ไลฟ์สไตล์

รวมความเชื่อ เรื่อง "งู" จากประเทศต่างๆ หลัง "งูเห่า" โผล่กลางงานศพ "แตงโม"

26 พ.ค. 2565

"งูเห่า" โผล่กลางงานศพ "แตงโม" ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ทำเอาผู้ร่วงานวงแตกฮือ ทั้งยังนำไปเชื่อมโยงไปถึง "ความเชื่อ" ในเรื่องต่างๆ ด้วย

คนไทย “ความเชื่อ” เมื่อเจอ “งู” หรือ การที่มีงูเข้าบ้าน เชื่อกันว่าเป็นลางไม่ดีจะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในชีวิต อาจจะมีคนในบ้านเจ็บป่วยหรือบางทีก็อาจจะเสียชีวิตเลยก็มี หรือบาง “ความเชื่อ” บอกไว้ว่า “งู” เป็นตัวแทนที่สื่อถึงเรื่องที่ผิดศีลธรรม และอาจจะสื่อถึงเรื่องเกี่ยวกับกามอารมณ์ด้วยก็ได้

 

และที่สำคัญไปกว่านั้นหาก “งู” เข้ามาในบ้าน โดยเฉพาะงูใหญ่อย่าง งูเหลือม งูหลาม มีความเชื่อว่าส่วนใหญ่จะเป็นงูเจ้าที่ ห้ามตีเด็ดขาด จะยิ่งส่งผลให้ชีวิตของคนในบ้านมีเคราะห์หนักกว่าเดิม เพราะงูที่เข้ามาในบ้าน มาเพื่อเตือนคนในบ้าน ในกรณีที่คนในบ้าน หรือเจ้าของบ้าน ไปลบหลู่หรือทำเรื่องที่ผิดต่อศีลธรรมนั่นเอง แค่ไล่ไปให้พ้นก็เพียงพอ และหลังจากนั้น ควรไปทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร

 

อินเดีย ภาพหมองูชาวคาลเบเลียได้กลายเป็นภาพติดตาของคนทั่วไป กับภาพผู้ชายอินเดีย มีผ้าโพกศีรษะนั่งเป่าปี่เรียกงูให้โผล่หัวขึ้นจากตะกร้า พร้อมเคลื่อนไหวไปตามจังหวะราวถูกมนต์สะกด

 

เมืองพุชกา รัฐราชสถาน ถือเป็นศูนย์กลางของผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายพรหม นับได้ว่าเป็นเมืองแห่งพระพรหม ชนเผ่านี้บูชางูและยึดอาชีพหมองูในการดำรงชีพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สมาชิกของเผ่าทุกคน ทุกเพศ และวัย มีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับ "งู" แม้แต่เด็กเล็กก็สามารถจับงูได้ โดยเฉพาะ “งูเห่า”

 

จุดเริ่มต้นในการนับถืองูของชาวเผ่าคาลเบเลีย คือ กูรู โครัคนาถ (Guru Gorakhnath) อันเป็นเทพเจ้าสูงสุดของชาวคาลเบเลีย มีอวตาร 9 ภาคด้วยกัน และทุกคนในเผ่ามีนามสกุลเดียวกัน คือ “นาถ” 1 ใน 9 ภาคอวตารของโครัคนาถ

 

กรีก ชาวกรีกโบราณมีความเชื่อว่างูสามารถรักษาคนได้ ความเชื่อนี้ได้ถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า รูป "งู" พันไม้เท้าซึ่งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์กันโดยทั่วไปในแวดวงการแพทย์ทั่วโลกนั้น เดิมทีเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเทพเอสคูลาปิอุส (Aesculapius) เหตุที่ "งู" เข้ามาเกี่ยวข้องกับเอสคูลาปิอุส มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่เอสคูลาปิอุสกำลังรักษาคนไข้อยู่ มีงูตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาในโรงรักษาคนไข้ โดยขึ้นไปพันอยู่โดยรอบไม้คทาประจำตัวของเขา ผู้คนทั่วไปจึงพากันเชื่อว่า เหตุที่เอสคูลาปิอุสมีวิชารักษาโรคภัยล้ำเลิศกว่าผู้อื่นก็ด้วยฤทธิ์ที่งูตัวนั้นบันดาลให้นั่นเอง 

 

เหตุนี้ วงการแพทย์ทั่วโลกในปัจจุบันซึ่งได้รับเอาแนวคิดมาจากตะวันตก จึงใช้รูป "งู" เป็นสัญลักษณ์ ตามตำราโบราณที่ระบุว่ามีการใช้พิษงูในการรักษาโรค รวมทั้งชาวกรีกยังมีความเชื่อว่า งูเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญของชีวิตและการเกิดใหม่ ด้วยถือว่าการลอกคราบของงูนั้นคือการฟื้นคืนจากความตาย

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วน : https://www.silpa-mag.com/culture/article_53972