Lifestyle

8 พฤษภาคม วันธาลัสซีเมียโลก แนะพ่อแม่เช็กร่างกายก่อนมีลูก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

8 พฤษภาคม ของทุกๆ ปีได้ถูกกำหนดให้เป็น "วันธาลัสซีเมียโลก" เพื่อกระตุ้นเตือนให้ชาวโลกตระหนักรู้ถึงปัญหาของโรคธาลัสซีเมีย เพื่อที่จะได้ช่วยกันป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วย

ข้อมูลจากสำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าปัจจุบัน ในจำนวนคนไทย 60 ล้านคน เป็นโรคธาลัสซีเมียกว่า 6แสนคน และเป็นพาหะของโรคนี้อีกประมาณ 30-40% ของประชากรในประเทศซึ่งโรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์เมื่อเป็นแล้ว... ต้องเป็นทั้งชีวิต

 

 

ธาลัสซีเมียเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

นพ.ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ เลขานุการมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ กล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดธาลัสซีเมีย คือการเปลี่ยนแปลงทางกรรมพันธุ์​ ซึ่งการที่คนๆ หนึ่งจะเป็นโรคธาลัสซีเมียได้นั้น ต้องได้กรรมพันธุ์ที่ก่อโรคนี้มาจากทั้งบิดาและมารดาพร้อมๆ กัน

8 พฤษภาคม วันธาลัสซีเมียโลก  แนะพ่อแม่เช็กร่างกายก่อนมีลูก

“โรคธาลัสซีเมีย” เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรมพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทย โดยข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) พบทารกแรกเกิดเป็นโรคดังกล่าวปีละประมาณ 12,125 ราย โรคนี้ที่เกิดจากการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงลดน้อยลงเม็ดเลือดแดงจึงมีลักษณะผิดปกติและแตกง่าย ก่อให้เกิดอาการซีด เลือดจางเรื้อรัง และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา

เช็กอาการโรคธาลัสซีเมีย

 

“การเป็นโรคธาลัสซีเมีย มักมีอาการได้ตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงเด็กเล็กๆ แล้วจะติดตัวไปถึงวัยผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้น  สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกของท่านอาจเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่นั้น  คือ เด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะมีผิวซีด ตาซีด ตาเหลืองเริ่มมีความผิดปกติ โตช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ ตัวเล็กผิดปกติ หน้าผาตั้งชัน โหนกแก้มสูง ดั้งจมูกแฟบ ผิวคล้ำเพราะมีธาตุเหล็กมากในร่างกาย พุงใหญ่เพราะม้ามตับโต อาจมีแผลเรื้อรังที่ขา  และอาจไม่มีความเจริญทางเพศ นพ.ชนินทร์ กล่าว

 

โดยขอให้พ่อแม่พาเด็กไปตรวจเลือด เพื่อยืนยันอย่างชัดเจนว่าเป็นโรคหรือไม่ และหากเม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก และเมื่อตรวจชนิดของสารประกอบในเลือด ก็จะสามารถยืนยันได้ว่าเป็นเลือดจาง หรือธาลัสซีเมีย

8 พฤษภาคม วันธาลัสซีเมียโลก  แนะพ่อแม่เช็กร่างกายก่อนมีลูก

ไทยป้องกันและควบคุมโรคเข้าสู่ปีที่30

 

นพ.ชนินทร์  กล่าวต่อว่า แนวทางหรือโครงการในการควบคุมโรคธาลัสซีเมียในไทยนั้น จะควบคุมเฉพาะธาลัสซีเมียที่รุนแรงมาก นั่นคือ อาจจะส่งผลให้เด็กตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือกลายเป็นเด็กที่ต้องให้เลือดสม่ำเสมอจนเป็นภาระแก่ตัวเด็กและครอบครัว  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและกรมอนามัย ได้มีแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมียปีนี้เข้าสู่ปีที่ 30

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมีย  ต้องมีการวางแผนครอบครัวก่อนมีบุตร โดยการตรวจร่างกายว่าตนเองมีกรรมพันธุ์ที่เป็นพาหะที่เสี่ยงต่อการให้กำเนิดบุตรที่มีโอกาสเป็นธาลัสซีเมียหรือไม่ เพื่อคัดกรองไม่ให้เกิดโรค

 

ทำอย่างไร ถึงจะอยู่กับธาลัสซีเมียได้ดี

 

นพ.ชนินทร์ กล่าวต่อไปว่าโรคนี้ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นกรรมพันธุ์ที่บรรพบุรุษของแต่ละคนถ่ายทอดมา  อีกทั้งต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของคนไข้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียจะดึงธาตุเหล็กได้สูงมาก ดังนั้น อาหารชนิดใดที่มีธาตุเหล็กสูงคนไข้จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง คนไข้จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำว่าอาหารอะไรที่สามารถรับประทานได้ มีความปลอดภัยและอาหารอะไรควรหลีกเลี่ยง รวมถึงควรติดตามสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนไข้ธาลัสซีเมียต้องมาโรงพยาบาลทุกเดือน แต่หากคนไข้ธาลัสซีเมียอาการไม่รุนแรง อาจจะมาโรงพยาบาลปีละ 2 คน แต่ในส่วนของคนไข้ธาลัสซีเมียรุนแรง จำเป็นต้องถูกติดตามสม่ำเสมอเพื่อจะได้รู้ว่า การรักษาเพิ่มเติมใดๆ ที่เหมาะสม

 

นอกจากนั้น ต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงในกลุ่มผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียระดับปานกลาง หรือรุนแรง เช่น  กระดูกจะบาง อาจมีนิ่วในถุงน้ำดีง่ายกว่าคนอื่น ความสูงไม่เท่ากับคนอื่น ลักษณะแบบนี้เป็นลักษณะที่แพทย์ ต้องช่วยคนไข้และครอบครัวในการติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 

การรักษาโรคธาลัสซีเมียในปัจจุบัน

 

พญ.กลีบสไบ สรรพกิจ หัวหน้าสาขาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.ศิริราช กล่าวว่าสำหรับการรักษาคนไข้ธาลัสซีเมียในขณะนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งถ้าคนไข้มีอาการซีดไม่มาก  ก็จะแนะนำให้ดูแลสุขภาพทั่วไป พยายามรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูง แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้ครบ เพราะถ้าคนไข้มีอาการไม่สบาย เป็นไข้ก็จะซีดลงและมีโอกาสต้องกลับเข้ามารับเลือดได้ นอกจากนี้ ต้องออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ แต่อย่ากระทบกระแทกมากเกินไป เนื่องจากคนไข้กลุ่มนี้มีกระดูกที่บางเปราะง่ายกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป

 

ขณะที่ คนไข้ธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง อาการซีดมาก แพทย์จะนัดคนไข้ให้มารับเลือดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำให้คนไข้สามารถใช้ชีวิตประจำได้ เล่นกีฬาได้ ออกกำลังได้ไม่เหนื่อย รูปหน้าไม่เปลี่ยนแปลง

 

การรักษาที่ทำให้ธาลัสซีเมีย มีโอกาสหายจากโรคได้ คือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด(Stem Cell Transplantation) การรักษาวิธีนี้ ต้องหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดที่มีความเข้ากันได้ทางพันธุกรรมของเนื้อเยื่อ ถ้ามีความเข้ากันได้ก็จะเริ่มกระบวนการโดยใช้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงเข้าไปทำลายเม็ดเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นเซลล์ที่สร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดูกของคนไข้ เป็นกระบวนการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง และจะใช้รักษาเฉพาะคนไข้ที่เป็นธาลัสซีเมียที่รุนแรงเท่านั้น” พญ.กลีบสไบ กล่าว

 

“ธาลัสซีเมีย” รักษาหายได้แต่ไม่เป็นดีกว่า

 

พญ.กลีบสไบ กล่าวต่อว่า สำหรับคนไข้ธาลัสซีเมีย ที่อาการรุนแรง ขอให้มีกำลังใจ เพราะตอนนี้สามารถรักษาหายได้  ส่วนคนไข้ที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถได้รับการรักษาทำให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยไม่รู้ว่าเป็นโรคธาลัสซีเมีย เพราะถ้ารับมารับเลือดสม่ำเสมอ สามารถจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้

 

อย่างไรก็ตาม โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่สามารถป้องกันและควบคุมได้ หากพ่อแม่ที่ต้องการมีลูกได้รับการตรวจสุขภาพร่างกาย เพื่อจะได้รับคำแนะนำ ช่วยเหลือที่ดีจากแพทย์

 

หวังคนไทยตระหนักเข้าใจโรคธาลัสซีเมีย

 

นพ.ชนินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การกำหนดให้วันที่ 8 พฤษภาคม เป็นวันธาลัสซีเมียโลกถือเป็นเรื่องที่ดี คาดหวังว่าโปรแกรม แคมเปญต่างๆ จะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสังคม และช่วยเหลือคนไข้ธาลัสซีเมีย  ช่วยลดผู้ป่วยเด็กธาลัสซีเมียลงได้ ที่สำคัญตอนนี้คนไข้ธาลัสซีเมียที่มารับเลือดอาจจะไม่ได้รับการบริการที่ดี  การรณรงค์จะช่วยให้กระบวนการเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น เพราะการที่ผู้คนรับรู้เรื่องโรคธาลัสซีเมียมากขึ้น การบริการต่างๆ ในการช่วยเหลือสำหรับคนไข้ธาลัสซีเมีย และครอบครัวจะมีมากขึ้น

 

“ภาครัฐ เพียงหน่วยงานเดียวคงทำไม่สำเร็จ  ภาคประชาชน ภาคสังคม และการสื่อสารต่างๆ ล้วนมีอิทธิพลที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจและตระหนักโรคธาลัสซีเมียมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะนึกถึงโรคธาลัสซีเมียในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ว่านี่คือโรคประจำถิ่นของไทย และทำให้คนไทยตระหนักอยู่เสมอว่า ลูกอาจเสี่ยงเป็นโรคธาลัสซีเมียได้ ทุกคนจะได้รับรู้และป้องกันได้”  นพ.ชนินทร์ กล่าว

 

 

ดูข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/210759958936760/videos/532699625009693

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ