
"เชียงใหม่" ฉลอง 726 ปี จัด "พิธีหุงน้ำทิพย์" ล้านนาโบราณ ต้อนรับปี๋ใหม่เมือง
ททท. จัด "พิธีหุงน้ำทิพย์" แบบล้านนาโบราณ แจกชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวต้อนรับปี๋ใหม่เมือง พร้อมฉลองครบ 726 ปี เมืองเชียงใหม่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ และโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จัดกิจกรรม "น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่" หนึ่งในกิจกรรมภายใต้เทศกาล "สงกรานต์เชียงใหม่" โดยมี นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านบริหาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีอัญเชิญน้ำจากบ่อศักดิ์สิทธิ์ของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และ "พิธีหุงน้ำทิพย์" ณ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลในเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่เมือง และการเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ 726 ปี
นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหนึ่งในประเทศไทยที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศไทยทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรม ถือได้ว่าเมืองเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางด้านวัฒนธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยก็ว่าได้ ซึ่งในวันที่ 12 เมษายน 2565 เมืองเชียงใหม่จะมีอายุครบ 726 ปี โดยเป็นวันที่ประจวบเหมาะกับเทศกาล "สงกรานต์เชียงใหม่" หรือปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ เป็นวันที่เริ่มศักราชใหม่ตามแบบโบราณ คนเมืองจะถือเป็นการเริ่มสิ่งใหม่และรับสิ่งที่ดีๆ เพื่อให้เกิดความงดงามความดีงามในชีวิตตลอดทั้งปี โดยการรื้อฟื้น "พิธีหุงน้ำทิพย์" ประเพณีพิธีกรรมโบราณที่สูญหายไปแล้วนับร้อยปี นำกลับมาปฏิบัติอีกครั้งและส่งมอบให้แก่ประชาชนทั้งชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และการเฉลิมฉลองเมืองเชียงใหม่อายุครบ 726 ปี ก็เป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง
ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. ให้ความสำคัญกับการสืนสานงานประพณีต่างๆ เพราะเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและไม่สามารถทดแทนกันได้ และจากข้อมูลในปี 2564 พบว่านักท่องเที่ยวมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่ง ททท. ได้นำเสนอแนวคิด "เสน่ห์วันวาน เมืองเหนือ" เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการสัมผัสประสบการณ์จากอดีตที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลประเพณี อาคารบ้านเรือน และวัดวาอาราม เป็นต้น
ในปี 2565 นี้ ททท. ได้ต่อยอดกิจกรรมประเพณีอันดีงามนี้ โดยการอัญเชิญน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 9 แห่ง นำมาประกอบ "พิธีหุงน้ำทิพย์" ปี๋ใหม่เมือง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก และดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ สัมผัส และรับน้ำทิพย์เพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาล "สงกรานต์เชียงใหม่" โดยจะมีการแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 12 – 16 เมษายน 2565 มีจุดแจกน้ำทิพย์ทั้งหมด 10 จุด จำนวน 10,726 ขวด ได้แก่ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร, วัดผาลาด, พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์, วัดปันเสา, วัดบุพผาราม, วัดโลกโมฬี, วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์, วัดป่าแดด, โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และงาน Water Festival ณ เฮือนโบราณริมปิง นักท่องเที่ยวสามารถลงทะเบียนรับน้ำทิพย์โดยการสแกน QR Code เพื่อลดการแออัดและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ยังขอเชิญชวนเข้าสักการะวัดต่างๆ ที่มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นวัดโบราณที่มีสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม มีความสวยงาม มีประวัติ และเรื่องราวที่ถ่ายทอดส่งต่อจากอดีตจนถึงปัจจุบันให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้
การหุงน้ำทิพย์ถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญ ซึ่งมีขั้นตอนพิธีกรรมที่รื้อฟื้นการปฏิบัติแบบโบราณตามความเชื่อโบราณ กล่าวคือเป็นการใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จำนวน 9 แหล่งน้ำที่สำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ คือ
- บ่อน้ำทิพย์วัดบุพพาราม อ.เมืองเชียงใหม่
- บ่อน้ำทิพย์บนยอดดอยอ่างกาหลวงหรือดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง
- น้ำจากต้นน้ำปิง อ.เมือง ซึ่งแหล่งน้ำสำคัญทั้ง 3 แหล่งนี้ เป็นแหล่งน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 108 แห่งทั่วประเทศที่รวบรวมนำไปทำพิธีราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 นอกจากนี้ ยังเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งน้ำอีก 6 แห่งเพื่อใช้ในการประกอบพิธีหุงน้ำทิพย์ในครั้งนี้ ได้แก่
- บ่อน้ำทิพย์วัดผาลาด อ.เมืองเชียงใหม่
- บ่อน้ำทิพย์วัดป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่
- บ่อน้ำทิพย์วัดดับภัย อ.เมืองเชียงใหม่
- น้ำทิพย์วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร อ.เมืองเชียงใหม่
- บ่อน้ำทิพย์วัดธาราทิพย์ไชยประดิษฐ์ อ.แม่แตง และ
- บ่อน้ำทิพย์วัดพุทธเอ้น อ.แม่แจ่ม
โดย "พิธีหุงน้ำทิพย์" ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร บริเวณลานชมวิว เป็นพิธีตามแบบโบราณ มีการเจริญพระพุทธมนต์ทั้ง 7 ที่ใช้ในพิธีสำคัญของเมือง ซึ่งการทำพิธีในการหุงนี้มีหลายขั้นตอนในการทำ เพื่อให้เกิดพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์รวมถึงจุดไฟจากดวงอาทิตย์ ใช้ก้อนเส้ารูปสัตว์มงคล ฟืนจากไม้มงคลต่างๆ ตัวยาที่ใช้ในการหุงก็เป็นเครื่องหอมหลายอย่าง รวมถึงใบไม้มงคลเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์
ทั้งนี้หากท่านใดสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลการจัดกิจกรรมน้ำทิพย์ปีใหม่เมืองเชียงใหม่เพิ่มเติม ได้ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โทร.094-2080307 หรือ Facebook Page : โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ โทร.053-248604
ข่าว-ภาพ : นายนำพล สุริยะเจริญ ผู้สื่อข่าว จ.เชียงใหม่