Lifestyle

"เฮอร์แปงไจนา" โรคระบาดใน เด็ก ที่ต้องระวัง กลุ่มเดียวกับ โรคมือเท้าปาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เฮอร์แปงไจนา" โรคระบาดใน เด็ก ที่ต้องระวัง เกิดจาก ไวรัส ในกลุ่ม เอนเทอโรไวรัส กลุ่มเดียวกับ "โรคมือเท้าปาก" มักระบาดในช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน

"เฮอร์แปงไจนา" Herpangina คือ การติดเชื้อ ไวรัส ในกลุ่ม เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Infection) ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยอาจมีแผลเปื่อยในช่องปาก เจ็บคอ เป็นไข้ แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงมากนัก และสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป Herpangina แพร่กระจายจากคนสู่คนได้ และเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พบบ่อยในเด็กอายุ 1-7 ปี

 

อาการของ "เฮอร์แปงไจนา"

 

หลังจากติดเชื้อประมาณ 2 วัน ผู้ป่วยอาจมีตุ่มแดง หรือแผลเปื่อยขอบสีแดงบริเวณเพดานปากและลำคอ ซึ่งสร้างความเจ็บปวด แต่อาจหายได้เองใน 7 วัน ทั้งนี้ ผู้ป่วย Herpangina บางรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป เช่น

 

- มีไข้เฉียบพลันหรือมีไข้สูงกว่า 38.5-40 องศาเซลเซียส
- เจ็บคอ เจ็บปวดขณะกลืนอาหาร
- ปวดหัว ปวดคอ
- ต่อมน้ำเหลืองในคอบวมโต
- น้ำลายไหลยืด (ในเด็กทารก)
- อาเจียน (ในเด็กทารก)
- ปวดท้อง
- เบื่ออาหาร

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบ แพทย์ ทันที

 

- เจ็บคอ หรือมีแผลในปากนานเกิน 5 วัน
- มีไข้สูงเกิน 41 องศาเซลเซียส และไข้ไม่ลดลง
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง อ่อนเพลีย ตาลึกโบ๋ ปัสสาวะน้อยลงหรือมีสีเข้ม เป็นต้น
- อาการต่างๆ แย่ลง หรือมีอาการป่วยอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

 

สาเหตุของ "เฮอร์แปงไจนา"

 

Herpangina เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัส กลุ่ม เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus Infection) ชนิดที่พบบ่อย ได้แก่ เอนเทอโรไวรัส 71 ไวรัสคอกซากี (Coxsackie) ไวรัสกลุ่ม A ชนิด 1-10, 12, 16 และ 22 ซึ่งเป็นไวรัสติดเชื้อใน ระบบทางเดินอาหาร

 

ไวรัส เหล่านี้สามารถแพร่กระจายได้ทั้งทางปาก ระบบทางเดินหายใจ ทางน้ำสะอาด รวมถึงวัตถุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคต่างๆ เช่น ผ้าขนหนู แก้วน้ำ และของเล่น เป็นต้น

 

ดังนั้น จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากต้องพบเจอ ใกล้ชิดกับผู้ป่วย Herpangina หรือต้องอยู่ในสถานที่ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ เช่น โรงเรียน ค่ายกิจกรรม และสถานที่เลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะในช่วงที่มีความเสี่ยงเกิดโรคสูง อย่างช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน

 

การวินิจฉัย "เฮอร์แปงไจนา"

 

อาการของ Herpangina คล้ายกับ โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)  ต่างกันที่ Herpangina ไม่มีผื่นขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า จึงอาจสังเกตอาการของโรคนี้ได้ลำบากในบางครั้ง

 

เมื่อไปพบแพทย์ ในเบื้องต้นแพทย์อาจซักถามอาการ ประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณลำคอและเพดานปาก เนื่องจาก Herpangina มีลักษณะแผลที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ จึงอาจไม่ต้องตรวจด้วยวิธีอื่นๆ แต่หากอาการของ Herpangina ค่อนข้างซับซ้อน แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่างๆ เช่น

 

- เก็บตัวอย่างของเหลวจากโพรงจมูก
- ตรวจปัสสาวะ และอุจจาระ
- ตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ

 

การรักษา "เฮอร์แปงไจนา"

 

โดยปกติ ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายจะสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค เช่น ไวรัส และ แบคทีเรีย ทำให้อาการส่วนใหญ่อาจหายได้เองภายใน 7-10 วัน และยังไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต

 

Herpangina เป็นโรคที่ต้องรักษาตามอาการ วิธีที่ใช้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ด้วย เช่น อายุ อาการของผู้ป่วย การทนต่อยา โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษา ดังนี้

 

- การรักษาด้วยยา กินยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อลดไข้ อาการปวดและไม่สบายตัว แต่ห้ามใช้ยาแอสไพรินรักษาในเด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อลดอาการปวดสำหรับช่องปากและลำคอ เช่น ยาลิโดเคน

 

- การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะนมเย็น น้ำเย็น หรือกินไอศกรีม เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย ทดแทนของเหลวที่เสียไปจากการมีไข้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มร้อน และผลไม้ตระกูลส้ม เพราะอาจทำให้เจ็บแผลในปากและคอมากขึ้น

 

ภาวะแทรกซ้อนของ "เฮอร์แปงไจนา"

 

เนื่องจากอาการต่างๆ ของ Herpangina เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และสามารถหายได้เอง จึงไม่ค่อยเกิดภาวะแทรกซ้อนบ่อยนัก

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจเสี่ยงเผชิญภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ได้

 

- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และอาการทางระบบประสาท จากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัสอย่างรุนแรง

- หากป่วยด้วย Herpangina ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด  เด็กที่เกิดมามีภาวะตัวเล็ก มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย   

 

การป้องกัน "เฮอร์แปงไจนา"

 

Herpangina เป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ จึงควรป้องกันด้วยวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

- ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- แยกผู้ป่วยออกจากผู้ที่มีสุขภาพดี และระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- ควรปิดปากและจมูกทุกครั้งเมื่อจามหรือไอ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- ทำความสะอาดของเล่น หรือเครื่องใช้อื่นๆ ที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วยด้วยยาฆ่าเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำมูก ของเหลว หรือผ้าอ้อมใช้แล้วของเด็กที่ติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนแออัด หรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

 

ขอบคุณข้อมูล Pobpad

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w


เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่


(https://awards.komchadluek.net/#)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ