Lifestyle

ทำความรู้จัก "โรคฝีดาษลิง" หลังพบผู้ป่วยรายแรกในไทย ที่ จ.ภูเก็ต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรค(คร.) เผยพบผู้ป่วย "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) ยืนยันที่ จ.ภูเก็ต เป็นรายแรกของประเทศไทย วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพาทำความรู้จักโรคนี้แบบเจาะลึกกันค่ะ

 

"โรคฝีดาษลิง" คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร

 

"โรคฝีดาษลิง" เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบครั้งแรกในลิงทดลองในปี พ.ศ.2501 โรคนี้พบมากในแอฟริกากลางและตะวันตก สัตว์หลายชนิด รวมทั้งคนสามารถติดเชื้อนี้ได้ ในปี พ.ศ.2546 ได้เกิดการระบาดของโรคนี้ในคนที่ติดเชื้อจาก แพรี่ ด็อก ในสหรัฐอเมริกา เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษในคนและฝีดาษวัว

 

สัตว์ชนิดใดเป็น "โรคฝีดาษลิง" ได้บ้าง

 

สัตว์ตระกูลลิง ได้แก่ ลิงโลกใหม่ ลิงโลกเก่า ลิงไม่มีหาง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด (หนู กระรอก แพรี่ ด็อก) กระต่ายสามารถติดเชื้อนี้ได้ ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสัตว์ชนิดใดอีกบ้างที่สามารถติดโรคนี้ได้ สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงหลายชนิดอาจสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน

 

สัตว์ติด "โรคฝีดาษลิง" ได้อย่างไร

โรคฝีดาษลิงติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงระหว่างสัตว์ที่ติดเชื้อกับสัตว์ปกติ โดยอาจสัมผัสกับรอยแผลบนผิวหนัง หรืออาจติดได้ทางการหายใจ

 

"โรคฝีดาษลิง" มีผลต่อสัตว์อย่างไร

 

ในสัตว์ตระกูลลิง หลังได้รับเชื้อมักมีผื่นขึ้นอยู่นานประมาณ 4-6 สัปดาห์ และจะพบตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย โดยบริเวณที่พบบ่อยที่สุด คือ ใบหน้า แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหาง เชื้อนี้มักไม่ทำให้สัตว์ตายแต่อาจพบการตายได้บ้างในลิงแรกเกิด ลิงบางตัวอาจจะติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการป่วยเลย

 

ในกระต่ายและสัตว์ฟันแทะรวมถึง แพรี่ ด็อก จะมีอาการเริ่มต้น คือ มีไข้ ตาแดง มีน้ำมูก ไอ ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึม และไม่กินอาหาร หลังจากนั้นจะเริ่มมีผื่นและตุ่มหนองขึ้นตามตัว ร่วมกับมีขนร่วงเป็นหย่อมๆ ในสัตว์บางชนิดเชื้ออาจทำให้ปอดบวมและตายได้

 

คนติด "โรคฝีดาษลิง" ได้หรือไม่

 

คนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สิ่งคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้แต่มีโอกาสน้อยมาก ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังจากติดเชื้อแล้วประมาณ 12 วัน อาการป่วย ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และอ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยมักเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

 

การป้องกันสัตว์จาก "โรคฝีดาษลิง" 

 

สามารถใช้วัคซีนป้องกันฝีดาษในคนฉีดป้องกันโรคนี้ในสัตว์ตระกูลลิงได้ สำหรับสัตว์อื่น วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ และไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง โดยเฉพาะ แพรี่ ด็อก หรือหนูป่าชนิดต่างๆ

 

การป้องกันตัวจาก "โรคฝีดาษลิง"

 

หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ ถึงแม้วัคซีนฝีดาษคนจะสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษลิงได้ แต่การฉีดวัคซีนควรทำเฉพาะในคนที่ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนการระบาดของโรคฝีดาษลิงและคนที่ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และสามารถให้วัคซีนได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน

 

 

ที่มาข้อมูล : หน่วยปฏิบัติการวิจัยโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ : ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) สหรัฐ

logoline