Lifestyle

"มะเร็งปอด" โรคร้ายคร่าชีวิต "ทุย เอ็ดเวิร์ด แวนโซ" ภัยเงียบ ไม่สูบก็ตายได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก "มะเร็งปอด" โรคร้ายคร่าชีวิต "ทุย เอ็ดเวิร์ด แวนโซ" หรือ "ร็อด สจ๊วตเมืองไทย" ภัยเงียบ ถึงไม่สูบบุหรี่ก็สามารถเป็นและตายได้

ภายหลังที่มีข่าวการเสียชีวิตของ "ทุย เอ็ดเวิร์ด แวนโซ" หรือ "เอ็ดเวิร์ด แวนโซ" นักร้องนำวง คาไลโดสโคป เจ้าของฉายา "ร็อด สจ๊วตเมืองไทย" หลังต่อสู้กับโรค "มะเร็งปอด" มานาน ซึ่งวันนี้ จะพาไปรู้จัก "มะเร็งปอด" ภัยเงียบ ถึงไม่สูบบุหรี่ก็สามารถเป็นได้

 

"มะเร็งปอด" (Lung Cancer) คือ เซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งภายในปอดที่มีความผิดปกติ และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายจนอาจแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย พบบ่อย 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small Cell Lung Cancer) พบอัตราการเกิดได้บ่อยถึง 80-85% และมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) พบได้ประมาณ 10%-15% อีกทั้งยังมีแนวโน้มในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

 

อาการของมะเร็งปอด

"มะเร็งปอด" ส่วนมากจะไม่ค่อยแสดงอาการในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น สามารถสังเกตได้จาก

 

- ไอเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน
- ไอปนเลือด
- หายใจเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบากเป็นระยะเวลานาน
- เจ็บหน้าอก
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
- ปวดหรือเจ็บขณะหายใจหรือไอ

 

นอกจากนี้ยังมีบางอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่พบได้น้อย เช่น หายใจมีเสียงวีด รูปร่างของปลายนิ้วและเล็บเปลี่ยนแปลงไป ไข้ขึ้นสูง กลืนอาหารลำบาก เสียงแหบ ใบหน้าและคอมีอาการบวม

 

ติดตามกระแสโซเชี่ยลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/komchadluek/

 

สาเหตุของ "มะเร็งปอด"

การสูบบุหรี่ ถือเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งชนิดนี้ถึง 85% ของสาเหตุการเกิดทั้งหมด เนื่องจากภายในบุหรี่ประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายและยังมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด ซึ่งสามารถพัฒนาให้เกิดมะเร็งปอด รวมไปถึงมะเร็งชนิดอื่นอย่างมะเร็งในช่องปากและมะเร็งหลอดอาหารได้ในภายหลัง

 

นอกจากนี้ยาสูบประเภทอื่น เช่น ยานัด ซิการ์ ยาเส้น กัญชาผสมบุหรี่ ก็ยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน สารก่อมะเร็งเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเนื้อเยื่อภายในปอดได้ทันที ซึ่งปกติร่างกายจะพยายามซ่อมแซมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หากมีการสูดดมเข้าไปมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดความเสียหายกับเซลล์มากขึ้นจนร่างกายซ่อมแซมไม่ทัน กระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติที่สามารถกลายเป็นมะเร็งบริเวณปอดได้

 

นอกเหนือจากการสูบบุหรี่ ยังพบว่ามีสาเหตุอื่นๆ ที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน ได้แก่

 

- สูดดมควันบุหรี่จากคนรอบข้าง หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า ควันบุหรี่มือสอง ถึงแม้ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่การได้รับควันบุหรี่จากผู้คนรอบข้างที่สูบก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งปอดได้ไม่แพ้กับการสูบบุหรี่โดยตรง เพราะสามารถรับสารพิษหรือสารก่อมะเร็งได้ด้วยวิธีการเดียวกัน มีผลงานวิจัยพบว่าผู้ที่อาศัยร่วมกับผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสในการเป็นมะเร็งปอดได้ถึง 20-30% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้อยู่กับผู้ที่สูบบุหรี่

 

- ก๊าซเรดอน สารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไป อาจมาจากดิน หิน หรืออาจพบในอาคารบางแห่ง หากสูดดมเอาก๊าซชนิดเข้าไปมาก ๆ อาจส่งผลให้ปอดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ

 

- สารพิษและมลภาวะ สารเคมีและมลภาวะต่างๆ ที่ได้รับในแต่ละวันก็เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรืออยู่ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งทำให้ได้รับสารเหล่านี้เข้าไปเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างสารเหล่านี้ เช่น สารหนู ถ่านหิน แร่ใยหิน เบริลเลียม แคดเมียม ถ่านโค้ก ซิลิกา นิกเกิล นอกจากนี้ การได้รับเอาควันเสียจากยานพาหนะปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเป็น 50% งานวิจัยพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่ผลิตจากรถยนต์หรือพาหนะอื่นมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดถึง 3 เท่า

 

- ปอดมีการติดเชื้อ เนื้อเยื่อปอดที่มีการติดเชื้อหรือถูกทำลายจากโรคต่างๆ เช่น โรคหนังแข็ง (Scleroderma) หรือวัณโรค ที่เสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในเนื้อเยื่อปอด ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้

 

การรักษา "มะเร็งปอด"

เมื่อได้รับผลการวินิจฉัยที่แน่นอนว่าเป็น "มะเร็งปอด" แพทย์จึงสามารถระบุถึงวิธีที่ใช้ในการรักษาได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องดูจากหลายปัจจัยประกอบกันด้วย เช่น ความรุนแรงของโรคว่าผู้ป่วยอยู่ในขั้นใด ชนิดของมะเร็งปอด วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล หรือแม้แต่โอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาด เพื่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

 

- การผ่าตัด (Surgery) เป็นการผ่าเอาเนื้อเยื่อปอดบางส่วนที่มีเซลล์มะเร็งออกหรือผ่าตัดเอาปอดทั้งข้างออกเมื่อตรวจพบการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปทั่วปอด ทั้งนี้แพทย์อาจมีการเลาะต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกด้วยหากเกิดการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง วิธีนี้เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก

 

- การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) เป็นการใช้ยาในหลายรูปแบบ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกหรือทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายในช่วงระหว่างเวลาหนึ่ง โดยอาจจะใช้รักษาก่อนการผ่าตัดเพื่อช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ง่ายขึ้น ในบางรายการทำเคมีบำบัดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดหรืออาการอื่นของมะเร็งในระยะแพร่กระจายได้ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการรักษาเคมีบำบัดในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ยาตรงเป้า (Targeted Therapy) สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่มีเซลล์มะเร็งตอบสนองต่อยา ซึ่งจำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็ง เพื่อให้ทราบผลการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาก่อน

 

- การฉายแสง (Radiation Therapy) เป็นการใช้รังสีในปริมาณสูงฉายไปบริเวณที่เกิดมะเร็งปอดขึ้นโดยตรง เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง มักจะใช้ควบคู่กับวิธีการรักษาอื่นๆ เช่น การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด

 

โรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ยังมีโอกาสการรักษาให้หายขาดได้ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในระยะต้นของการเกิดโรคได้เร็วมากเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดีต่อการรักษาได้มากเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยอยู่ในระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นหรือระยะสุดท้ายจะรักษาไม่หายขาด

 

การป้องกันโรค "มะเร็งปอด"

โรคมะเร็งปอด ยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

 

ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอด การลด ละ เลิก หรือเลี่ยงการสูบหรี่ รวมไปถึงยาสูบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยานัด ยาเส้น ซิการ์ ทำให้การได้รับสารพิษหรือสารก่อมะเร็งที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายน้อยลง ยิ่งมีการสูบหรี่นานเท่าไหร่ก็อาจทำให้การเลิกบุหรี่ทำได้ยากมากขึ้นเท่านั้น แพทย์อาจช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้ด้วยการให้คำแนะนำ การใช้ยาหรือสารทดแทนนิโคติน หรือแม้แต่การเข้ากลุ่มบำบัดช่วยเหลือ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

 

หลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ พยายามอยู่ให้ห่างจากกลุ่มหรือบุคคลรอบข้างที่มีการสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสการสูดดมควันบุหรี่เข้าไปโดยตรง อาจแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่สูบในเขตที่มีการอนุญาตให้สูบได้ ไม่เข้าไปอยู่ในร้านอาหารที่มีการสูบบุหรี่ หรือเลือกอยู่ในสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่แทน

 

เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลือกอาหารในการรับประทานที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นผักและผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามิน รวมไปถึงการเลือกรับประทานให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนในสัดส่วนที่เหมาะสมจากธรรมชาติโดยตรงแทนการได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

 

ป้องกันตนเองจากมลภาวะหรือควันพิษ หากทราบว่าตนเองต้องอยู่ในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายหรือสารพิษที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ควรมีการป้องกันการสูดดมสารเหล่านั้นเข้าไปโดยตรง อย่างเช่นการทำงานในสถานที่มีฝุ่นควันมาก ควรมีการสวมหน้ากากป้องกันไว้ตลอดเวลาขณะทำงาน

 

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคให้ลดลงได้ ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายอาจจะเริ่มจากการออกกำลังกายอย่างช้าๆ พยายามออกกำลังอย่างสม่ำเสมอในแต่ละสัปดาห์

 

ข้อมูล Pobpad

 

ติดตามอ่านข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.komchadluek.net

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ