"สงกรานต์" เป็นประเพณีปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ โดยกำหนดให้วันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” เป็นวันแรกของเทศกาล วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เรียกว่า "วันเถลิงศก"
ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี เป็นเทศกาล "สงกรานต์" ทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ในการรดน้ำให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น ผ่อนคลายช่วงที่ร้อน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลและรดน้ำอัฐิเป็นการแสดงความรำลึกถึงบรรพบุรุษ ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มีพัฒนาการและแนวโน้มคลาดเคลื่อนไป โดยมุ่งแสดงความหมายเป็นแต่เพียงประเพณี เล่นน้ำสงกรานต์เท่านั้น ทำให้ประเพณีของไทยเสื่อมคลายความหมายที่ดีงามไป
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตระหนักถึงความสำคัญของการสืบต่อองค์ความรู้อันเป็นรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม จึงได้จัดกิจกรรม "สรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์" โดยอัญเชิญพระธาตุในพระกรัณฑ์ ซึ่งเดิมทีประดิษฐานในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปองค์สำคัญ ซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล มาเป็นประธานในพิธี และเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ ผู้เป็นเจ้าเรือนชะตามนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย ตามความเชื่อโบราณ มาให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำขอพร ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยได้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อันเป็นวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ของไทย และเป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงาม ตลอดจนสืบทอดองค์ความรู้ในอดีตจากรุ่นสู่รุ่น
ทั้งนี้ เทวดานพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) ซึ่งมีเทพบริวารอีก 8 องค์ รวมเป็น 9 องค์ ถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์ เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระจันทร์ ทรงม้า, พระอังคาร ทรงมหิงสา, พระพุธ ทรงคชสาร, พระพฤหัสบดี ทรงกวาง, พระศุกร์ ทรงโค, พระเสาร์ ทรงพยัคฆ์, พระราหู ทรงพญาครุฑ และ พระเกตุ ทรงนาค
พุทธศาสนิกชนและประชาชนที่สนใจสามารถร่วมกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาล "สงกรานต์" ประจำปี 2565 ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกันโรคตามแผนมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและมาตรการที่ทางราชการกำหนด มีจุดคัดกรองบริเวณทางเข้า – ออก ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ผู้ร่วมกิจกรรมต้องแสดงผลการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม หรือแสดงผลการตรวจหาเชื้อไม่เกิน 24 ชั่วโมง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2224-1333, 0-2224-1402
สำหรับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาให้สักการะ สรงน้ำ ขอพรปีใหม่
1. พระกรัณฑ์ทองคำลงยา ภายในประดิษฐานพระธาตุ
พระกรัณฑ์ทองคำลงยา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 เซนติเมตร สูง 3.5 เซนติเมตร เป็นภาชนะทองคำทรงโกศยอดปริกขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระธาตุ 23 องค์ เดิมทีพระกรัณฑ์นี้อยู่ในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน
ความเป็นมาของพระธาตุนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด อาจมีการประดิษฐานไว้ในพระเศียรพระพุทธสิหิงค์มาก่อน แล้วจึงมีการสร้างพระกรัณฑ์ทองคำลงยาถวายภายหลัง หรือเป็นการประดิษฐานในภายหลังทั้งหมดก็เป็นได้ การจำหลักลายแล้วลงยาสีที่รู้จักกันในชื่อ การลงยา นั้น ปรากฏหลักฐานการใช้งานมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องจากลวดลายที่ปรากฏ รวมทั้งสีและเทคนิคในการลงยา สันนิษฐานว่า ทำขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
2. เทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 องค์ (เรียงตามลำดับทักษา)
เทวดานพเคราะห์ คือ เทวดาทั้ง 9 องค์ ผู้ครองเรือนชะตาของมนุษย์ มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระอาทิตย์ ซึ่งมีบริวารอีก 8 องค์ ที่ให้โทษหรือสร้างอุปสรรคให้กับมนุษย์มากกว่าจะให้คุณ จึงต้องมีผู้ควบคุมอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือ พระคเณศ เทพผู้เป็นใหญ่เหนืออุปสรรคทั้งมวล
1. พระอาทิตย์ เทวดานพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทวดานพเคราะห์ทั้งปวง พระอิศวรทรงใช้ราชสีห์ 6 ตัว ป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีแดง พรมด้วยน้ำอมฤต ลักษณะเป็นบุรุษมีผิวกาย สีแดง ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มักมีอารมณ์รุนแรง ตัดสินใจไว เฉียบขาด รักอิสระ แต่ซื่อสัตย์ เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี และเป็นศัตรูกับพระอังคาร สัญลักษณ์เลข 1 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 6
2. พระจันทร์ พระอิศวรทรงสร้างจากเทพธิดา 15 นาง บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษรูปงาม มีสีผิวกายขาวนวล ทรงอาชา (ม้า) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มีอารมณ์อ่อนโยน เพ้อฝัน รวนเร และอาจมีเล่ห์เหลี่ยมมาก พระจันทร์เป็นมิตรกับพระพุธ และเป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี สัญลักษณ์เลข 2 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 15
3. พระอังคาร พระอิศวรทรงสร้างจากกระบือ 8 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีชมพูหม่น พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษผิวสีทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีอารมณ์มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ใจร้อน เป็นมิตรกับพระศุกร์ และเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์ สัญลักษณ์เลข 3 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 8
4. พระพุธ พระอิศวรทรงใช้ช้าง 17 เชือก บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีเขียวใบไม้ พรมด้วยน้ำอมฤตได้บุรุษมีผิวกายสีเขียว ทรงช้างเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ ชอบพูดชอบเจรจา สุขุม รอบคอบ แต่ตื่นกลัวง่าย เป็นมิตรกับพระจันทร์ และเป็นศัตรูกับพระราหู สัญลักษณ์เลข 4 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 17
5. พระเสาร์ พระอิศวรทรงสร้างจากเสือ 10 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีดำ พรมด้วยน้ำอมฤตได้พระเสาร์มีสีกายดำคล้ำ ทรงเสือเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ มีกิริยาดุดัน แข็งแรง กล้าได้กล้าเสีย บุคลิกเคร่งขรึม เป็นมิตรกับพระราหูและเป็นศัตรูกับพระศุกร์ สัญลักษณ์เลข 7 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 10
6. พระพฤหัสบดี
พระอิศวรสร้างจากฤษี 19 ตน บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีส้มแดง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระพฤหัสบดี มีผิวกายสีส้มแดง ทรงกวางเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันตก เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ มักทำอะไรด้วยความระมัดระวัง สุขุม รอบคอบ เมตตาปรานีต่อผู้อื่น เป็นมิตรกับพระอาทิตย์ และเป็นศัตรูกับพระจันทร์ สัญลักษณ์เลข 5 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 19 เป็นครูของเทพทั้งหลาย จึงนิยมทำพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี
7. พระราหู
พระอิศวรทรงสร้างจากหัวกะโหลก 12 หัว (บางตำราว่าผีโขมด 12 ตัว) บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีทอง พรมน้ำอมฤตได้เป็นพระราหู มีกายสีนิลออกไปทางทองแดง ทรงครุฑเป็นพาหนะ มีวิมาน สีนิลอยู่ในอากาศ ประจำอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นเทพ นพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทาง ลุ่มหลงมัวเมา เป็นมิตรกับพระเสาร์และเป็นศัตรูกับ พระพุธ สัญลักษณ์เลข 8 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 12
8. พระศุกร์ พระอิศวรทรงสร้างจากโค 21 ตัว บดป่นเป็นผง ห่อด้วยผ้าสีฟ้าอ่อน พรมด้วยน้ำอมฤตเป็นพระศุกร์ มีผิวกายสีฟ้า ทรงโคเป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศเหนือ เป็นเทพนพเคราะห์ประเภทศุภเคราะห์ กิริยาน่ารัก อ่อนหวาน ชอบงานศิลปะทุกประเภท เป็นมิตรกับพระอังคารและเป็นศัตรูกับพระเสาร์ สัญลักษณ์เลข 6 มีกำลังพระเคราะห์เป็น 21 พระศุกร์เป็นครูของเหล่ายักษ์
9. พระเกตุ พระอิศวรทรงสร้างจากพญานาค 9 ตัว กายสีทองคำ ทรงนาคเป็นพาหนะ มีวิมานสีดอกบุษบา (เปลวไฟ) ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง บ้างว่า พระเกตุเกิดจากหางของพระราหู ซึ่งขโมยดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์โกรธจึงขว้างจักร ตัดเอวขาด ด้วยอำนาจแห่งน้ำอมฤตทำให้พระราหูไม่ตาย หางที่ขาดนั้นกลายเป็น พระเกตุ ซึ่งจะไม่เสวยอายุโดยตรง แต่จะเข้าแทรกเพื่อบรรเทาเรื่องร้ายและส่งเสริมในเรื่องดี สัญลักษณ์คือเลข 9
ข่าวที่เกี่ยวข้อง