
"เจ็บข้อศอก" กอล์ฟ-เทนนิส เป็นเหตุ
ท่านนักกอล์ฟ นักเทนนิส อาจจะเคยมีอาการเช่นนี้บ้าง เช่น ซ้อมกอล์ฟมากแล้วค่อยๆ เจ็บบริเวณข้อศอก ใกล้ปุ่มกระดูกนูนด้านนอก หรือด้านในข้อศอก และบางครั้งตีแรงเกินไป หรือตีโดนพื้น (ขุดดิน) แล้วเจ็บขึ้นมาทันทีที่บริเวณข้อศอก มีอาการปวดมากขึ้นเวลาตีกอล์ฟหรือเทนนิ
บางครั้งตื่นเช้ากระดกข้อมือไม่ค่อยได้ เนื่องจากเจ็บข้อศอกมาก และรู้สึกเหมือนแขนไม่ค่อยมีแรง แม้แต่จะยกแก้วกาแฟ หรือเปิดประตูรถยนต์ หรือบางครั้งบิดผ้าก็ปวดมาก
อาการเหล่านี้ เป็นอาการของเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะที่ปุ่มกระดูกข้อศอกอักเสบ เรียกว่า โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอก ซึ่งเป็น โรคที่พบบ่อยในนักกอล์ฟนักเทนนิส โดยเฉพาะในผู้เล่นที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอก หรือมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น โรคข้อศอกเทนนิส หรือ Tennis elbow และโรคข้อศอกนักกอล์ฟ หรือ Golfer's elbow เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้ข้อมือและข้อศอกมาก หรือในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา แต่มีการใช้มือเกร็งในท่าซ้ำๆ และมีการกระดกข้อมือและเหยียดศอกอยู่เสมอ เช่น การปัดกวาดเช็ดถู การทาสี การตีกลอง การทำผม การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตลอดจนการเล่นกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะกอล์ฟและเทนนิส
สาเหตุที่สำคัญ
ทำให้เกิดโรคเอ็นอักเสบ คือ แรงตึง หรือการสะบัด หรือการใช้งานซ้ำๆ มากเกินไป (overuse injury) หรือถ้ารุนแรงมากก็อาจมีการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อขึ้นได้ แต่ทั้งนี้อาจพบว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ก็ได้
อาการของโรค
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณปุ่มกระดูกข้อศอก ตรงเอ็นกล้ามเนื้อที่เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะเวลาเกร็งกล้ามเนื้อในการกระดกข้อมือขึ้นหรือลง และมีจุดกดเจ็บในตำแหน่งเดียวกัน เวลาเกร็งกล้ามเนื้อกระดกข้อมือขึ้นหรือลงสู้กับแรงต้าน จะมีอาการปวดมากขึ้น ความรุนแรงของโรคก็แตกต่างกันไป อาจปวดเพียงเล็กน้อย หรือปวดมากจนไม่สามารถใช้แขนได้
โรคข้อศอกเทนนิส Tennis elbow จะปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกเวลาขยับหมุนข้อศอก เวลาสะบัดข้อมือขึ้นแรงๆ หรือเวลากำสิ่งของในมือ
โรคข้อศอกนักกอล์ฟ Golfer's elbow จะปวดบริเวณข้อศอกด้านในเวลาบิดศอกเข้าด้านใน และ
กระดกข้อมือลง
อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก พบในนักเทนนิสที่ตีแบ็กแฮนด์สะบัดข้อมือแรงๆ และในนักกอล์ฟที่วงสวิงยังไม่ค่อยถูกต้องนัก หรือซ้อมมากเกินไป การบาดเจ็บหรือการอักเสบที่ข้อศอกด้านนอกพบบ่อยกว่าด้านใน กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ในคนส่วนใหญ่มักจะไม่แข็งแรงมากนัก และมีการยืดเหยียดได้น้อย ในการเล่นกอล์ฟหรือเทนนิสจึงจำเป็นต้องฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและมีการยืดเหยียดที่ดี
การรักษา
หลังจากการเล่น หรือการใช้งานแล้ว ถ้ามีอาการปวดมากขึ้นมาทันที ควรใช้หลักการรักษา ด้วยการพัก ใช้ความเย็นประคบ ใช้ผ้ายืดพันป้องกันไม่ให้บวม และวางข้อศอกสูงเวลานั่งหรือนอน โดยใช้หมอนรอง หลังจากผ่านระยะเฉียบพลันแล้ว อาการปวดน้อยลง และยุบบวมแล้ว ให้ค่อยๆ เริ่มบริหารกล้ามเนื้อได้ อาจใช้ยารับประทานในกลุ่มต้านการอักเสบ หรือใช้ในรูปของยาทา ในบางรายที่ปวดมากๆ อาจจะต้องมีการฉีดยาสเตียรอยด์ลดการอักเสบเฉพาะที่ และถ้ามีการบาดเจ็บซ้ำซากหรือเรื้อรังก็อาจจะต้องถึงขั้นผ่าตัดรักษา
ท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อ
ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟนักเทนนิส
1.ท่านควรบริหารข้อมือ ข้อศอกให้กล้ามเนื้อยืดเหยียดได้เต็มที่ ก่อนการซ้อมหรือการเล่นทุกครั้ง
2.ควรบริหารกล้ามเนื้อแขนสม่ำเสมอทุกวัน เช่น การบีบสปริงมืออย่างอ่อนๆ หรือบีบลูกบอลนิ่มๆ การใช้ตุ้มน้ำหนักขนาดเบาๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัวและยืดเหยียดตัว และหมุนข้อมือให้แข็งแรง
3.การบริหารต้องเริ่มต้นทีละน้อย ค่อยๆ เพิ่มขึ้นและสม่ำเสมอ ถ้ามีอาการผิดปกติระหว่างการบริหารต้องหยุดพัก
ผศ.นพ.สมบัติ โรจน์วิโรจน์
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ
โทร.1719