ไลฟ์สไตล์

ทำความรู้จัก "โรคซึมเศร้า" และข้อกฎหมาย นายจ้าง มีสิทธิไม่รับ ทำงาน หรือไม่

ทำความรู้จัก "โรคซึมเศร้า" และข้อกฎหมาย นายจ้าง มีสิทธิไม่รับ ทำงาน หรือไม่

19 ก.ค. 2565

อธิบายข้อกฎหมาย ป่วย "โรคซึมเศร้า" นายจ้าง มีสิทธิที่ไม่รับเข้า ทำงาน หรือไม่ พร้อมทำความเข้าใจอาการซึมเศร้า และสาเหตุ

เพจกฎหมาย กฎหมายแรงงาน อธิบายข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า" และการทำงาน ตอบข้อสงสัยที่ว่า เป็น โรคซึมเศร้า บริษัทมีสิทธิที่จะไม่รับหรือไม่ ? โดยอธิบายไว้ว่า การพิจารณารับบุคคลเข้าทำงาน เป็นการพิจารณาเพื่อทำสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นความผูกพันกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา ๕๗๕ ที่ว่า

 

"อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้"

การรับเข้าทำงานหรือไม่รับเข้าทำงาน เป็นดุลพินิจของนายจ้างที่สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสมว่าประสงค์จะเข้าทำสัญญาด้วยหรือไม่ โดยทั่วไปจะพิจารณาจากความรู้ความสามารถ ทัศนคติ ประสบการณ์การทำงาน นอกจากนั้นอาจพิจารณาจากโรคติดต่อ  หรือประวัติอาชญากรรม หรือพิจารณาจากเกณฑ์อื่น ๆ ก็ได้ 

 

แต่จะไม่รับเข้าทำงานเพราะเลือกปฎิบัติต่อเพศ  ความเชื่อ สีผิว ความเห็นทางการเมือง อาจขัดรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายอื่น ๆ 

 

ในส่วนของการป่วยเป็น "โรคซึมเศร้า" หรือโรคอะไรก็ตาม หากนายจ้างพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจไม่เหมาะกับงานก็อาจพิจารณาไม่รับเข้าทำงาน หรือไม่ตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานด้วยก็ได้ ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา ส่วนกรณีเข้ามาทำงานแล้ว หากนายจ้างจะเลิกจ้างเพราะเหตุป่วย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
 

"โรคซึมเศร้า" คืออะไร

เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่มีในชีวิตประจำวัน ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอยู่นานโดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง มีอาการต่าง ๆ ติดตามมา เช่น นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อโลกภายนอก ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ก็อาจจะเข้าข่ายของ "โรคซึมเศร้า" แล้ว ซึ่ง "โรคซึมเศร้า" ต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้านี้ก็อาจหายได้ 

 

ผู้ที่ป่วยเป็น "โรคซึมเศร้า" นอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่าง ๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย คนที่เป็นแม่บ้านก็ทำงานบ้านน้อยลงหรือมีงานบ้านคั่งค้าง คนที่ทำงานนอกบ้านก็อาจขาดงานบ่อย ๆ จนถูกเพ่งเล็ง เรียกว่าตัวโรคทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ บกพร่องลง ผู้ที่ป่วยเป็น "โรคซึมเศร้า" จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ จะเป็นในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม ร่วมกับอาการทางร่างกายต่างๆ 

 

ดังนั้น การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ แต่ที่เป็นแบบนั้นเป็นเพราะตัวโรค กล่าวได้ว่าถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง และกลับมาเป็นผู้ทีจิตใจแจ่มใส พร้อมจะทำกิจวัตรต่าง ๆ ดังเดิม


 เกณฑ์การวินิจฉัย "โรคซึมเศร้า" หากมีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า

1. มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน
3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
7. รู้สึกตนเองไร้ค่า
8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

* ต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ
 * ต้องมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่
 

 

โรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกับ "โรคซึมเศร้า"


- ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาที่มากระทบ เป็นภาวะที่เกิดจากการปรับตัวไม่ได้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ เช่น ย้ายบ้าน ตกงาน เกษียน เป็นต้น โดยจะพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วยได้ แต่มักจะไม่รุนแรง ถ้ามีคนมาพูดคุย ปลอบใจก็จะดีขึ้นบ้าง อาจมีเบื่ออาหารแต่เป็นไม่มาก ยังพอนอนได้ เมื่อเวลาผ่านไป ค่อย ๆ ปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ภาวะอารมณ์ซึมเศร้าที่มีก็จะทุเลาลง
 
- โรคอารมณ์สองขั้ว ในโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนกับโรคซึมเศร้าอยู่ช่วงหนึ่ง และมีอยู่บางช่วงที่มีอาการออกมาในลักษณะตรงกันข้ามกับอาการซึมเศร้า เช่น อารมณ์ดีเบิกบานมากผิดปกติ พูดมาก ขยันมาก เชื่อมั่นตัวเองมากกว่าปกติ ใช้เงินเปลือง เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์เรียกระยะนี้ว่า ระยะแมเนีย ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วบางครั้งจะมีอาการของโรคซึมเศร้า บางครั้งก็มีอาการของภาวะแมเนีย
 
- โรควิตกกังวล พบบ่อยว่าผู้ที่เป็น "โรคซึมเศร้า" มักจะมีอาการวิตกกังวล ห่วงโน่นห่วงนี่ ซึ่งเป็นอาการหลักของโรควิตกกังวล ที่ต่างกันคือในโรควิตกกังวลนั้น จะมีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น สะดุ้ง ตกใจง่าย ร่วมด้วย อาการเบื่ออาหารถึงมีก็เป็นไม่มาก น้ำหนักไม่ลดลงมากเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และโรคซึมเศร้านั้นนอกจากอาการวิตกกังวลแล้วก็จะพบอาการซึมเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่ายชีวิต ร่วมด้วยโดยที่อาการอารมณ์เศร้านี้จะเห็นเด่นชัดกว่าอาการวิตกกังวล
 

 
ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิด "โรคซึมเศร้า" 


1. กรรมพันธุ์ พบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องสูงในโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง

 

2. สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการควบคุมประสานงานร่วมกัน มากกว่าเป็นความผิดปกติที่ระบบใดระบบหนึ่ง ยาแก้ซึมเศร้าที่ใช้กันนั้นก็ออกฤทธิ์โดยการไปปรับสมดุลย์ของระบบสารเคมีเหล่านี้

 

3. ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ มองอดีตเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง หรือ มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น บุคคลเหล่านี้เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน หย่าร้าง ถูกทอดทิ้งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้


ขอบคุณ ที่มาข้อมูล เพจกฎหมายเเรงงาน คณะเเพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057