ไลฟ์สไตล์

เบรกแตกยางระเบิด

เบรกแตกยางระเบิด

28 มี.ค. 2553

เป็นเรื่องที่คนใช้รถไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การดูแลบำรุงรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง รวมทั้งต้องหมั่นสังเกตอาการที่บ่งบอกถึงอาการทั้งสองอย่าง คำว่า เบรกแตก ในความหมายดั้งเดิมคือ

การที่เหยียบเบรกไม่ว่าหนักหรือเบาแล้วแป้นเบรกจมหายลงไปติดพื้น รถไม่สามารถจะหยุดได้ตามที่เคยเป็น เป็นเรื่องที่อันตรายมากสำหรับผู้ใช้รถและผู้ร่วมทาง

   เบรกแตก ในลักษณะเมื่อตรวจสอบแล้วจะพบว่ากระป๋องน้ำมันเบรกสูญหายไปจนเกือบหมดกระป๋อง บ่งบอกได้ว่ามีการรั่วภายนอกจากจุดใดจุดหนึ่ง โดยเฉพาะในล้อหลังที่เป็นแบบดรัมเบรก ลูกสูบเบรก (Wheel cylinders) ในล้อหลังทั้งสองข้าง จะมีน้ำมันรั่วสาดกระจายเต็มพื้นที่ของล้อด้านนั้น ในชุดลูกสูบเบรกจะมีลูกยางและลูกสูบ ผ่านการใช้งานมานาน ลูกยางเสื่อมสภาพไม่สามารถที่จะกักน้ำมันเบรกแรงดันสูงเอาไว้ได้ น้ำมันเบรกจึงทะลักออกมาจากลูกสูบเบรก

 นอกจากการใช้งานมานานแล้ว น้ำมันเบรกที่ด้อยคุณภาพก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดเบรกแตกได้ การดูแลบำรุงรักษาที่ดีควรอย่างยิ่งจะต้องถอดล้อออกมาตรวจสภาพการรั่วซึมของน้ำมันเบรก ปรับตั้งระยะห่างของผ้าเบรกให้อยู่ในระยะที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ หมั่นตรวจจุดรั่วซึมตามท่อทางน้ำมันเบรกและน้ำมันเบรกจึงควรได้รับการเปลี่ยนถ่ายเป็นประจำทุกๆ 1 ปี

 เบรกจมวูบหาย เบรกต่ำ ต้องย้ำเบรกถี่ๆ หลายๆ ครั้งเบรกจึงพอจะใช้งานได้ อาการนี้ปัจจุบันหลายคนเรียกว่าเบรกแตกเช่นกัน ความจริงแล้วต่างกัน เพราะการแก้ไขปัญหาต่างกัน เบรกต่ำเบรกวูบหาย เป็นการรั่วภายในระบบที่สังเกตไม่พบจากการสูญหายของน้ำมันเบรกจากกระป๋องน้ำมันเบรก การรั่วภายในหรืออาการเบรกต่ำเบรกหายส่วนมากจะเกิดขึ้นที่ แม่ปั๊มเบรก (Master cylinder) ภายในแม่ปั๊มเบรกโดยทั่วไปแล้วจะมีชุดลูกสูบอยู่สองชุด (ชุดหน้า ชุดหลัง)

   เมื่อเหยียบเบรกน้ำมันในลูกสูบจะผลักดันให้ลูกสูบชุดหลังไปผลักดันลูกสูบชุดหน้า เมื่อใดที่ลูกยากเสื่อมสภาพไม่สามารถสร้างแรงดันได้น้ำมันเบรกก็จะย้อนกลับมาที่ภายในกระบอกเบรก ไม่มีแรงดันที่จะส่งไปยังล้อเพื่อหยุดรถ แป้นเบรกที่กดไว้เมื่อต้อวงการเบรกก็จะจมต่ำหายไปในน้ำมันเบรกภายในแม่ปั๊มเบรก การดูแลบำรุงรักษาก็เช่นเดียวกับเรื่องเบรกแตกที่กล่าวมา

 เบรกแตก อันตราย เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะย้ำเบรกต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วเพียงใดน้ำมันเบรกที่มีแรงดันก็จะทะลักออกจากจุดที่รั่วอยู่โดยไม่มีแรงดันไปทำให้ปั๊มล้อทำงาน เช่นเดียวกับเบรกจมเบรกหาย ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้ขับมีทางเลือกอยู่ทางเดียวคือถอนคันเร่ง ลดตำแหน่งเกียร์ลงต่ำทีละเกียร์ และมองหาเป้าหมายที่จะหยุดรถได้โดยที่เกิดความเสียหายต่อรถและคนในรถให้น้อยที่สุด

 ยางระเบิด เกิดขึ้นจากการขาดการเอาใจใส่ในยางทั้งสี่เส้น โดยเฉพาะเรื่องการวัดลมยาง มีสถิติจากการสำรวจในต่างประเทศว่า ร้อยละ 90 ของผู้ที่ใช้รถไม่เคยสนใจเรื่องลมยางกันเลย และร้อยละ 60 อุบัติเหตุของรถยนต์เกิดจากยางและลมยาง และจากประสบการณ์โดยตรงของผมเองที่ได้อยู่กับการตรวจสอบและซ่อมรถที่เกิดอุบัติเหตุ พบว่า ร้อยละ 80 ลมยางทั้งสี่ล้อไม่เท่ากัน รวมทั้งยางอะไหล่ที่ครึ่งต่อครึ่งลมยางอ่อนกว่ามาตรฐาน

 ยางที่มีลมน้อย (ลมอ่อน) กว่าปกติเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยางระเบิด สภาพของยาง รอยขีดข่วน การสึกหรอของแก้มยางก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยางแตก (ระเบิด) ได้ โดยเฉพาะการใช้ยางมือสองมือสามที่เรียกว่ายางเปอร์เซ็นต์ หลายคนที่ยางรั่วซึมบ่อยๆ เติมลมบ่อย ไม่ต้องการเปลี่ยนยาง แต่เลือกที่จะใช้ ยางใน (Tube) มาใส่แทน บอกได้ว่าเป็นการกระทำที่ซุ่มเสี่ยงต่อการระเบิดของอย่างเป็นอย่างยิ่ง ยางไม่ดีหรือมีท่าทีไม่น่าไว้ใจต้องเปลี่ยนครับ ยางระเบิดในขณะขับขี่ไม่ว่าจะเป็นความเร็วต่ำหรือความเร็วสูงอันตรายมากกว่าเบรกแตก เพราะจะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีไม่มีการเตือนล่วงหน้า เมื่อยางแตกยางระเบิด สิ่งที่ต้องทำทันที คือ เกร็งมือบังคับทิศทางของพวงมาลัย ถอนคันเร่ง ลดความเร็วโดยใช้เกียร์เป็นตัวช่วย ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะแตะ เหยียบ กด ที่แป้นเบรกอย่างเด็ดขาด เมื่อความเร็วลดลงแล้ว ใช้เบรกมือดึงแล้วปล่อยแล้วดึง จนความเร็วลดลงต่ำพอที่จะควบุคมทิศทาง(พวงมาลัย) จากการปัด การส่าย การหมุนของของรถแล้วจึงค่อยๆ เหยียบเบรก

 เบรกแตก ยางระเบิด เป็นเรื่องที่ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของเราเอง โดยการหมั่นตรวจระบบเบรก หมั่นตรวจวัดลมยาง หมั่นตรวจสภาพของยาง ทำได้อย่างสม่ำเสมอและถูกต้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยโชคมาช่วย