มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เตรียมจัดแสดง “โขน” ตอน “สะกดทัพ” ปลายปีนี้
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เตรียมนำโขนมูลนิธิฯ กลับมาโลดแล่นบนเวทีอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 พบกับตอน “สะกดทัพ” ปลายปี 2565 นี้
เตรียมพบกับการกลับมาโลดแล่นบนเวที ของการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2565 หลังห่างหายจากเวทีด้วยสถานการณ์โควิด-19 ถึง 2 ปี โดยครั้งนี้จัดแสดงตอน “สะกดทัพ” ที่จะนำความตื่นเต้น เร้าใจของการแสดง "โขน" มูลนิธิฯ ให้กลับมาอีกครั้งในปลายปีนี้ แน่นอน
ตื่นตากับความงดงามของ "โขน" นาฏกรรมชั้นสูงของไทย ที่มาพร้อมความสนุกสนานจากเรื่องราวการต่อสู้ของ หนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม และ มัยราพณ์ พญายักษ์เจ้าเมืองบาดาล ผู้มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์สะกด ได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้มาช่วยรบกับพระราม จึงลอบเข้าไปสะกดทัพพระราม แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เป็นเหตุให้หนุมานต้องตามไปช่วยพระราม ในระหว่างทางไปเมืองบาดาล หนุมานจะสามารถฝ่าฟันด่าน ๆ เพื่อไปช่วยพระรามกลับมาได้สำเร็จหรือไม่ ติดตามได้ใน โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สะกดทัพ” ปลายปี 2565 นี้
ติดตามกระแสโซเชี่ยลเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/komchadluek/
การแสดง "โขน" มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” จะเปิดการแสดงในช่วงปลายปีนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ติดตามข่าวสารการจำหน่ายบัตรเข้าชมและความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ทาง เว็บไซต์ www.khonperformance.com
โขนไทย โด่งดังไกลไปทั่วโลก
"โขน" ศิลปะการแสดงของชนชาติไทยที่มีความงดงามอ่อนช้อย แต่แฝงไปด้วยพลัง การแสดงโขนนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานที่ถูกค้นพบได้มีการกล่าวถึงการเล่นโขนไว้ว่าเป็นการเต้นออกท่าออกทางให้เข้ากับเสียงดนตรีบรรเลง ผู้เต้นจะสวมหน้ากากและถืออาวุธ เป็นการแสดงที่งดงามล้อตามวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
การแสดงโขนนั้นมีพัฒนาการมากมายและจำแนกประเภทได้อย่างหลากหลาย แต่ในปัจจุบันก็มีการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น จากที่แต่ก่อนนั้นจะอนุญาตให้ผู้ชายเท่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง แต่ในปัจจุบัน ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมการแสดงได้
ความงดงามของโขน การแสดงที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน
และนอกจากการแสดงอันแสนงดงามจับใจแล้ว บทพากย์โขนก็ยังมีความงดงามไม่แพ้กัน โดยบทพากย์จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป แต่มีความงดงามอยู่การส่งและรับมีความสัมผัสกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งมีความงดงามระรื่นหูเข้ากับท่วงท่าการแสดง
ความงามที่สัมผัสได้ในหลากหลายวาระโอกาส
โอกาสที่ใช้ในการแสดงโขนนั้นมีอยู่หลายวาระ ได้แก่ การแสดงในวาระถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าฟ้า ขุนนาง หรือเจ้านาย หรือจะแสดงในงานเฉลิมฉลองและงานรื่นเริงต่าง ๆ และใช้แสดงในงานมหรสพเพื่อความบันเทิงในโอกาสทั่ว ๆ ไปได้อีกด้วย
นอกจากความงดงามที่สามารถชื่นชมได้ผ่านสายตาแล้ว การแสดงโขนนั้นยังมีคุณค่าในแง่ของการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ในแง่ของการคิด คติเตือนใจ คุณธรรมและจริยธรรมต่าง ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย
ติดตามข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม : https://www.komchadluek.net/