
ขอพรเกจิเสือหลวงพ่อปานวัดมงคลโคธาวาส
เสือหลวงพ่อปาน คือ เสือ ที่จัดสร้างโดยพระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ หรือหลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส หรือที่นิยมเรียกว่า หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ซึ่งเป็นเสือที่แกะจากเขี้ยว มีทั้งชนิดหุบปาก และอ้าปาก หากมีขนาดเล็ก แกะจากปลายเขี้ยว มักนิยมเรียกว่า เสือสาลิกา แ
พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา พุทธคุณในเหรียญรุ่นนี้เด่นทางแคล้วคลาด มีเรื่องเล่ากันว่า การปลุกเสกเสือของหลวงพ่อปานนั้น ท่านจะต้องมีการเรียกธาตุ ๔ คือ “นะ มะ พะ ทะ” เรียก รูป เรียกนาม ปลุกเสกจนกระทั่งเสือนั้นเคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิตจริงๆ ทีเดียวเชียว
กำหนดอุคหนิมิต ให้เครื่องรางรูปเสือนั้นมีชีวิต โดยปลุกด้วยคาถาเฉพาะ หนึ่งในบทพระคาถาที่เคยได้รับทราบมา คือ คาถาพยัคคัง ฯ เล่ากันว่า เมื่อท่านปลุกเสกเสร็จขณะนั่งเรือไปท่านจะนำเสือนั้นเทลงคลอง จากนั้นท่านจะนำชิ้นหมูมาล่อข้างเรือ และบริกรรมคาถา สักพักเสือจะโดดขึ้นมาติดชิ้นเนื้อหมูโดยทันที
พระครูมงคลพิพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดมงคลโคธาวาส เล่าให้ฟังว่า ความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป เป็นพระอาจารย์ที่มีญาณแก่กล้าชื่อเสียงโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ ๕ เครื่องรางของขลัง ของท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธามาก และสืบเสาะหากันจนทุกวันนี้ ท่านคร่ำเคร่งทางวิปัสสนามาก และธุดงค์อยู่เสมอ ด้วยคุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่งของหลวงพ่อ ที่ได้ประกอบขึ้นไว้ แต่ครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ราษฎรในตำบลใกล้เคียง กระทั่งต่างอำเภอและต่างจังหวัด พากันเคารพนับถือและรำลึกถึงหลวงพ่ออย่างไม่เสื่อมคลาย
ส่วนคติในการสร้างเสือของหลวงพ่อปานนั้น เรื่องราวของท่านมีปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ เสด็จประพาสมณฑลปราจิณ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ว่ามีรับสั่งกับพระปานว่า “ได้ยินชื่อเสียง และกิตติคุณมานาน เพิ่งเห็นตัววันนี้”
แล้วรับสั่งถามว่า “ที่แจกเครื่องรางเป็นรูปเสือมีความหมายอย่างไร ?” หลวงพ่อปานทูลตอบว่า “ได้ไปรุกขมูลธุดงค์ในป่า พบเสือใหญ่หลายครั้ง ได้สังเกตดูเห็นว่า “เสือ” เป็นสัตว์ปราดเปรียว ฉลาด ว่องไว เฉียบขาด มีตบะ และอำนาจ สามารถที่จะใช้ตาสะกดสัตว์อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ คนทั่วไปเรียกผู้ร้ายใจฉกรรจ์ว่า “ไอ้เสือ” ก็คือเอาความเก่งกาจของเสือมานั่นเอง การที่ทำเครื่องรางรูปเสือ มิใช่จะสนับสนุนให้คนกลายเป็น ”อ้ายเสือ” เพียงแต่ต้องการเอาลักษณะของเสือจริงในป่า ที่ปราดเปรียว ว่องไว เฉลียวฉลาด เฉียบขาดมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น”
รัชกาลที่ ๕ ได้ฟังก็ทรงพอพระราชหฤทัยมาก จึงพระราชทานผ้าไตร ผ้ากราบแก่หลวงพ่อปาน และต่อมาได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่หลวงพ่อปานจะมรณภาพนั้น ประชาชนที่มีความเคารพบูชาหลวงพ่อ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปท่านขึ้นมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่าองค์จริง เพื่อไว้เป็นที่เคารพบูชา เพราะหลวงพ่อไม่ค่อยได้อยู่วัด ท่านมักจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นประจำ จะได้กราบรูปหล่อแทนตัวท่าน
แต่เมื่อหล่อรูปแล้ว ท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าวัด ท่านมักจะปลีกตัวไปจำวัดที่พระปฐมเป็นประจำ การที่ท่านไม่อยากเข้าวัดของท่านนั้น อาจเป็นเพราะท่านรู้ล่วงหน้าว่าถึงคราวจะหมดอายุขัยแล้ว ท่านจึงต้องการความสงบในการพิจารณาธรรม แต่ท่านก็ไม่ได้บอกกับใครๆ
เมื่อญาติโยมอ้อนวอนมากๆ เข้า ท่านก็บ่ายเบี่ยงไปว่า “เข้าไปไม่ได้ อ้ายดำมันอยู่ ขืนเข้าไปอ้ายดำมันจะเอาตาย”
คำว่า “อ้ายดำ” หมายถึงรูปหล่อของท่านนั่นเอง ปัจจุบันนี้รูปหล่อของท่านก็ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดมงคลโคธาวาส (วัดคลองด่าน หรือ วัดบางเหี้ย) คือ อยู่ที่กุฏิของหลวงพ่อ ซึ่งได้จัดสร้างขึ้นใหม่ และปรากฏความศักดิ์สิทธิ์มากมาย น้ำมนต์ที่หน้ารูปหล่อของท่านก็มีคนนำไปดื่ม และทองคำเปลวที่รูปหล่อก็มีคนนำไปปิดที่หน้าผาก เพื่อรักษาโรคได้ผลมาแล้วมากมาย
นอกจากนี้แล้ว คนยังมานิยมลอดโบสถ์ ตามคติความเชื่อโบราณว่า "ผู้ใดต้องอัปมงคล ต้องธรณีสารอุบาทว์แปดประการ ต้องน้ำมันผีต้องน้ำมันพราย ต้องเดรัจฉานวิชาคุณไสย ต้องเสน่ห์ยาสั่งยาแฝด ต้องคุณสิบสองภาษา ต้องมนต์ดำมนต์แดง ติดเนื้อหนังมังสา กรรมใหม่เหล่านี้ ลอดโบสถ์ แล้วหลุดหาย ต้องโรคเวร โรคาพยาธิกรรมเก่าแต่ปางก่อน ลอดโบสถ์ แล้วทุเลาเบาหาย"
วัดมงคลโคธาวาส ตั้งอยู่ที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ในสมัยแรกสร้างบ้านเมื่อยังไม่เจริญ ปัจจุบันมีบ้านคนตั้งอยู่ล้อมรอบ การคมนาคมไปมาสะดวกสบายดี วัดนี้ได้ตั้งอยู่ระหว่างกลางประตูน้ำชลหารพิจิตร์ กับถนนสุขุมวิท (สายกรุงเทพ-ตราด) สอบถามเส้นทางไปวัดได้ที่ โทร.๐-๒๓๓๐-๑๒๔๗, ๐-๓๘๐๒๘-๔๙๙๘
เสือ ๑๐๐ ปี หลวงพ่อปาน
พระครูมงคลพิพัฒนคุณ บอกว่า วัดมงคลโคธาวาสนี้ ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำคลองด่าน จัดว่าเป็นที่ค่อนข้างลุ่ม เพราะว่าในเมื่อมีน้ำทะเลขึ้นมากๆ จะท่วมเต็มลานวัดไปหมด ในบางตอนต้องทำสะพานยาวๆ เพื่อให้เดินไปวัดสะดวกสบายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการมรณภาพของหลวงพ่อปาน ทางวัดได้จัดสร้างเสือ ๑๐๐ ปีหลวงพ่อปาน รุ่นเสาร์ ๕ เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนบูรณะวัดและยกอุโบสถ โดยได้นิมนต์พระเกจิร่วมสมัยมาร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษก เช่น หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ หลวงพ่อสิน วัดระหารใหญ่ หลวงพ่อสมชาย วัดปริวาส และ หลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร เป็นต้น
ทั้งนี้ จะประกอบพิธี ๓ วัน ๓ คืน คือ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๓ โดยเฉพาะวันเสาร์ที่ ๒๐ มีนาคม เป็น “วันเสาร์ ๕” ตามตำรา คือ วันเสาร์ ขึ้นหรือแรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดวันเสาร์ห้าในลักษณะนี้ ต้องรอไปอีก ๑๐๐ ปี ตามคติความเชื่อของโบราณจารย์เชื่อว่า ดาวเสาร์เป็นดาวแห่งความเข้มแข็ง และมีพลังมาก หากมีการประกอบพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลในวันเสาร์ห้า จะมีพุทธคุณด้านคงกระพัน และแคล้วคลาด ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการประกอบพิธีในวันดังกล่าว วัตถุมงคลส่วนใหญ่มักได้รับความนิยม
เสือ ๑๐๐ ปีหลวงพ่อปาน รุ่นเสาร์ ๕ เสือสามกษัตริย์ เสือทอง เสืองานแกะ เสือเงิน เสือแกะไม้พยุง เสือแกะแก่นไม้สักเรือน นอกจากนี้ยังสร้างเหรียญอีกหลายรายการ ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเสือที่ทางวัดจัดสร้างเองทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า รายได้ทั้งหมดก็จะเป็นของวัดเช่นกัน
0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0