Lifestyle

"ปักตะไคร้" ไล่ฝนได้จริงไหม จำเป็นหรือไม่ต้องเป็น "สาวพรหมจรรย์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความเชื่อเรื่องการ "ปักตะไคร้" มีที่มาจากไหน "ปักตะไคร้" แล้วจะไล่ฝนได้จริงหรือไม่ และจำเป็นหรือไม่ที่ว่าต้องใช้ "สาวพรหมจรรย์" เป็นผู้ทำพิธี วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ มีคำตอบมาฝาก

หากสถานที่ไหนมีการจัดงานอีเว้นท์กลางแจ้ง ทางผู้จัดก็จะไม่อยากให้ฝนตกเป็นธรรมดา แต่ถ้าฟ้าเกิดมืดครึ้มขึ้นมาเมื่อไหร่ ความเชื่อเรื่องการ “ปักตะไคร้” ก็จะแวบเข้ามาในสมองทันที จนกลายเป็นเรื่องฮิตที่ใครๆ ก็พูดถึง แล้วคุณผู้อ่านมีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร รู้หรือไม่ว่าความเชื่อนี้มีที่มาจากไหน "ปักตะไคร้" แล้วจะไล่ฝนได้จริงหรือไม่ และจำเป็นหรือไม่ที่ว่าต้องใช้ "สาวพรหมจรรย์" เป็นผู้ทำพิธี วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ มีคำตอบมาฝาก

 

ที่มาของความเชื่อ

ที่ตั้งของประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้ภูมิอากาศมีลักษณะเป็นแบบร้อนชื้น ช่วงฤดูมรสุมจะมีฝนตกชุกส่งผลให้จะมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ดังนั้นเมื่อสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยหากต้องจัดงานสำคัญกลางแจ้ง คนโบราณก็คิดหาวิธีการไล่ฝน ซึ่งมีกล่าวถึงกันว่า "ให้สาวพรหมจรรย์ไป "ปักตะไคร้" แล้วฝนจะหยุดตก"

 

ต้องใช้ต้นตะไคร้เท่าใด

 

การปักตะไคร้เป็นความเชื่อของคนไทยที่มีมานานจนไม่สามารถระบุหลักฐานที่มาได้  รวมถึงไม่มีรายละเอียดของพิธีการว่าต้องใช้ต้นตะไคร้จำนวนเท่าใด หากแต่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าต้องปักเป็นจำนวนเลขคี่ เช่น 3 ต้น หรือ 7 ต้น โดยผู้ที่ประกอบพิธีจะต้องเป็น “สาวพรหมจรรย์” หรือไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์

 

ต้อง “ปักตะไคร้” อย่างไร

 

นำส่วนปลายยอดของต้นตะไคร้ปักลงไปในดิน ให้ส่วนโคนรากตะไคร้ชี้ขึ้นฟ้า เป็นเชิงส่งสัญญาณถึงพระพิรุณขอให้ย้ายเค้าเมฆฝนไปยังพื้นที่ไกลจากบริเวณที่จัดงาน  หรือทำให้ฝนที่ตั้งเค้ามาหยุดตกได้

 

อย่างไรก็ตาม การห้ามดินฟ้าอากาศซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำการบังคับได้ จึงกลับกลายเป็นวาทกรรมที่มักถูกนำมาใช้ล้อเลียนผู้หญิงที่ว่าผู้หญิงคนไหนไปปักตะไคร้แล้วฝนไม่หยุดตกแสดงว่าผู้หญิงคนนั้นไม่โสดไม่บริสุทธิ์ เป็นการเสียดสีที่ลดทอนคุณค่าของผู้หญิง

 

ทั้งนี้ ความเชื่อดังกล่าวมีตรรกะมาจากพื้นฐานแนวคิดว่า การเพาะปลูกพืชพันธุ์ใดก็ต้องปักส่วนโคนที่มีรากลงดินเพื่อให้เจริญเติบโต ดังนั้นการปักปลายตะไคร้ และหงายโคนชี้ฟ้าจึงเป็นลักษณะของการ “ผิดธรรมชาติ” ซึ่ง การกระทำที่ฝืนธรรมชาติเช่นนี้เชื่อว่าจะทำให้เทพเจ้าโกรธไม่พอใจ และดลบันดาลไม่ให้ฝนตกตามฤดูกาล หรือสั่งให้ฝนหยุดตกโดยทันที คล้ายๆ กับพิธีขึดของชาวล้านนา (ขึดคือความเชื่อที่เป็นข้อห้าม การกระทำในสิ่งที่เป็นอาถรรพ์ เสนียดจัญไร อัปมงคล)

 

“ปักตะไคร้” จำเป็นไหมต้องเป็น “สาวพรหมจรรย์”

พิธี “ปักตะไคร้” ในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งความเชื่อที่ว่าผู้ปักตะไคร้จะต้องเป็นลูกสาวคนหัวปีหรือลูกคนโตที่ยังไม่แต่งงาน บ้างก็ว่าต้องเป็นลูกสาวคนเล็กที่ยังไม่แต่งงาน หรือลูกโทน ไปจนถึงแม่หม้าย จึงไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะสาวพรหมจรรย์เท่านั้น  หรือในพิธีกรรมโบราณมากจะให้ “เด็กหญิง” ที่ยังไม่มีประจำเดือนเป็นผู้ปักตะไคร้ ดังนั้น ความเชื่อดังกล่าวจึงจัดเป็นความเชื่อส่วนบุคคล

 

ที่มาข้อมูล : เรื่องนี้มีตำนาน ช่อง ThaiPBS / สืบ! ความเชื่อ ปักตะไคร้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ