Lifestyle

อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อย่าวางใจ "โรคลิ้นหัวใจรั่ว" อาจกำลังถามหาไม่รู้ตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ด้วยข่าวคราวของนักแสดงสาว “บอลลูน พินทุ์สุดา” ที่หายหน้าจากวงการพักใหญ่ เนื่องจากป่วยด้วย “โรคลิ้นหัวใจรั่ว” ซึ่งเป็นโรคที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดโดยที่เธอไม่รู้ตัวมาก่อน ทำเอาบรรดาแฟนคลับเข้ามาแสดงความห่วงใยและให้กำลังใจกันอย่างล้นหลาม

วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ

 

“โรคลิ้นหัวใจรั่ว” เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแต่มีอาการไม่รุนแรง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ตั้งแต่แรกเริ่ม โรคลิ้นหัวใจรั่วเมื่อเกิดกับใครแล้วจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หรือรบกวนชีวิตประจำวันของคนๆ นั้น เวลาทำอะไรก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น

“โรคลิ้นหัวใจรั่ว” จะแสดงอาการรุนแรงเมื่ออายุประมาณ 40 – 50 ปี ขึ้นไป ทำให้ผู้ป่วยเหนื่อย และอ่อนเพลียมากขึ้นเกือบๆ จะทุกการเคลื่อนไหว ซึ่งบางรายก็อาจเสียชีวิตได้เนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจรั่ว มักมีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิด ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวกว่าคนทั่วไป โรคลิ้นหัวใจรั่วที่พบบ่อยในคนไทย คือ ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบน และห้องล่างด้านซ้าย โรคลิ้นหัวใจรั่ว ที่เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดมักไม่แสดงอาการในวัยเด็ก แต่จะเริ่มเหนื่อยง่าย ใจสั่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีผลให้ออกกำลังกายได้น้อย ทำงานได้น้อยลง หรือแม้กระทั่งบางคนเพียงเดินขึ้น เดินลงบันได 1-2 ชั้น ก็รู้สึกเหนื่อย นอนราบไม่ได้ หายใจไม่ออก เป็นต้น

สาเหตุการเกิด "โรคลิ้นหัวใจรั่ว"

  • มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด อาจไม่มีอาการใดๆ ในวัยเด็ก หรือ ตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ เนื่องจากเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหว และรับแรงจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้น จึงเกิดการเสื่อม
  • ลิ้นหัวใจจะหนาตัวขึ้น และเริ่มมีหินปูนเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อทำให้ปิดไม่สนิท
  • โรคหัวใจรูห์มาติค (rheumatic heart disease) เริ่มต้นจากการติดเชื้อ streptococcus ในคอ พบบ่อยในเด็ก ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านหัวใจตนเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ผลที่ตามมาคือลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้นมาก เกิดลิ้นหัวใจตีบ และรั่ว โรคนี้ยังจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ พบมากในผู้ป่วยฐานะต่ำ หรืออยู่ในชุมชนแออัด
  • เกิดจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเป็นรู เชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด (ในผู้ติดยาเสพติด) การเจาะตามร่างกาย เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ เป็นต้น

 

ลักษณะอาการ "โรคลิ้นหัวใจรั่ว"

 

อาการของโรคลิ้นหัวใจรั่วไม่รุนแรง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจยาวนานจนกระทั่ง 40 ปีผ่านไป จึงเริ่มแสดงอาการรุนแรง จากการที่ลิ้นหัวใจเสื่อมมากขึ้น จนทำให้ร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลียง่ายกับทุกอิริยาบถของการเคลื่อนไหว บางรายที่เป็นมากอาจเสียชีวิต เนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว

 

การดูแลรักษา “โรคลิ้นหัวใจรั่ว”

 

สำหรับผู้ป่วยรายที่ลิ้นหัวใจรั่วมาก จนกระทั่งกล้ามเนื้อที่พยุงการปิด-เปิด ลิ้นหัวใจเกิดการหย่อนยาน ปูด หรือหนา แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าสมควรได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่เกิดการชำรุด หรือไม่ ทั้งนี้ การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจรั่ว ผลการรักษาในบางรายอาจดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติ และบางรายอาจมีการซ่อมแซมซ้ำได้เช่นกัน โดยมากแพทย์จะผ่าตัดเฉพาะในรายที่ลิ้นหัวใจชำรุดมากเท่านั้น หากชำรุดเพียงเล็กน้อย หรือปานกลาง แพทย์มักจะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวและเฝ้าระวังติดตามอาการ เพราะการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจมีค่าใช้จ่ายสูง และการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจไม่สามารถรับประกันได้ทุกรายว่าจะหายเป็นปกติได้ตลอดชีวิตหลังการผ่าตัด

 

บางรายอาจต้องมีการผ่าตัดซ่อมแซมซ้ำ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตอบสนอง และการดูแลตัวเองของผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมบางราย หากเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกตัว หรือไตวาย ซึ่งพบได้น้อย แพทย์ก็จะแนะนำให้เปลี่ยนลิ้นหัวใจทันที การรักษาสำหรับผู้ป่วยลิ้นหัวใจเสื่อม หรือเสียมาก แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบธรรมชาติที่ได้จากเนื้อเยื่อของหัวใจวัว หรือเนื้อเยื่อหัวใจหมู และลิ้นหัวใจเทียมจากสารสังเคราะห์ ทั้งนี้ การรักษาในช่วงที่ลิ้นหัวใจรั่วไม่รุนแรงมาก แพทย์มักจะแนะนำให้ป้องกันการติดเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด เช่น การหลีกเลี่ยงการทำฟันเมื่อมีแผลอักเสบในช่องปาก หรือควรแจ้งข้อมูลการเจาะตามร่างกาย เช่น ผู้ที่ชอบเจาะลิ้น อวัยวะเพศ เป็นต้น

 

การปฏิบัติตัวเมื่อพบว่าเป็น "โรคลิ้นหัวใจรั่ว"

 

โรคลิ้นหัวใจรั่ว หากเป็นระยะไม่มาก อาการที่แสดงจะเป็นปกติ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิต และมีกิจกรรมปกติของตัวเองได้เหมือนอย่างคนทั่วไป แต่ถ้าลิ้นหัวใจรั่วมาก เช่น หอบเหนื่อยมาก แม้จะทำงานเพียงเล็กน้อย ก็ต้องทำกิจกรรม หรือทำงานให้น้อยลง หรือหากเป็นมากควรงดกิจกรรม งด หรือลดการดื่มแอลกอฮอลล์ สูบบุหรี่ รวมทั้งอาหารที่มีรสเค็มจัด มันจัด เป็นต้น นอกจากนี้ การออกกำลังกายแบบหักโหม มักจะอันตรายต่อผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วที่มีอาการรุนแรง เพราะอาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการตรวจรักษาฟัน เช่น ถอนฟัน ขูดหินปูน ที่จะทำให้เกิดแผลในช่องปาก ก็ควรระมัดระวัง และควรต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อวางแผนป้องกันการติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดใดๆ ก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ