
"ศิริราชเจ๋งผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์กระจกตาด้วยเลเซอร์
18 มี.ค. 2553
ศิริราช เจ๋ง ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์กระจกตาด้วยเลเซอร์ ครั้งแรกของไทย ช่วยตัดขอบกระจกตาเรียบ สมานแผลได้ง่าย
ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 มี.ค.ในการแถลงข่าว ศิริรราชปลูกถ่ายกระจกตาด้วยเลเซอร์สำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย ซึ่งมี ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ม.มหิดล เป็นประธานในการแถลงข่าว
รศ.พญ.ภิญนิตา ตันธุวานิตย์ แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ กล่าวว่า กระจกตา หรือ ตาดำ คือส่วนหน้าของดวงตา ซึ่งดวงตานั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหน้าสุดคือกระจกตา ส่วนกลางคือเลนส์แก้วตา และด้านในสุดเป็นจอตา เรามักคุ้นหูแต่คำว่าเลนส์ขุ่นมัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุทำให้มองไม่ค่อยเห็น หรือที่เรียกว่า ภาวะต้อกระจก ซึ่งการทำผ่าตัดลอกต้อกระจกร่วมกับการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมก็สามารถทำให้มีการมองเห็นที่ดีขึ้น ส่วนภาวะกระจกตาเสื่อมจะต่างจากภาวะต้อกระจก เนื่องจากพยาธิสภาพจะอยู่ที่กระจกตาทางด้านหน้าที่มีการขุ่นมัว ไม่ใช่ที่เลนส์ตา ทำให้ความสามารถในการมองเห็นน้อยลงหรือไม่ชัด ซึ่งอุบัติการณ์ภาวะกระจกตาเสื่อมนั้นพบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย
รศ.พญ.ภิญนิตา กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่ทำให้กระจกตาขุ่นมัว ได้แก่ การติดเชื้อ ความเสื่อม อุบัติเหตุ สารเคมี การอักเสบ และโรคทางพันธุกรรม การรักษา เริ่มตั้งแต่การรักษาทางยา เช่น การหยอดตา และถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องรักษาโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา โดยใช้กระจกตาจากผู้บริจาคมาปลูกถ่ายให้คนไข้ แทนกระจกตาเดิมที่ขุ่นมัวของคนไข้ สามารถแก้ไขภาวะกระจกตาขุ่นมัวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามหากรักษาไม่ได้ด้วยทางยาต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาม ซึ่งนำมาจากผู้เสียชีวิตแล้ว
รศ.นพ.สบง ศรีวรรณบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์รักษาสายตา เอส ไอ เลสิก กล่าวว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตารายนี้ เราใช้ เฟมโตเซคเคิลเลเซอร์ (Femtosecond laser) ซึ่งเป็นแสงเลเซอร์ชนิดเดียวที่ศูนย์เลสิกศิริราชมีใช้เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อรักษาผู้มีสายตาผิดปกติ สั้น ยาว เอียง เหตุที่เราเลือกเฟมโตเซคเคิลเลเซอร์มาช่วยในการตัดหรือกรีดแทนใบมีด เนื่องจากจะทำให้แผลมีความเรียบ การสมานตัวของแผลดีกว่า ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลายทั้งในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาในการรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง และยังเป็นเทคโนโลยีเดียวที่ได้รับการรับรองจากองค์การ NASA ใช้รักษาภาวะสายตาผิดปกติแก่นักบินอวกาศ เพราะมีความแม่นยำและปลอดภัยสูง
ระยะหลังเรามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งเดิมการตัดเนื้อเยื่อจะใช้กรรไกรและใบมีด แต่การตัดกระจกตาจะทำให้ขอบตาไม่เรียบและสมานได้ยาก ส่งผลต่อการมองเห็นของผู้ป่วยอาจไม่มีเท่าที่ควร ต่างจากการใช้เลเซอร์ในการผ่าตัด รศ.นพ.สบง กล่าว และว่า เทคโนโลยีนี้มีมานานแล้ว แต่นำมาเพื่อใช้แยกกระจกตามเท่านั้น แต่ช่วงหลังเริ่มมีการนำมาใช้ในการตัดเนื้อเยื่อ ซึ่งทำมาแล้ว 3-4 ปี ความปลอดภัยสูง โดยประเทศในแถบเอเชียที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ เช่น ฮ่องกง และญี่ปุ่น
พญ.สุขศรี โชติกวณิชย์ แพทย์ผู้ปลูกถ่ายกระจกตาด้วยเลเซอร์ กล่าวว่า ขั้นตอนการผ่าตัด หลังจากที่แพทย์ได้รับการบริจาคดวงตามาแล้ว เราจะใช้ เฟมโตเซคเคิลเลเซอร์ มาแยกส่วนของกระจกตาตรงกลาง ซึ่งสามารถกำหนดขนาดและรูปแบบที่ต้องการได้อย่างแม่นยำกว่าการใช้ใบมีดแบบเดิม แล้วนำกระจกตามาแช่ในน้ำยาพิเศษชั่วคราว จากนั้นนำคนไข้มาแยกส่วนกระจกตาที่ขุ่นขาวออกด้วย เฟมโตเซคเคิลเลเซอร์ เช่นกัน เมื่อแยกชิ้นกระจกตาทั้งของผู้บริจาคและคนไข้เรียบร้อยแล้ว เราจะนำกระจกตาที่ใสของผู้บริจาคไปวางบนลูกตาของคนไข้แทน แล้วเย็บปิดแผลโดยรอบ ซึ่งรอยต่อของกระจกตาทั้งสองจะมีความเท่ากันทั้งขนาดและรูปแบบ ทำให้มีการหายตัวของแผลที่ดีกว่าวิธีการใช้ใบมีดแบบเดิม ทั้งนี้การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง โดยที่เซลล์ของกระจกตาที่ได้รับบริจาคมา จะต้องมีคุณภาพที่ดี มีเซลล์เพียงพอสำหรับการปลูกถ่ายให้คนไข้ ส่วนคนไข้จะต้องมีจอตาที่ดี จึงจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดและได้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ
ทั้งนี้หลังการผ่าตัด คนไข้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ดังนี้ ห้ามน้ำหรือสิ่งสกปรกทุกชนิดเข้าตา ห้ามขยี้ตา และใช้ฝาครอบตาเวลานอน ไม่ควรใช้สายตาในการจ้องมองมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์ หยอดยาตามแพทย์สั่ง และนัดตรวจติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ทั้งนี้การผ่าตัดกระจกตาเราทำมา 50 ปีแล้ว และการนำเลเซอร์มาใช้ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาถือเป็นวิวัฒนาการการรักษาดวงตาที่ดีอีกขั้นหนึ่ง
ศ.คลินิก นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า การรักษานี้เป็นการต่อยอดการรักษาโรคกระจกตาเสื่อม ซึ่งในการใช้เฟมโตเซคเคิลเลเซอร์ในการผ่ากระจกตานั้น ทางศิริราชสามารถรักษาผู้ป่วยได้ถึงวันละ 2 ราย ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยที่รอคิวรักษากว่าร้อยราย แต่ทั้งนี้ติดปัญหาดวงตาที่รอรับการบริจาคที่มีผู้บริจาคน้อย ซึ่งทางศิริราชต้องรอส่งต่อดวงตาจากสภากาชาดไทย โดยขณะนี้คิวที่รอรับบริจาคนั้นนาน 3-5 ปี สำหรับในส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษานั้น หากเป็นการผ่าตัดด้วยใบมีด อยู่ที่ 25,000 บาท แต่หากผ่าตัดด้วยเฟมโตเซคเคิลเลเซอร์จะบวกเพิ่มค่าเลเซอร์อีก 30,000 บาท รวมค่ารักษา 55,000 บาท
นางประเทือง พึ่งพา ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาด้วย Femtosecond laser นี้ อายุ 73 ปี ป่วยเป็นโรคกระจกตาเสื่อมร่วมกับแผลเป็นที่กระจกตา ทำให้กระจกตาขุ่นมัว และมีการมองเห็นค่อย ๆ มัวลง โดย นางประเทือง กล่าวว่า มาโรงพยาบาล เนื่องจากคนงานโยนกิ่งไม้มาโดนที่ตาขวา รู้สึกเจ็บตา ปวด บวม เคืองตา มีน้ำตาไหล มองเห็นไม่ชัด มัวลงมากขึ้นๆ แต่หลังผ่าตัดการมองเห็นดีขึ้นมาก สังเกตตัวเองมองเห็นดีขึ้นเรื่อยๆ จากใหม่ๆ ที่มองไม่ค่อยเห็น ทำให้เรารู้สึกดีใจมาก