ไลฟ์สไตล์

"เสื้อชูชีพ" ใส่อย่างไรให้ถูกวิธี ไขข้อข้องใจ ทำไมบางคนใส่ แต่ไม่รอด

ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำ วิธีสวมใส่ เสื้อชูชีพ อย่างไรให้ถูกวิธี พร้อมให้ความรู้ "เสื้อชูชีพ" มีคุณสมบัติอย่างไร และสามารถพยุงตัวให้ ลอยน้ำ ได้นานแค่ไหน ทำไมบางคนใส่ แต่ไม่รอด

จากเหตุการณ์ "เรือหลวงสุโขทัย" อับปาง เนื่องจากคลื่นลมแรง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา และ ณ วันนี้ (20 ธันวาคม 2565) ยังไม่พบลูกเรือที่สูญหายอีกเกือบ 30 ราย แต่ทั้งนี้ทุกฝ่ายต่างเชื่อว่ายังมีลูกเรือที่น่าจะมีชีวิตรอด และยังลอยคอรอการช่วยเหลือ เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นสวมใส่ "เสื้อชูชีพ" ที่เชื่อว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญ แต่ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งเกิดเหตุเรือฟีนิกซ์ล่ม ที่ จ. ภูเก็ต จากสาเหตุคลื่นลมแรง เมื่อปี 2561 มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า “บางคนสวมเสื้อชูชีพ แต่ทำไมถึงเสียชีวิต”

 

โดย ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เคยออกมาให้ความรู้ในเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นภัยพิบัติที่ไม่มีใครคาดคิด ดังนั้นสิ่งที่เราจะป้องกันได้ในเบื้องต้น คือ ทุกคนควรเรียนรู้วิธีในการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ ทั้งการเรียนรู้หลักในการว่ายน้ำและทักษะในการเอาชีวิตรอดในน้ำ,  รู้จักวิธีการร้องขอความช่วยเหลือ เช่น การโบกมือขึ้นลงเหนือศีรษะ ให้คนอื่นรู้ว่ากำลังประสบภัย, ตะโกนขอความช่วยเหลือ และรู้จักวิธีการลอยตัวอยู่ในน้ำ เช่น การฝึกลอยตัวแบบนอนหงาย ขาแขนเหยียดตรงเหมือนนอนอยู่บนที่นอน เงยหน้ายกคางเพื่อใช้ปากหายใจ และที่สำคัญคือต้องมีสติไม่ตกใจ นอกจากนี้ ผู้พบเห็นยังต้องรู้จักวิธีการขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ด้วยการโทรแจ้งสายด่วน 1669

 

สำหรับประชาชนทั่วไปพี่พบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากการจมน้ำและต้องการเข้าให้ความช่วยเหลือ ในเบื้องต้นผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องคำนึงถึงถึงความปลอดภัยตัวเองเป็นสำคัญก่อน เพราะบ่อยครั้งที่คนช่วยก็ได้รับอันตรายจากการช่วยเหลือด้วย โดยวิธีที่ถูกต้องในการช่วยคนขึ้นจากน้ำประกอบด้วยการตะโกน โยน ยื่น อย่างแรกคือการตะโกนบอกให้คนตกน้ำอย่าตกใจ จากนั้นหาวัสดุลอยน้ำโยนให้ผู้ที่ตกน้ำเกาะพยุงตัว และยื่นอุปกรณ์ หรือหาสิ่งของให้ผู้ที่ตกน้ำจับเพื่อลากเข้าฝั่ง ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะผู้ที่จมน้ำจะมีอาการตกใจ กอดรัด และทำให้จมน้ำไปด้วยกันทั้งคู่ นอกจากนี้จะต้องประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของน้ำด้วย โดยเฉพาะในทะเลที่มีคลื่นลมแรง

 

เลขาธิการ สพฉ.กล่าวต่อไปว่า เสื้อชูชีพ ที่ใช้ตามเรือท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ ยังเป็นแบบเสื้อพยุงตัว ไม่ใช่เสื้อชูชีพแท้ ที่ออกแบบไว้ให้นอนหงายตลอดเวลา และการใส่เสื้อชูชีพจะต้องใส่ให้ถูกต้อง รัดตัวล็อคทุกจุด มิเช่นนั้นเสื้อชูชีพอาจจะหลุดออกจากตัวได้  ทั้งนี้ เสื้อชูชีพจะสามารถพยุงตัวผู้ประสบเหตุได้ 3-6 ชั่วโมง แต่หากเป็นเสื้อชูชีพคุณภาพดีจะสามารถลอยตัวได้นานเป็นวัน แต่ที่สำคัญคือต้องมีสติ พยายามช่วยตัวเองให้ลอยตามน้ำให้ได้ อย่าพยายามว่ายเข้าฝั่งอาจทำให้หมดแรง ควรตะโกนให้คนช่วย หรือเป่านกหวีดที่ติดมากับชูชีพ

 

"ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือ หากช่วยเหลือผู้ประสบเหตุขึ้นมาได้ คือ ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669  หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้กดนวดหัวใจ ช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)  ตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น"