Lifestyle

ไขข้อข้องใจ "มรดก" สามี ตาย ไม่มีลูก ญาติขอส่วนแบ่งจาก ภรรยา ได้หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไขข้อข้องใจ ว่าด้วยเรื่องของ "มรดก" สามี ตาย ไม่มีลูก ใครควรได้รับ ญาติ มีสิทธิขอส่วนแบ่ง มรดก จาก ภรรยา ได้หรือไม่ กาง ข้อกฎหมาย ชัด ๆ

หากพูดถึงเรื่องของเงิน ๆ ทอง  ๆ มักไม่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของ "มรดก" หลายต่อหลายครั้ง ที่มักมีข่าวเคลียร์ปัญหามรดก ไม่ลงตัว จนเป็นคดีฆาตกรรม ขึ้นหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง ล่าสุด มีคำถามจากสาวรายหนึ่งว่า สามีเสียชีวิต แต่ไม่มีบุตร กรณีไม่ได้ทำพินัยกรรม ส่วนบิดามารดาเสียชีวิตหมดแล้ว ญาติพี่น้องของสามี จะมาขอส่วนแบ่งมรดกจากภรรยาได้หรือไม่ มาไขคำตอบกัน รวมทั้งข้อควรรู้เกี่ยวกับ "มรดก"

นายนิติธร แก้วโต หรือ ทนายเจมส์ ระบุว่า กรณีที่สามีภรรยาจดทะเบียนสมรส แต่ไม่มีบุตร พี่น้องของสามี มีสิทธิได้รับมรดก ตาม ปพพ. มาตรา 1635(2) ส่วนภรรยามีสิทธิได้กึ่งหนึ่งของกองมรดก

 

มาตรา 1635 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

 

  1. ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับ มรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่ง เสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
  2. ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือถ้าไม่มีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) แต่มี ทายาทตาม มาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
  3. ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (4) หรือ (6) และทายาทนั้น ยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทตาม มาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสิทธิได้มรดกสองส่วนในสาม
  4. ถ้าไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 คู่สมรสที่ยังมี ชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

 

  1. ผู้สืบสันดาน
  2. บิดามารดา
  3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
  4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
  5. ปู่ ย่า ตา ยาย
  6. ลุง ป้า น้า อา

 

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

 

 

ในส่วนของกองมรดกหลังจากที่แบ่งสินทรัพย์ส่วนตัวสินสมรสไปแล้ว คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดก ดังนี้

 

1. กรณีที่เจ้ามรดกมีผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกเป็น ลูก หรือลูก และพ่อแม่ แบบนี้คู่สมรสจะได้รับมรดกเท่า ๆ กันกับทายาทคนอื่น ๆ

 

  • ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกมีคู่สมรส มีลูก 3 คน และมีพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเจ้ามรดกมีกองมรดกทั้งสิ้น 12 ล้านบาท (หักสินสมรสออกไปแล้ว) กรณีนี้จะมีผู้ได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม คือ คู่สมรส ลูก 3 คน และ พ่อแม่ รวมทั้งหมด 6 คน แบบนี้ก็จะได้รับมรดกเท่า ๆ กันคนละ 2 ล้านบาท 

 

2. กรณีที่เจ้ามรดกมีผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกเป็นพ่อแม่ หรือพี่น้องที่พ่อและแม่เดียวกัน แบบนี้คู่สมรสจะได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง ส่วนคนที่เหลือก็เอามรดกอีกครึ่งหนึ่งไปแบ่งเท่า ๆ กัน

 

  • ตัวอย่างเช่น เจ้ามรดกมีคู่สมรส และพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีมรดกรวมทั้งสิ้น 12 ล้านบาท แบบนี้คู่สมรสก็จะได้รับมรดกก่อนครึ่งหนึ่ง คือ 6 ล้านบาท ส่วนพ่อแม่ก็จะนำมรดกส่วนที่เหลืออีก 6 ล้านบาทไปแบ่งกันคนละครึ่ง ก็จะได้รับกันคนละ 3 ล้านบาท

 

3. กรณีที่เจ้ามรดกมีผู้มีสิทธิได้รับมรดกเป็น พี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา แบบนี้คู่สมรสก็จะได้รับมรดกก่อน 2 ใน 3 ส่วน ส่วนทายาทที่เหลือก็เอามรดกไปแบ่งเท่า ๆ กัน

 

เอกสารที่ต้องนำไปประกอบในการขอรับมรดก

 

  1. หนังสือแสดงสิทธิ
  2. ใบมรณะบัตรของเจ้ามรดกและทายาทที่ตาย
  3. ทะเบียนสมรส หย่า ของเจ้ามรดก
  4. ทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวของทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกคน
  5. ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ต้องไปสำนักงานที่ดิน หรือ นำเอกสารในการสละมรดกไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่

 

 

เรื่องเงินเงินทองทอง ไม่ค่อยเข้าใครออกใคร ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาทะเลาะกันเรื่องแย่ง มรดก คือ การทำพินัยกรรม จัดสรรทรัพย์สินไว้ ก่อนเสียชีวิตจะดีที่สุด

 

 

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ