนียนุ่มชุ่มชื้นไปพร้อมกันได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง