Lifestyle

ชวนอ่านเกร็ดประวัติศาสตร์ สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่2 ปฐมเหตุแห่งสงคราม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลัดเลาะไปบนหน้าประวัติศาสตร์ เรียนรู้สาเหตุใน สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่2 จุดเริ่มต้นของจุดจบ ปฐมเหตุชนวนสงคราม หลัง อลองพญาเถลิงอำนาจเหนือ ชเวโบ

ในเรื่องราวของประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจจำนวนมาก ไม่ว่าจะในเรื่องราชวงศ์ ผู้คน การสงคราม และหนึ่งเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ถูกพูดถึงอย่างมากและกว้างขวางที่สุด นั่นก็คือเหตุการณ์คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปี 2310 ในแง่หนึ่ง หลายคนมองว่า การเสียกรุงศรีอยุธยา ภายใต้การปกครองของราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นผลมาจากความอ่อนแอจากภายในไม่ว่าจะเป็นระบบราชการเองรวมทั้งผู้คนในขณะนั้น

ภาพโบราณสถานในเกาะเมืองอยุธยา
ห้วงเวลาร้อยกว่าปี หลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้กระทำการต่อสู้เพื่ออธิปไตยของอยุธยา กองทัพพม่า ก็ไม่เคยข้ามฝั่งเทือกเขาตะนาวศรีมารุกรานกรุงศรีอยุธยา  รวมทั้งราชวงศ์ตองอูภายใต้การนำของพระเจ้าบุเรงนองและส่งไม้ต่อมายังนันทบุเรงก็ได้สั่นคลอนและล้มลง เชื้อพระวงศ์หลายคนต่างพยายามที่จะประกาศตัวตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ปกครองราชอาณาจักรต่อ   มีเพียงคนเดียวที่สามารถทำได้นั่นก็คือพระเจ้ายองยานในยุคราชวงศ์ตองอูยุคหลังหรือที่จะคุ้นหูกันว่ายุคยองยาน และนั่นก็เป็นความรุ่งเรืองสุดท้ายของราชวงศ์ตองอูบนแผ่นดินพม่า
ภาพโบราณสถานในเกาะเมืองอยุธยา
จนถึงสมัยพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ตองอูก่อนที่ความเสื่อมโทรมจะเข้ารุกเร้าราชอาณาจักรอย่างหนัก จากนั้นมอญก็เริ่มแผ่ขยายอำนาจจากตอนใต้ขึ้นไปสู่ตอนเหนือ พม่าต้องแตกกระซ่านเซ็นเกือบจะสิ้นสูญเผ่าพันธุ์ 

ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ก็ได้เกิดมีชายธรรมดาๆคนหนึ่ง นามว่า อองเซยะหรืออองใจยะ ซึ่งตามตำนาน และเรื่องราวที่เล่าขานกันในฝั่งพม่า บอกเล่าว่าชายคนนี้เป็นผู้นำหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า มุโชโบ หรือ ชเวโบ อยู่ทางตอนกลางของประเทศ และเล่ากันว่า อาจจะเคยเป็นนายพรานด้วยซ้ำ

พระเจ้าอลองพญา ภาพจาก วิกิพีเดีย

  เริ่มต่อต้านการปกครองของมอญ และได้ทำการรวบรวมผู้คน พร้อมเปิดแผนปฏิบัติการปราบปรามชาติมอญโดยใช้เวลาถึง 8 ปี จนสามารถปฏิบัติการได้สำเร็จ ยึดแผ่นดินคืนกลับมาในมือของพม่าได้อีกครั้ง  และได้สถาปนาราชวงศ์ขึ้นมาปกครองแผ่นดินใหม่ในนามว่าราชวงศ์คองบองหรือราชวงศ์อลองพญา โดยได้ตั้งตนเองประหนึ่งเป็นพระมหาโพธิสัตว์ผู้มาปราบยุคเข็ญ

ข้ามฟากเทือกเขาตะนาวศรีมาฝั่งตะวันออก กรุงศรีอยุธยา ในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของ สมเด็จพระมหาธรรมราชา หรือที่เราคุ้นหูที่สุดนั่นก็คือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ช่วงเวลายุคทองเวลาหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาและอยู่ในช่วงปลายรัชกาลของพระองค์แล้วเมื่ออลองพญาได้เสวยอำนาจขึ้นมา


ย้อนกลับมาพูดถึงชาติมอญ หลังจากที่สูญเสียอำนาจ และแผ่นดินในการปกครองเจ้านายชั้นสูง ถูกจับกุมคุมขัง ส่วนประชาชนตาดำๆของมอญ ต่างก็อพยพหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระมหาธรรมราชา ด้านอลองพญาก็ได้ส่งทูตมาขอให้ทางอยุธยาส่งตัวเหล่ามอญคืนกลับให้พม่าแต่ได้รับการปฏิเสธ
 

รวมทั้งยังมีประเด็นระหว่างประเทศ ในการที่ทหารอยุธยายึดเรือสินค้าของพม่าซึ่งส่งออกไปขายทางทวาย มะริด ตะนาวศรี ทำให้เกิดเป็นบาดแผลความบาดหมางแผลแรกๆ ที่ทำให้พม่า ในการนำของอลองพญา เริ่มเล็งเห็นแล้วว่าหากยังมีอยุธยาอยู่การปกครองของตนนั้นจะไม่สมบูรณ์แบบ

พระเจดีย์ชเวดากอง นครร่างกุ้ง เมียนมา ภาพจาก https://pixabay.com/
ภายหลังเสร็จการยกฉัตรบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง กษัตริย์มอญและเชื้อพระวงศ์ที่ถูกจับ ก็ได้ถูกนำมาตัดหัวโชว์ กลางที่ชุมนุม และอลองพญาก็ได้ประกาศแผนปฏิบัติการทางการทหารที่มีความมุ่งมั่นที่จะลบกรุงศรีอยุธยาออกจากแผนที่


และนั่นเองจึงนำมาสู่การยกกองทัพกษัตริย์เข้ามาที่กรุงศรีอยุธยาในปี 2303 แต่ภารกิจทางการทหารครั้งนั้นไม่สำเร็จลุล่วงเนื่องจากอลองพญาได้เกิดป่วยและได้สิ้นพระชนม์ลง

พระราชวังโบราณ ด้านวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา
อยุธยามีเวลาหายใจหายคอได้อยู่อีกหลายปีหลังจากนั้น และได้มีการรีเซ็ตระบบราชการผ่านการต่อสู้ของเชื้อพระวงศ์ระดับสูงหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ


มังระ พระราชบุตรองค์ที่ 2 ของอลองพญาได้ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ได้เล็งเห็นว่าภารกิจทางการทหารของพระราชบิดานั้น ยังไม่แล้วเสร็จ อยุธยายังเป็นหอกข้างแคร่อยู่

จุดเริ่มต้นของจุดจบของราชอาณาจักรฟากตะวันออก ปี 2307พระเจ้ามังระได้เปิดประชุมสภา และได้แต่งตั้ง เนเมียวสีหบดี พร้อมกำลังพม่า 4 หมื่นกว่าคน ยกทัพเตรียมเข้าตีอยุธยา โดยได้กวาดต้อนเอากำลังพลจาก รัฐฉาน เชียงใหม่ ล้านช้าง เข้ามารวมเป็นทัพผสม จำนวนไม่น้อยกว่า 7หมื่นคน ตามคำระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฝ่ายพม่า  เมื่อปราบปรามทางตอนเหนือได้เป็นที่เรียบร้อย จัดระบบในเชียงใหม่จนวางใจ และได้เตรียมความพร้อมสายส่งกำลังบำรุงทหารต่อท่อจากเชียงใหม่ ลงสู่ทางใต้เป็นที่พอใจแล้ว   เนเมียวสีหบดีจึงได้เคลื่อนทัพผสมมุ่งหน้าสู่กรุงศรีอยุธยา

ภาพตัวอย่าง เวลากษัตริย์พม่าเรียกประชุมขุนนาง จากเพจ พระเจ้ารัตนปุระอังวะ
ตัดภาพกลับไปที่ กรุงอังวะราชธานี ของพระเจ้ามังระ ซึ่งตัวองค์กษัตริย์มองว่าอยุธยาไม่เคยพ่ายแพ้อย่างราบคาบ จึงได้เล็งเห็นว่า ควรที่จะใช้ยุทธวิธีตีกระหนาบหรือในยุคหลังทางการทหารจะเรียกว่า ยุทธการคีมหนีบ จึงได้ส่งแม่ทัพที่ไว้วางใจอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า มังมหานรธา ควบคุมกำลังพล ยกลงมาเมาะตะมะ ตัดลัดเลาะเข้าเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี แล้วมาตั้งค่ายอยู่ไม่ห่างจากทางใต้ของกรุงศรีอยุธยานัก ที่บริเวณ สีกุก 


และนี่คือการนับ 1 ของการล่มสลายอย่างเป็นทางการของกรุงศรีอยุธยา

logoline