
ฝรั่งมองไทย(1)
สัปดาห์ที่ผ่านมาในงานมหกรรม "คืนชีวิตให้แผ่นดิน" ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี เราได้รับเกียรติจาก ดร.แกวิน เคนนี ผู้เชี่ยวชาญด้าน Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากประเทศนิวซีแลนด์ในการมาร่วมประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ และให้
ดร.แกวิน ปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ และเป็นที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับรัฐบาลนิวซีแลนด์ แม้จะเป็นประเทศเล็กแต่นิวซีแลนด์ก็เป็นประเทศเกษตรกรรมเหมือนประเทศไทย ปัญหาโลกร้อนจึงเป็นปัญหาที่กระทบเกษตรกรของนิวซีแลนด์ไม่แพ้บ้านเรา ปัจจุบันการแก้ปัญหาโลกร้อนในระดับนานาชาติได้มุ่งประเด็นหลักๆ 2 เรื่อง คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการดูดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกใบนี้สูงเกิน 2 องศา
เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหากอุณหภูมิของโลกสูงถึงระดับ 2 องศาเมื่อใด โลกจะประสบกับมหันตภัยจากระบบนิเวศที่เสียสมดุลจนเลยจุดที่เราเรียกว่า tipping point คือจุดที่ทุกอย่างไม่สามารถหวนกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก สำหรับมนุษยชาติ นั่นคือจุดที่เรียกว่า “สายไปเสียแล้ว” เมื่อเลยจุดนี้ไปเราจะอยู่กับโลกที่ไม่ได้สวยสดงดงามอย่างนี้อีกต่อไป มนุษย์จะขาดน้ำ ขาดอาหาร หิวโหย และหนาวเย็น
ดร.แกวินเห็นว่า แม้ว่าเราจะเห็นปัญหาอยู่ตรงหน้าและตระหนักว่า “หายนะ” กำลังคืบคลานเข้ามา แต่กระบวนคิดในการแก้ปัญหาในระดับนานาชาติก็ยังหลงทาง แถมยังถกเถียงทะเลาะกันไม่จบว่าเราจะนำพาโลกใบนี้ออกจากปัญหาอย่างไร การแก้ปัญหาแบบหลงทางที่เห็นได้ชัดเห็นจะเป็นการนำเอามาตรการ “กองทุนคาร์บอนเครดิต” มาใช้
อธิบายง่ายๆ คือว่า ประเทศใด หรืออุตสาหกรรมใดที่ต้องปล่อยคาร์บอนมาก เช่น อุตสาหกรรมการบิน ปิโตรเคมี ก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนคาร์บอนเครดิตมาก ส่วนคนปลูกป่าหรือเป็นผู้ที่ปล่อยออกซิเจนเข้าบรรยากาศโลกก็จะเป็นผู้ที่ได้รับเงินอุดหนุนชดเชยจากกองทุนคาร์บอนเครดิต กองทุนนี้ใช้หลักการ “ใครปล่อยของเสียมากก็ต้องจ่ายมาก” เพื่อไปชดเชยให้คนที่ปล่อยของดี มองผิวเผินแล้วหลักการนี้ก็เข้าท่า แต่ทว่าในระบบทุนนิยมที่ทุกอย่างถูกเปลี่ยนเป็น “เงิน” เสียหมด กองทุนคาร์บอนเครดิตที่ถูกจัดตั้งขึ้นแทนที่จะแก้ปัญหาก็ได้สร้างปัญหาใหม่ให้โลกใบนี้
ดร.แกวิน ได้ยกกรณีตัวอย่างที่น่าศึกษาจากประเทศบราซิลมาให้เราได้เรียนรู้กัน บราซิลเป็นประเทศที่นานาชาติให้ความสำคัญมากในการแก้ปัญหาโลกร้อนเพราะถือเป็น “บ้าน” ที่สำคัญของป่าอะเมซอนที่เปรียบเสมือน “ปอด”ของโลก สิ่งที่เกิดขึ้นคือการตัดไม้ทำลายป่าในบราซิลเป็นไปอย่างน่าตกใจ อันเนื่องมาจากปัญหาการเมือง คอรัปชั่นที่ติดอันดับโลกไม่แพ้บ้านเรา อุตสาหกรรมหนักในสกอตแลนด์ได้ตกลงจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิต และพ่อค้าคาร์บอนเครดิตที่ชาญฉลาดก็นำเงินที่ได้ไปจ้างให้คนปลูกไม้โตเร็วเช่น ยูคาลิปตัส
ในประเทศบราซิล สิ่งที่น่าตกใจก็คือ หลังจากป่ายูคาลิปตัสในบราซิลขึ้นเต็มเหมือนดอกเห็ด ระดับน้ำใต้ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ลดฮวบทันที ดินก็แทบจะเป็นกลายเป็นทะเลทรายไปทั้งประเทศ ฟังอย่างนี้แล้วอาจารย์ยักษ์ก็อยากจะบอก ดร.แกวินว่า ประเทศไทยฉลาดกว่าบราซิลแยะ ตรงที่เราไม่ต้องให้ใครมาบอก เราปลูกยูคาลิปตัสกันเต็มบ้านเต็มเมืองคอยไว้แล้ว พอกองทุนคาร์บอนเครดิตเข้ามา เราก็รับตังค์เลย ไม่ต้องเสียเวลาเหมือนบราซิล เชื่อหรือยัง คนไทยเก่งกว่าใครในโลก แฮะ แฮะ แฮะ !!!
"อาจารย์ยักษ์ มหาลัยคอกหมู"